โตเกียวกับโอลิมปิก 2020

โตเกียวกับโอลิมปิก 2020

ในที่สุดเจ้าภาพการจัดกีฬาโอลิมปิกประจำปี 2020 ก็ได้ประกาศผลอย่างเป็นทางการเมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 8 กันยายน ตามเวลาประเทศไทย

โดยมหานครโตเกียวได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ให้ทำภารกิจนี้ ซึ่งสร้างความยินดีปรีดาให้กับคนญี่ปุ่นทั้งประเทศ

กีฬาแห่งมวลมนุษยชาตินับเป็นกีฬาที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งหลาย ๆ เมืองในโลกต่างตั้งตารอการเป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าว ทั้งนี้ ในการคัดเลือกเจ้าภาพในปี 2020 นี้ประกอบด้วยเมืองที่เสนอตัวเข้าเป็นเจ้าภาพ ซึ่งผ่านรอบสุดท้ายด้วยกัน 3 เมือง คือ กรุงแมดดริดจากสเปน กรุงอิสตันบูลจากตุรกี และกรุงโตเกียวจากญี่ปุ่น โดยแต่ละเมืองต่างขนข้อดีของตนเพื่อชูให้เห็นถึงความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพ

สำหรับเมืองแมดดริด การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ได้พยายามเป็นเสนอตัวกับ IOC มากว่าสิบปีแล้ว เพราะหลังจากที่เมืองบาเซโลน่าของสเปนได้เป็นเจ้าภาพในการจัดโอลิมปิกเมื่อปี 1992 ซึ่งมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมให้เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล แมดดริดจึงมีแรงขับดันที่จะผลักเมืองของตนให้เป็นเช่นนั้นบ้าง โดยในการแข่งขันการเป็นเจ้าภาพสำหรับปี 2020 นี้ได้มีการดึงตัวนายไมค์ ลี ผู้เคยทำแคมเปญให้กับกรุงลอนดอน รีโอเดจาเนโร และโคเบนเฮเกน จนได้รับคัดเลือกเป็นเจ้าภาพมาร่วมงานด้วย ซึ่งแมดดริดได้โชว์ความพร้อมในฐานะเจ้าภาพด้วยการบอกให้โลกรู้ว่า แมดดริดได้สร้างสนามกีฬาเสร็จไปกว่า 80% แล้ว ซึ่งถือว่าหากแมดดริดเป็นเจ้าภาพก็จะเป็นเจ้าภาพที่พึ่งพาเงินทุนตัวเองมากที่สุด

ในด้านของเมืองอิสตันบูลนั้น ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 5 ที่เสนอตัวเข้าคัดเลือกในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน โดยยึดแคมเปญหลักในฐานะเมืองศูนย์กลางที่เชื่อมโยงระหว่างทวีปเอเชียกับยุโรป ซึ่งเต็มไปด้วยศิลปวัฒนธรรมโบราณที่ประสานกับชีวิตความเป็นอยู่ของวิถีเมืองในรูปแบบเฉพาะตน อีกทั้งหากได้รับคัดเลือกก็จะได้เป็นเมืองมุสลิมเมืองแรกที่ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานกีฬาของมวลมนุษยชาติ อันจะสะท้อนการร้อยเรียงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนาให้กับงานในครั้งนี้อย่างแท้จริง

ส่วนเมืองโตเกียวนั้น เคยเป็นเจ้าภาพในโอลิมปิกเกมส์เมื่อปี ค.ศ. 1964 มาแล้วครั้งหนึ่ง โดยในครั้งนั้นเองนายกรัฐมนตรีที่ร่วมการคัดเลือกเพื่อเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกคือ นายคินฮิ โนบุซูเกะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งก็คือปูของนายอาเบะ ชินโซนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่มีส่วนในการร่วมแข่งขันคัดเลือกการเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้นั่นเอง ทั้งนี้แคมเปญที่กรุงโตเกียวนั้นดูเรียบง่าย จริงจัง แต่มีความคมอยู่ในเนื้อหาที่นำเสนอ เพราะได้มีการเชื่อมโยงกรุงโตเกียวเข้ากับนโยบายในการส่งออกวัฒนธรรมวางไว้ภายใต้คอนเซปต์ "Cool Japan" โดยสร้างกระแสให้คนในเมืองมีส่วนร่วมสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพ พร้อมกับใช้พื้นที่มหานครโตเกียว ซึ่งเป็นเมืองที่ทันสมัยกว่าสองเมืองข้างต้นในการชูจุดเด่นของการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมประสานกันอยู่ ดังนั้น หากใครได้มีโอกาสชมโฆษณาแคมเปญของโตเกียวแล้ว จะพบเห็นการใช้เนื้อหากีฬาเป็นหลักมากกว่าความสวยงามของเมือง พร้อมกับใบหน้าของคนหลาย ๆ เชื้อชาติที่ร่วมกันขับเคลื่อนการเชียร์กีฬา ซึ่งในท้ายที่สุดจะจบลงด้วยบรรยากาศของพลังอันสร้างสรรค์ที่จะส่งทอดต่อไปยังคนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป โดยจบท้ายแคมเปญด้วยคำว่า "Discovery tomorrow"

ทั้งนี้ ในการจะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดโอลิมปิกนั้นจำเป็นต้องมีความพร้อม อันประกอบไปด้วย 1) ความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการแข่งขัน พร้อมทั้งผู้ชมที่จะเข้ามาเชียร์ ซึ่งเมืองที่เสนอตัวเองเป็นเจ้าภาพต้องใหญ่พอและมีสิ่งที่เอื้อให้การจัดงานโอลิมปิกลุล่วงไปด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬา ที่พัก การคมนาคม ภัตรคาร ฯลฯ 2) ความพร้อมของผู้คนในเมืองที่จะเป็นเจ้าภาพ โดยคนที่อาศัยอยู่ในเมืองต้องให้การสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ ซึ่งแน่นอนว่าอาจทั้งผลกระทบตามมา ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นภาษี ความไม่สะดวกในการเดินทางระหว่างจัดงาน ทั้งนี้เมืองเจ้าภาพต้องมีหน้าที่ในการสร้างการสนับสนุนในแง่บวกกับคนเมืองที่จะมีต่อการจัดโอลิมปิกด้วย และ 3) ความพร้อมของสื่อมวลชนในการสร้างทัศนคติที่ดีต่อเกมส์การแข่งขันกีฬา เพราะในการจัดงานย่อมมีแง่มุมทั้งบวกที่ตามมา ซึ่งสื่อมวลชนต้องมีหน้าที่ในการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการแข่งขันกีฬาและการจัดงานที่จะมีขึ้นด้วย

สำหรับการคัดเลือกเจ้าภาพโอลิมปิกปี 2020 นี้ต้องยอมรับว่ามีลุ้นกันมากมาย เนื่องด้วยการลงคะแนนของคณะกรรมการโอลิมปิกสากลจะมีการโหวตแบบแพ้คัดออก ทั้งนี้ หากคะแนนเท่ากันก็ต้องมีการโหวตใหม่ ซึ่งในการโหวตรอบแรกนั้น เมืองแมดดริดกับเมืองอิสตันบูลได้ 26 คะแนนเท่ากัน จึงประกาศให้มีการโหวตใหม่ทั้งสองเมืองใหม่อีกครั้ง ซึ่งตอนนั้นคนโตเกียวก็คิดว่าเมืองของตนหลุดจากโผไปเรียบร้อยแล้ว แต่หารู้ไม่ว่าผลการโหวตในรอบแรกโตเกียวคือเมืองที่ได้คะแนนสูงสุด คือ 42 คะแนน และครั้นเมื่อถึงรอบสุดท้ายที่มาแข่งกับอิสตันบูลตัวต่อตัว โตเกียวก็ชนะไปด้วยคะแนนที่ท่วมท้นคือ 60 ต่อ 36 คะแนน ซึ่งเรียกได้ว่าท่วมท้น สร้างความดีอกดีใจให้กับผู้ที่เข้าร่วมทำแคมเปญในครั้งนี้ ซึ่งมีตั้งแต่ตัวแทนจากราชสำนัก นายกรัฐมนตรี นักการเมือง นักข่าว และนักกีฬา ที่ต่างร่วมแรงร่วมใจเพื่อเมืองและประเทศของตนเอง

หลังจากค่ำคืนของการประกาศผล ในวันรุ่งขึ้นสื่อมวลชนของญี่ปุ่นต่างโหมกระแสโอลิมปิกฟีเวอร์กันอย่างมากมาย โดยให้ทั้งข้อมูล การวางแผนงาน งบประมาณ หน่วยงานที่จะรับผิดชอบ รวมถึงการคาดการณ์ผลที่จะได้รับจากการจัดโอลิมปิก จนเรียกได้ว่าถ้าเขาจะเป็นเจ้าภาพจัดงานในวันพรุ่งนี้ก็อาจเป็นไปได้เพราะมีความพร้อมในเกือบทุกสรรพสิ่ง

รอยเท้าของความสำเร็จจากการชนะการเป็นเจ้าภาพในการจัดกีฬาแห่งโอลิมปิกในปี 2020 ของกรุงโตเกียว เริ่มสร้างความหลังและกำลังจะปูทางให้กับคนรุ่นอนาคตได้เดินตามต่อไป เหมือนแคมเปญโฆษณาที่ทิ้งท้ายไว้ว่า "Discovery tomorrow"