การพัฒนาอย่างยั่งยืนของท่าเรือในยุโรป

การพัฒนาอย่างยั่งยืนของท่าเรือในยุโรป

สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้และมีผลกระทบต่อผลประกอบการธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ คือ ระบบโลจิสติกส์ที่ดีมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะด้านการขนส่ง

รวมทั้งการเก็บรักษาสินค้าในโกดัง และความรวดเร็วในการปล่อยสินค้าสู่ตลาดปลายทาง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผลกำไรทางธุรกิจ การเก็บรักษาสินค้าให้คงสภาพเดิมตรงตามมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพของประเทศผู้นำเข้า

ประเทศไทยส่งออกสินค้าที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษระหว่างการขนส่งในปริมาณค่อนข้างมากในแต่ละปี โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารและผลผลิตทางการเกษตร เช่น อาหารทะเล พืช ผัก และผลไม้นานาชนิด เป็นต้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้จำเป็นต้องจัดเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม และใช้เวลาให้น้อยในการขนส่ง ทั้งนี้ เพื่อรักษาให้สินค้าคงสภาพเดิม สดน่าบริโภค และตรงตามมาตรฐานด้านสุขอนามัยตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า รวมทั้งสหภาพยุโรปหรืออียู การขนส่งทางเรือจึงถือว่าเป็นรูปแบบการขนส่งที่ประหยัดและเหมาะสมสำหรับการขนส่งสินค้าจำนวนมาก และมีระยะทางไกล

อียูมีท่าเรืออยู่เป็นจำนวนมาก ประเทศสมาชิกอียูหลายประเทศมีที่ตั้งติดกับทะเล ซึ่งทำให้ท่าเรือหลายแห่งได้รับการพัฒนาเรื่อยมาจนกลายเป็นจุดกระจายสินค้าสำคัญสู่ตลาดยุโรป และช่วยเสริมสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอียูเหล่านี้

ที่สำคัญคือการขนส่งสินค้าทางเรือในยุโรปนับเป็นช่องทางหนึ่งที่มีความคุ้มค่า โดยเฉพาะในการขนส่งสินค้าจำนวนมาก ส่งผลให้อียูให้ความสำคัญกับการพัฒนาท่าเรือและระบบโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้อง โดยล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปด้านการขนส่งและการเคลื่อนย้ายได้แถลงว่า อียูมีแผนที่จะพัฒนาการท่าเรือ และเสริมสร้างโครงข่ายระบบการขนส่งในรูปแบบต่างๆ (Ports and transportation connections) รวมทั้งหมด 319 ท่าเรือในยุโรป

ท่าเรือที่ขึ้นชื่อของยุโรป อาทิ ท่าเรือฮัมบูรก์ ประเทศเยอรมนี เป็นอีกท่าเรือหนึ่งที่มีความสวยงาม แถมมีการวางแผนผังท่าเรือให้เชื่อมต่อกับรูปแบบการเดินทางและการขนส่งประเภทอื่นๆ นอกจากทางเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยร่นเวลาขนส่งสินค้า ประหยัดค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนให้กับลูกค้า ท่าเรือโคเปอร์ในประเทศสโลวีเนีย ที่แม้จะเป็นประเทศเล็กๆ แต่ก็ได้รับการรับรองว่าเป็นท่าเรือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแห่งแรกในยุโรป นอกจากนี้ ท่าเรือปิเรอูซของกรีซก็มีพัฒนาการที่น่าสนใจ เพราะได้ผันตัวเองจากการเป็นท่าเรือที่เน้นการขนส่งสินค้าเพียงอย่างเดียวให้เป็นท่าเรือที่สามารถรองรับเรือสำราญเดินสมุทร โดยท่าเรือนี้สามารถบริการนักท่องเที่ยว และสินค้าต่างๆ อันเป็นการช่วยเพิ่มรายได้เข้าประเทศได้อย่างมากในแต่ละปี

พัฒนาการครั้งนี้นับว่ามีนัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของอียูที่กำลังต่อสู้กับปัญหาเศรษฐกิจ เพราะการลงทุนดังกล่าวนอกจากจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือ รวมทั้งนำไปสู่การสร้างเส้นทางการขนส่งสายใหม่ๆ แล้ว คณะกรรมาธิการยุโรปยังคาดการณ์ว่า การลงทุนจะช่วยสร้างงาน และเพิ่มรายได้ให้กับชาวยุโรป รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการในการขนส่งสินค้าได้มากถึงหนึ่งหมื่นล้านยูโรในปี พ.ศ 2573

แต่ที่ขาดไม่ได้เลย เมื่อกล่าวถึงท่าเรือและการจัดการด้านโลจิสติกส์ในยุโรป คือ ท่าเรือรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ นับเป็นท่าเรือหลักแห่งหนึ่งของยุโรป หรือของโลกก็ว่าได้ มีระบบโลจิสติกส์การขนส่งถ่ายสินค้าเข้าออกอียูที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย ปัจจุบันท่าเรือรอตเตอร์ดัมจึงเปรียบเสมือนประตูการค้าสู่ยุโรปที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยแต่ละวันจะมีสินค้านำเข้าและส่งออกผ่านท่าเรือแห่งนี้เป็นจำนวนมหาศาลเพื่อป้อนทั้งตลาดอียูและตลาดอื่นๆ ทั่วทุกมุมโลก

ในอดีต รอตเตอร์ดัมเป็นเพียงเมืองท่าเล็กๆ และมีการพัฒนาค่อนข้างเชื่องช้าเมื่อเทียบกับท่าเรืออื่นๆ ในยุโรป จนกระทั่งศตวรรษที่ 19 ท่าเรือรอตเตอร์ดัมได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นท่าเรือที่มีการเดินทางเข้าออกของเรือบรรทุกสินค้ามากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก คำถามสำคัญคือ ท่าเรือรอตเตอร์ดัมที่อดีตขึ้นชื่อว่าเป็นท่าเรือที่พัฒนาไม่ทันคนอื่นได้กลายเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปได้อย่างไร

คำตอบง่ายๆ ประการแรกคือ เมื่อมีการค้าขายเพิ่มขึ้น การขนส่งก็เป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้น การลงทุน เพื่อพัฒนาท่าเรือจึงมีความคุ้มทุน ปัจจุบัน ท่าเรือรอตเตอร์ดัมขนถ่ายสินค้าประมาณ 500 ล้านตันต่อปี ทำให้ต้องใส่ใจกับระบบการบริหารจัดการที่เน้นประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะระบบการควบคุมการจราจรของเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่แต่ละวันเดินทางไปกลับจากทั่วโลกผ่านท่าเรือแห่งนี้ไม่น้อยกว่า 300 ลำ ท่าเรือรอตเตอร์ดัมจึงต้องอาศัยระบบควบคุมและบริหารท่าเรือแบบอัตโนมัติในเวลาจริง (Real Time Monitoring) เพื่อประหยัดแรงงานคน ประหยัดเวลา และช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยในการเดินเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่เพียงแต่มีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยทำให้ท่าเรือรอตเตอร์ดัมกลายเป็นท่าเรืออันดับหนึ่งของยุโรปและอันดับต้นๆ ของโลกแล้ว ท่าเรือรอตเตอร์ดัมยังมีจุดแข็งเฉพาะด้านอีกด้วย โดยเฉพาะการขนส่งและถ่ายเทสินค้าประเภทน้ำมันดิบ สารเคมี และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน นอกจากนี้ ท่าเรือยังมีทั้งอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้า รวมทั้งโกดังพักเก็บสินค้าที่สามารถตอบโจทย์สินค้าที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ อาทิ สินค้าเน่าเสียง่าย และสินค้าอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยังตลาดยุโรป โดยอาศัยท่าเรือแห่งนี้เป็นจำนวนมากในแต่ละปี นอกจากนี้ การท่าเรือแห่งรอตเตอร์ดัมยังมีการรุกตลาดนอกยุโรปด้วยการเข้าไปลงทุนในกิจการท่าเรือของประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศด้วย เช่น กาตาร์ มาเลเซีย บราซิล และรัสเซีย ฯลฯ

การกระจายสินค้าจากท่าเรือรอตเตอร์ดัมไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปมีความสะดวกสบาย ท่าเรือได้ออกแบบให้ระบบการขนส่งทางเรือเชื่อมต่อแบบไร้ตะเข็บกับระบบการขนส่งทางบก ไม่ว่าจะเป็นถนนหรือรถไฟ กระนั้นก็ตาม การท่าเรือแห่งรอตเตอร์ดัมได้ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนไว้ว่า จะพยายามเปลี่ยนระบบการขนส่งจากทางน้ำไปสู่ทางบกให้น้อยที่สุด กล่าวคือ เน้นการขนส่งทางเรือให้มากที่สุด เพื่อเป็นการช่วยลดมลภาวะทางอากาศ

ประเด็นเรื่องมลภาวะและการทำลายสภาพแวดล้อมเป็นเรื่องที่อียูให้ความสำคัญ ผลการศึกษาสำคัญๆ แสดงให้เห็นว่า การก่อสร้างท่าเรือรอตเตอร์ดัมมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ไม่น้อย การท่าเรือแห่งรอตเตอร์ดัมจึงได้พยายามหาวิธีชดเชยและช่วยรักษาสภาพแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาเชิงธุรกิจ เช่น การที่เมืองรอตเตอร์ดัมมีทำเลที่ตั้งที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับความเสียหายหากเกิดพายุในทะเลเหนือ ดังนั้น การท่าเรือแห่งรอตเตอร์ดัมจึงได้ชดเชยด้วยแนวป้องกันน้ำท่วมที่เรียกว่า Delta Works flood protection plan

ที่เห็นได้ชัดกว่านั้นคือ กรณีการสร้างจุดเทียบท่าแห่งใหม่ชื่อ Massvlakte 2 เพื่อขยายพื้นที่ท่าเรือรอตเตอร์ดัมให้ใหญ่ขึ้น 20% ซึ่งต้องล้ำเข้าไปในทะเลเหนือประมาณ 3.5 กิโลเมตรด้วยการถมทะเล (Reclamation) โครงการดังกล่าวถูกระงับไปชั่วคราวเมื่อปี พ.ศ. 2548 ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการต่อในปี พ.ศ. 2550 หลังจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้ทำการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อประเมินผลกระทบจากการถมทะเล การประเมินแสดงให้เห็นว่าโครงการดังกล่าวจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมากและต้องมีมาตรการเยียวยา การท่าเรือรอตเตอร์ดัมจึงได้สร้างเนินทราย (Sand Dunes and Dyke) ขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวป้องกันทะเลธรรมชาติที่อาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างและขยายพื้นที่ของสิ่งก่อสร้าง

จุดเด่นของการพัฒนาท่าเรือรอตเตอร์ดัมคือ การเป็นท่าเรือสีเขียว หรือ Green Port ที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนาท่าเรือเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจ การบริการและการลงทุน มีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และแนวทางที่สร้างสรรค์ เพื่อชดเชยและทดแทนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อาจต้องสูญเสียไป โดยเฉพาะการสร้างระบบนิเวศน์ขึ้นมาใหม่ โดยมีการสร้างหน้าดินให้อุดมสมบูรณ์เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์หน้าดิน (Benthic fauna) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างหนึ่งในระบบนิเวศน์ สร้างจุดที่อยู่อาศัยของนกหลากหลายชนิด (Birds Spotting Site) เพื่อให้สิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างมีสภาพใกล้เคียงกับสภาพเดิมมากที่สุด เนื่องจากมีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์โดยรวมของเมืองและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งเป็นแหล่งอาศัยของนกและสัตว์นานาชนิด

ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมจะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในสาขาการขนส่งทางเรือในอียู คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอนโยบายในการลดมลภาวะเรือนกระจกจากภาคการขนส่งทางเรือ (Greenhouse Gas emissions from maritime transport) ต่อรัฐสภายุโรป ซึ่งท่าเรือต่างๆ ในอียูจะต้องเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น เพราะอีกไม่นานเรือบรรทุกขนาดใหญ่ (หนักมากกว่า 5,000 ตัน) ทุกลำที่เข้ามาใช้ท่าเรือในยุโรปอาจจะต้องถูกควบคุม จัดทำรายงาน และถูกตรวจสอบปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Monitor, report, and verification - MRV) เมื่อจอดเทียบท่าเรือในอียู มาตรการดังกล่าวจะครอบคลุมเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าและผู้โดยสารไม่เฉพาะเรือสัญชาติอียูเท่านั้น แต่รวมถึงเรือสัญชาติอื่นๆ ทุกลำระหว่าง 1) ท่าเรือต่างๆ ภายในเขตอียู 2) ท่าเรือต่างๆ ในเขตอียูสู่ท่าเรือนอกเขตอียูท่าแรก และ 3) ท่าเรือสุดท้ายนอกเขตอียูก่อนเข้าท่าเรือแรกในเขตอียู

การพัฒนาอย่างต่อเนื่องทางด้านการท่าเรือและการขนส่งทางน้ำของยุโรปนั้น สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน หลายครั้งที่ดูเหมือนว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตในบริเวณที่มีการพัฒนา แต่การพัฒนาของการท่าเรือในยุโรปก็แสดงว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของยุโรปนั้นส่งผลในเชิงบวกมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างงาน เพิ่มรายได้ ขยายลู่ทางการเชื่อมต่อของสินค้าจากทั่วทุกมุมโลกโดยการย่นระยะในการเดินทาง และที่สำคัญ คือ ความพยายามของยุโรปที่จะรักษาสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน