ใครได้ประโยชน์จากการประมูลทีวีดิจิทัล

ใครได้ประโยชน์จากการประมูลทีวีดิจิทัล

ตามที่บทความฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้พูดถึงข้อมูลระบบทีวีดิจิทัลในเบื้องต้นกันไปแล้ว ฉบับนี้เรามาศึกษากันต่ออีกสักเล็กน้อยค่ะ

การเปลี่ยนระบบรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน (ระบบอนาล็อก) ไปเป็นระบบดิจิทัลนั้น ในมุมของผู้ประกอบการและประชาชนผู้รับชมรายการทีวีจะได้ประโยชน์อะไร

จากข้อมูลรายงานสถิติซึ่งจัดทำข้อมูลโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติพบว่า จำนวนครัวเรือนที่สามารถเข้าถึงบริการโทรทัศน์ระบบภาคพื้นดิน (ฟรีทีวี) ซึ่งมีจำนวน 6 ช่อง คิดเป็นร้อยละ 40 ของครัวเรือนที่มีโทรทัศน์ ในขณะที่จำนวนครัวเรือนที่รับชมโทรทัศน์ผ่านระบบเคเบิล และระบบดาวเทียม (ประเภทบอกรับสมาชิกและเสียเงินค่าสมาชิก) ซึ่งมีจำนวนถึง 750 ช่องรายการนั้น คิดเป็นร้อยละ 60 ของครัวเรือนที่มีโทรทัศน์

ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่า ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงยอมจ่ายเงินเพื่อดูรายการทีวี เพราะช่องเคเบิล และดาวเทียมเหล่านี้ มีความหลากหลายของรายการโทรทัศน์ และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของโลกได้มากกว่ารายการทีวีระบบภาคพื้นดิน ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 6 ช่องเท่านั้น นอกจากนั้น บางครัวเรือนต้องจ่ายเงินซื้อบริการจากช่องเคเบิล และดาวเทียม เพื่อการแก้ปัญหาการรับสัญญาณภาพจากการรับชมช่องฟรีทีวีผ่านระบบภาคพื้นดิน (สัญญาณจากระบบอนาล็อก) ที่มีโครงข่ายไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้บางพื้นที่อาจไม่สามารถรับชมช่องฟรีทีวีได้ หรือรับได้แต่ภาพและเสียงไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับสัญญาณภาพและเสียงที่ผ่านระบบเคเบิล และดาวเทียม

นอกจากนั้น ตามที่ได้กล่าวกันไปแล้วในบทความฉบับที่แล้วว่า ปัจจุบันภาคผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคเอกชน เช่น ช่อง 3 และช่อง 7 เป็นต้น อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานที่มีกับรัฐ ซึ่งการประมูลคลื่นความถี่ในระบบทีวีดิจิทัลในครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนจากระบบสัญญาสัมปทานไปเป็นระบบใบอนุญาตที่เอกชนมีสิทธิบริหารจัดการคลื่นความถี่ได้เอง

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย กับการเข้าถึงของผู้ประกอบการภาคเอกชนในการให้บริการโทรทัศน์แบบฟรีทีวีนั้น ยังมีข้อจำกัดอยู่อย่างมาก ดังนั้น เราไปดูกันต่อเลยค่ะว่า เมื่อมีการประมูลคลื่นความถี่ในระบบทีวีดิจิทัลแล้ว ประโยชน์ที่จะได้แก่ผู้ประกอบการรายการโทรทัศน์ และประชาชนผู้รับชมรายการทีวีมีอะไรกันบ้างค่ะ

1. ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับ เช่น

(ก) เป็นการสร้างกลไกให้เกิดการแข่งขันในกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสรีและเป็นธรรม ตลอดจนเป็นการลดการผูกขาดกิจการของภาครัฐ และภาคเอกชนรายใหญ่ที่มีสิทธิในสัมปทานการให้บริการโทรทัศน์เพียงแค่บางรายเท่านั้น

(ข) เป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้คลื่นความถี่วิทยุให้สามารถรับช่องรายการที่มากขึ้น และเพิ่มคุณภาพในการรับสัญญาณได้ดีขึ้น (เมื่อเปรียบเทียบกับระบบอนาล็อก)

(ค) เป็นการแยกโครงสร้างการประกอบกิจการที่ปัจจุบันสถานีโทรทัศน์เป็นผู้ดำเนินการเองในทุกกระบวนการ เช่น เป็นผู้ผลิต ผู้รวบรวมรายการ ผู้รวบรวมสัญญาณ ผู้ให้บริการโครงข่าย และผู้ให้บริการแก่ลูกค้า โดยเมื่อเปลี่ยนเข้าสู่ระบบการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการประกอบกิจการแล้ว ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีความรู้ความสามารถในแต่ละด้านตามที่กล่าวไว้จะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการดังกล่าวได้ ซึ่งตามกฎเกณฑ์ของ กสทช. ลักษณะและประเภทกิจการโทรทัศน์ ได้แบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ ได้แก่ การให้บริการโครงข่าย การให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวก การให้บริการโทรทัศน์ และการให้บริการโปรแกรมประยุกต์

(ง) เป็นการลดต้นทุนในการสร้างโครงข่ายกิจการโทรทัศน์ที่ซ้ำซ้อน ทั้งนี้ เนื่องจากกฎเกณฑ์ของ กสทช. ในปัจจุบัน กำหนดให้ผู้เป็นเจ้าของโครงข่ายจะต้องเปิดให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้ใช้ประโยชน์จากโครงข่ายด้วย

2. ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ เช่น

(ก) เมื่อมีช่องรายการฟรีทีวีมากขึ้น (ปัจจุบันมีอยู่ 6 ช่องรายการ) อีก 24 ช่อง ประชาชนก็จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่มากขึ้น โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

(ข) ประชาชนสามารถรับสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ได้อย่างทั่วถึงในระบบดิจิทัล โดยอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบเคเบิล และดาวเทียม (ที่ต้องชำระเงิน) เพื่อคุณภาพของการรับสัญญาณภาพและเสียงอีกต่อไป ก็จะทำให้ประชาชนลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้

(ค) นอกจากนั้น เมื่อมีการแข่งขันที่สูงขึ้น ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ก็จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตรายการที่ดีมีคุณภาพ เพื่อแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่น ซึ่งผลดีก็จะตกอยู่กับประชาชนที่จะมีโอกาสได้รับชมรายการที่ดีและมีคุณภาพได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งต่อไป อาจไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายเงินค่าเคเบิล และดาวเทียม

ท้ายนี้ ก็รอลุ้นผลการประมูลกันนะคะ และขออย่าให้ล่มเหมือนอย่างการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 3 จี นะคะ บ้านเมืองเราจะได้ไม่ล้าหลังตามประเทศใดๆ ในโลกค่ะ

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่