หนังสือดีเพื่อพัฒนาเยาวชน (และผู้ใหญ่ด้วย)

หนังสือดีเพื่อพัฒนาเยาวชน (และผู้ใหญ่ด้วย)

หนังสือบรรณานิทัศน์แนะนำ 100 หนังสือดีเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน ที่ผมและคณะนักวิจัย 4-5 คน เป็นผู้คัดเลือกและเขียนแนะนำ

พิมพ์ออกมาแล้วโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) มีทั้งคำแนะนำเชิงวิจารณ์ 100 หนังสือดีแล้ว และบทรายงานเรื่องการรณรงค์ให้คนไทยรักการอ่าน คือยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศ (ดูชื่อหนังสือและบทรายงานได้ที่ https://www.facebook.com/pages/โครงการหนังสือดี 100 เล่ม เพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนไทย)

หนังสือดีเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนแบ่งตามวัยเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. เด็กวัยแรกเกิด-6 ปี มีหนังสือดี 24 ชื่อเรื่อง 2. เด็กโตวัย 6-12 ปี มีหนังสือดี 18 ชื่อเรื่อง 3. เด็กวัยรุ่นและเยาวชน 12-18 ปี มีหนังสือดี 57 ชื่อเรื่อง ที่เราคัดหนังสือเด็กเล็กและเด็กโตได้ค่อนข้างน้อย สะท้อนว่าประเทศไทยยังผลิตหนังสือเด็กที่มีคุณภาพดีได้น้อย เมื่อเทียบกับต่างประเทศ

หนังสือสำหรับวัยรุ่นและเยาวชน 57 ชื่อเรื่องนั้น เป็นหนังสือดีที่ผู้ใหญ่น่าจะอ่านด้วย เราอยากให้เยาวชนของเราฉลาด ทันสมัย จึงคัดเลือกหนังสือโดยเน้นความเป็นวรรณกรรมสมัยใหม่ที่มองโลกอย่างหลากหลายด้วยใจที่กว้าง รวมทั้งหนังสือสารคดีที่มีเนื้อหาสาระที่เข้มข้นและหลากหลายที่เยาวชนควรได้รับรู้ หนังสือที่เราคัดมาจึงทันสมัยมากกว่าหนังสือที่เยาวชนตามแนวประเพณีเน้นตัวละครเป็นเยาวชนและหรือตั้งใจสอนเยาวชนแบบทำดีได้ดี มีศีลธรรม รักเมืองไทย มีความเป็นไทย ฯลฯ ซึ่งค่อนข้างซ้ำๆ กัน จนเยาวชนไม่ชอบอ่าน

หนังสือสำหรับวัยรุ่นและเยาวชนที่เราคัดมา มีทั้งหนังสือการ์ตูน นวนิยาย รวมเรื่องสั้น รวมบทกวี สารคดีเชิงชีวประวัติ ประสบการณ์ ปรัชญา ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ

ประเภทการ์ตูน ชีวประวัติศรีบูรพา ฉบับการ์ตูน โดย ว.ณ.พนมยงค์, โต๋เต๋ เรื่องเกี่ยวกับลูกสุนัข โดยเรืองศักดิ์ ดวงพลา, ลิ้นชักแห่งความทรงจำ โดยอิทธิวัฐก์ สุริยมาตย์ เรื่องของคนหลากหลายประเภทซึ่งมีความทรงจำแตกต่างกัน, หมอเสม คนดี 4 แผ่นดิน โดยสันติสุข โสภณสิริ

ประเภทนิทานเรื่องสั้นมี แก้วหยดเดียว รวมเรื่องสั้นโดยศรีดาวเรือง, นิทานล้านบรรทัด โดยประภาส ชลศรานนท์, วรรณมาลัย รวมเรื่องสั้นร่วมสมัยหลัง พ.ศ. 2475 จาก 41 นักเขียนไทย โดยกระทรวงวัฒนธรรม

ประเภทนวนิยายมี กรุงแตกยศล่มแล้ว โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ยุคปลายอยุธยา เป็นหนังสือนวนิยายที่พยายามเขียนให้สมจริง สะท้อนวิถีชีวิตเรื่องราวของคนไทยในยุคสมัยนั้นได้อย่างมีชีวิตชีวา และมีแง่คิด นวนิยายอิงประวัติศาสตร์อีก 2 เล่ม ที่เราอยากให้วัยรุ่นไทยได้อ่าน คือ คนดีศรีอยุธยา โดยเสนีย์ เสาวพงศ์ และรัตนโกสินทร์ โดยว.วินิจฉัยกุล

เกาะที่มีความสุขที่สุดในโลก โดยลินดา โกมลาชุน เรื่องเกี่ยวกับประเทศวานูอาตู หมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ซึ่งคนมีความสุข ความพอใจ มากกว่าประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจทันสมัยกว่าประเทศอื่นๆ, ขวัญสงฆ์ โดยชมัยภร แสงกระจ่าง นวนิยายของเด็กกำพร้าที่หลวงตาช่วยเลี้ยง เขียนเป็นบทกลอนทั้งเรื่อง ทั้งงดงามและมีศิลปะของนวนิยาย, เขียนฝันด้วยชีวิต โดยประชาคม ลุนาชัย เป็นนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติของเด็กหนุ่มยากจนจากอีสานที่เข้ามาทำงานใช้แรงงานสารพัดชนิดในเมือง มุ่งมั่นอ่านหนังสือและเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย, ความสุขของกะทิ โดยงามพรรณ เวชชาชีวะ เรื่องใสๆ ของเด็กผู้หญิงชนชั้นกลางวัย 9 ขวบ, คำใส โดยวีระศักดิ์ สุยะลา เรื่องของเด็กชายยากจนจากภาคอีสาน, เจ้าชายไม่วิเศษ โดยปรีดา อัครจันทโชติ เป็นนิทานสมัยใหม่ที่มีแนวคิดต่างไปจากนิทานแบบเดิมๆ, ช่างสำราญ โดยเดือนวาด พิมวนา เรื่องของเด็กยากจนในเมือง, ดอกไม้ใต้หมอน โดยประภัสสร เสวิกุล เรื่องของเด็ก 3 พี่น้องต่างแม่ในครอบครัวหนึ่ง

นวนิยายแนวจินตนาการเหนือจริงหรือแฟนตาซี ที่เยาวชนและคนที่ชอบอ่านหนังสือแนวนี้ควรจะได้อ่าน คือ เรื่อง ผู้เสกทราย โดยลวิตร์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการต่อสู้ เพื่อความอยู่รอดและการแสวงหาความหมายในชีวิตของตัวละครสำคัญ 5-6 คน จาก 2 เผ่าพันธุ์ ที่เป็นคู่ขัดแย้งกัน ในโลกซึ่งไม่รู้ว่ายุคไหนหรือที่ไหน คือคนธรรมดาและคนใช้เวทมนตร์ เป็นหนังสือที่เขียนได้อย่างมีจินตนาการ มีความสมจริง สนุก ภาษาดี และมีแง่คิดน่าสนใจด้วย

พระจันทร์ทรงกลด โดยโชติ ศรีสุวรรณ และพราวแสงรุ้ง โดยวาวแพร, วัยฝันวันเยาว์ โดยพิบูลย์ศักดิ์ ละครพล เป็นวรรณกรรมเกี่ยวกับเยาวชนที่น่าสนใจของนักเขียนที่มีผลงานด้านนี้มาสม่ำเสมอ บีตั๊ก ดวงดวงนั้นระหว่างน้ำกับฟ้า โดยกาย่า กล้าทะเล เป็นเรื่องวิถีชีวิตของชาวเล บันทึกสี่เท้าจากหัวใจผู้ไร้บ้าน โดยชนประเสริฐ คินทรักษ์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสุนัขที่สนุกและน่ารักเรื่องหนึ่ง

เรื่องแว้งที่รัก โดยชบาบาน กล่าวถึงดินแดนสามจังหวัดภาคใต้ยุคก่อนที่จะมีปัญหาความขัดแย้งปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ รุสนี โดยมนตรี ศรียงค์ เป็นนวนิยายสำหรับผู้ใหญ่ที่เราอยากให้เยาวชนอ่านเพื่อจะได้รู้จักเรื่องของกลุ่มคนในชายแดนภาคใต้ที่กำลังมีปัญหาความขัดแย้งกับรัฐบาล ผู้เขียนเขียนได้อย่างเป็นกลาง และมีศิลปะ มองคนที่เผชิญปัญหาในแง่ความเป็นมนุษย์ มากกว่าที่จะมองว่าใครถูกใครผิด หนังสือนวนิยายสมัยใหม่ที่น่าสนใจในแนวเดียวกับเล่มนี้คือ ประวัติศาสตร์ในโลกแห่งความเศร้า โดยศิริวร แก้วกาญจน์ เรื่องเกี่ยวกับคนพม่าผู้เดินทางเท้าเข้ามาลี้ภัยในเมืองไทย และต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ

โลกใบนี้โคจรรอบกระทะกับหม้อเหล็ก (และต้นไม้ด้วย) โดยคณา คชา, เศษกระดาษ โดยสองขา, สุสานใต้ดวงดาว โดยสมเถา สุจริตกุล เป็นนวนิยายแนวจินตนาการเกี่ยวกับวัยรุ่นอเมริกัน ซึ่งมีชีวิต, ความคิดคล้ายกับวัยรุ่นสมัยใหม่ในเมืองทั่วโลก

ประเภทร้อยกรองบทกวี กาญจนกานท์ รวมบทกวีวรรคทองร่วมสมัย โดยสถาบันภาษาไทย กระทรวงศึกษาธิการ, บทกวีคัดสรร ตุลาวรรณกรรม โดยมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลาคม 2516

ประเภทชีวประวัติความเรียง สารคดี มีเช่น ชีวิตทนง โดยทนง โคตรชมภู, ซ่อนไว้ในสิม ก-อ ในชีวิตอีสาน โดยอู่ทอง ประศาสนวินิจฉัย, กบกินนอน โดยพระไพศาล วิสาโล, เดินสู่อิสรภาพ โดยประมวล เพ็งจันทร์, ผ่ามิติจินตนาการ โดยชัยวัฒน์ คุประตกุล, วันที่ถอดหมวก โดยเสกสรรค์ ประเสริฐกุล, เรื่องเล่าจากร่างกาย โดยชัชพล เกียรติขจรธาดา, เอดส์ไดอารี่ โดยแก้ว, 10 นิทานเซ็น โดยท่านพุทธทาสภิขุ และชาล้นถ้วย โดยว.วชิรเมธี, วันวานในโลกกว้าง โดยว.ณ.พนมยงค์, จอนิ โอ่โดเชา ในสวนของคนขี้เกียจ โดยสุวิชานนท์ รัตนภิมล ฯลฯ

นอกจาก 100 หนังสือดีนี้แล้วยังมีหนังสือแนวเข้าใจตนเองและรู้วิธีที่จะพัฒนาตนเอง 2 เล่ม ที่ผมอยากแนะนำให้ทั้งเด็กเยาวชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูได้อ่าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคนและสังคมมาก คือ 1. วิทยากร เชียงกูล การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ 2. วิทยากร เชียงกูล จิตวิทยาวัยรุ่น สำนักพิมพ์สายธาร โทร 02-996-971-3 www.winyuchon.co.th, [email protected]