ประสบการณ์ของออสเตรเลีย : อำนาจรัฐสภา ศาล และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ประสบการณ์ของออสเตรเลีย : อำนาจรัฐสภา  ศาล และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เนื่องในโอกาสเสร็จสิ้นการอบรมหลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 1 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้จัดกิจกรรมเพื่อการนี้ขึ้น

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2556 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ และได้เชิญ นาย Michael Kirby อดีตผู้พิพากษาศาลสูงแห่ง ออสเตรเลีย เป็นวิทยาการบรรยายเรื่อง THE RULE OF LAW AND CONSTITUTIONALISM; AUSTRALIAN EXPERIENCE การบรรยายดังกล่าว มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ

ประเทศออสเตรเลีย เป็นประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นต้นธารในการรักษาหลักนิติธรรม เป็นประชาธิปไตยระบอบกษัตริย์ รัฐธรรมนูญที่เป็นรูปแบบจริงๆ ของออสเตรเลียได้ตราขึ้นในปี 2443 และหลังจากมีคำพิพากษาของศาลสูงออสเตรเลียคดีที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญคดีหนึ่งระบุว่า หลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย เป็นเจตนารมณ์ของประชาชนชาวออสเตรเลีย เนื่องมาจากการที่ประชาชนชาวออสเตรเลียได้ลงคะแนนเสียงเป็นประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญของออสเตรเลียด้วย จึงถือตามกันมาในเวลาต่อมาว่า หลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย เป็นเจตนารมณ์ของประชาชนชาวออสเตรเลีย สำหรับรัฐธรรมนูญของออสเตรเลียนั้นถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีอายุยืนนานลำดับที่หกของโลก รองจากรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีของสหราชอาณาจักร รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรของสหรัฐอเมริกา สวีเดน แคนาดา และสวิตเซอร์แลนด์

ระบบกฎหมายของออสเตรเลียมีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่มีต้นแบบมาจากระบบกฎหมายของอังกฤษที่เป็นกฎหมายจารีตประเพณี ถือว่าคำพิพากษาของศาลเป็นกฎหมาย ในเวลาต่อๆ มาได้ให้ความสำคัญกับกฎหมายที่ตราโดยรัฐสภาเป็นสำคัญ หากมีปัญหาขัดแย้งกันระหว่างกฎหมายจารีตประเพณีกับกฎหมายที่ตราโดยรัฐสภา จะถือตามกฎหมายที่ตราโดยรัฐสภา ถ้าหากกฎหมายนั้นตราขึ้นโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเนื่องจากการแบ่งแยกอำนาจระหว่างรัฐสภาสหพันธ์ (รัฐสภาออสเตรเลีย) และรัฐสภาของรัฐและดินแดนที่ปกครองตนเอง จึงจำเป็นที่ต้องมีกรรมการที่เป็นอิสระ เพื่อตัดสินกรณีที่มีปัญหาขัดแย้งระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติของสหพันธ์และของรัฐ กรรมการที่เป็นอิสระมีหน้าที่วินิจฉัยว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งตัดสินข้อขัดแย้งระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติของสหพันธ์และรัฐ คือศาล ไม่ใช่รัฐสภา

ระบบศาลของออสเตรเลียมีศาลหลายระดับ คือ มีศาลสหพันธ์ หรือศาลระดับประเทศ เช่น ศาลสูงออสเตรเลีย ศาลสหพันธ์แห่งออสเตรเลีย ศาลครอบครัวแห่งออสเตรเลีย และศาลแขวง และก็มีศาลแห่งรัฐต่างๆ ออสเตรเลียไม่มีศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่พิจารณาคดีรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ ศาลทุกศาลจะยึดถือรัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย ประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญสามารถยกขึ้นว่ากล่าวในศาลได้ทุกศาล ศาลสูงสุดที่เป็นผู้พิจารณาชั้นสุดท้ายคือ ศาลสูงแห่งออสเตรเลีย ผู้บรรยายได้ยกตัวอย่างคำพิพากษาของศาลสูงแห่งออสเตรเลีย ที่วินิจฉัยถึงความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายบางฉบับที่ตราโดยรัฐสภาออสเตรเลีย อันเป็นที่กล่าวถึงและมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง คือ

คดีพรรคคอมมิวนิสต์ ที่มีการตัดสิน เมื่อปี 2494 โดยมีความเป็นมาคือ ในเดือนมีนาคม 2494 รัฐสภาของประเทศออสเตรเลีย ได้ตรากฎหมายขึ้นฉบับหนึ่ง คือ The Communist Party Dissolution Act 1950 ให้ยุบ พรรคคอมมิวนิสต์ และตัดสิทธิพลเมืองของผู้นำพรรคและสมาชิกพรรค ตามนโยบายของรัฐบาลผสมจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2492 กฎหมายฉบับนี้มีคำปรารภที่ยาวมาก ในคำปรารภตอนหนึ่งกล่าวถึงจุดมุ่งหมายของพรรคคอมมิวนิสต์ในการปฏิวัติ ยึดอำนาจและสถาปนาเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพขึ้น ในคำปรารภอ้างถึงความชอบธรรมในการตรากฎหมายฉบับนี้ โดยอำนาจของรัฐสภาตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ เช่น อำนาจในการป้องกัน อำนาจบริหาร และอำนาจตามสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหมายล่วงหน้า ดังเช่นกฎหมายฉบับนี้ที่เหมาะสมกับเหตุการณ์เพื่อการพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ และรูปแบบของรัฐบาลตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

มีการฟ้องต่อศาลว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญของออสเตรเลีย โดยรัฐบาลมั่นใจว่าตามเหตุผลที่กล่าวในคำปรารภนั้นสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและคงไม่ถูกวินิจฉัยว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญแน่ แต่ ผลคดีกับตรงกันข้ามกับที่รัฐบาลคาดไว้ กล่าวคือ คำพิพากษาที่ออกมายังความประหลาดใจต่อชาวออสเตรเลียและทำให้รัฐบาลตะลึง งงงัน คือ ศาลวินิจฉัยว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยตอนหนึ่งของคำวินิจฉัย ศาลสูงออสเตรเลียระบุว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่รัฐสภาจะนำคำปรารภในกฎหมายฉบับนี้มาบรรยายเป็นอำนาจในการตรากฎหมายฉบับนี้ และระบุด้วยว่ารัฐสภาสามารถดำเนินการเรื่องที่เกี่ยวกับการกระทำในทางล้มล้างการปกครองได้ แต่ไม่สามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญขจัดการสนับสนุนโดยคอมมิวนิสต์ในเรื่องความคิดเห็นทางการเมืองและลัทธิที่เกี่ยวกับสังคมของพวกเขาได้

ผลจากคำพิพากษาของศาลสูงดังกล่าว ทำให้นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียในขณะนั้น คือ นาย RG Menzies ได้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเอาชนะคำพิพากษาของศาล และแก้ไขอำนาจของรัฐสภาให้มีความชัดเจนขึ้น แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญของออสเตรเลียจะต้องมีการทำประชามติให้ประชาชนชาวออสเตรเลียลงมติว่าเห็นชอบที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่สองรอบ แต่การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นไม่ผ่านประชามติ จึงไม่สามารถแก้ไขได้

การแก้ไขรัฐธรรมนูญของออสเตรเลียจึงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากจะต้องทำประชามติก่อน ในรอบ 102 ปีที่ผ่านมา มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของออสเตรเลีย 44 ครั้ง ประชาชนชาวออสเตรเลียมีมติเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพียง 8 ครั้ง ไม่เห็นชอบด้วย 36 ครั้ง

คดีสิทธิการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของนักโทษ ตั้งแต่ปี 2466 ประเทศออสเตรเลียถือว่าการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไประดับประเทศเป็นหน้าที่ นักโทษที่ได้รับโทษจำคุกไม่เกินสองปี ยังคงมีสิทธิเลือกตั้ง แต่ได้มีการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งของประเทศเมื่อปี 2549 ให้ตัดสิทธิการเลือกตั้งของนักโทษทั้งหมด การแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งดังกล่าว ถูกนักโทษหญิงรายหนึ่งที่ถูกลงโทษฐานทุจริตร้องต่อศาลว่า รัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิการเลือกตั้งของเธอ การตัดสิทธิเลือกตั้งของนักโทษขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นการไม่สมเหตุสมผลเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าที่ควรจะเป็น มีการเสนอหลักฐานต่อศาลสูงแสดงให้เห็นว่า นักโทษบางคนถูกจองจำในคุกเพียงระยะเวลาสั้นๆ เพราะไม่มีเงินเสียค่าปรับ แต่ก็ถูกตัดสิทธิเลือกตั้งด้วย ศาลสูงมีคำพิพากษาวินิจฉัยว่ากฎหมายเลือกตั้งที่มีการแก้ไขใหม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หลังจากมีคำพิพากษาคดีออกมาก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ตามมาจากนักวิชาการบางคนว่า การกำหนดว่าผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่อย่างไรควรเป็นหน้าที่ของรัฐสภาผู้ตรากฎหมาย ไม่ใช่ศาล

ประสบการณ์ของประเทศออสเตรเลีย จากคำบรรยายในครั้งนี้ สนับสนุนให้เห็นและเข้าใจถึงหลักการของการแบ่งแยกอำนาจของประเทศที่ปกครองตามระบอบประชาธิปไตย แม้รัฐสภาจะเป็นผู้มีอำนาจตรากฎหมาย แต่การตรากฎหมายนั้น ก็ต้องเป็นไปตามกติกาที่กำหนดไว้ หากไม่เป็นไปตามกติกา กฎหมายนั้นก็ใช้ไม่ได้ ผู้ทำหน้าที่ตัดสินคือศาลไม่ใช่รัฐสภา และเมื่อมีคำตัดสินออกมาถึงแม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา แต่ทุกฝ่ายก็เคารพการตัดสินนั้น เฉกเช่นการเล่นฟุตบอลผู้รักษากติกาและตัดสินคือกรรมการ ไม่ใช่นักฟุตบอลทั้ง 22 คน หากนักฟุตบอลทั้ง 22 คน ไม่เชื่อฟังกรรมการ แต่ละคนตัดสินเองว่าตนเล่นถูกกติกา มันคงไม่ใช่เป็นการแข่งขันฟุตบอลอีกต่อไป แต่คงกลายเป็นการแข่งขันมวยหมู่ที่ไร้กติกาแทน