กระตุ้นต่อมวิทยาศาสตร์

กระตุ้นต่อมวิทยาศาสตร์

ในแต่ละปีเราจะได้อ่านข่าวเกี่ยวกับเยาวชนเก่งๆ ของประเทศไทยที่ไปคว้ารางวัลการแข่งขันความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ทำชื่อเสียงให้กับประเทศ

และให้กับโรงเรียนต้นสังกัดมาอย่างต่อเนื่อง และก็พบว่าเด็กนักเรียนเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากโรงเรียนดังที่ผู้ปกครองอยากให้ลูกหลานเข้า พอเข้าได้สมใจ ภารกิจก็ยังไม่จบ ยังต้องตั้งเป้าให้ลูกเรียนพิเศษเพื่อไขว่คว้าโอกาสในการสอบเข้าในสาขาท็อปฮิตในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง พร้อมๆ กับแสวงหาโอกาสในการได้ทุนการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนเรียนต่อเมืองนอก

ก็ต้องยอมรับว่าเรามีเด็กเก่งอยู่จำนวนไม่น้อย ทั้งที่หัวดีและที่สิ่งแวดล้อมและโอกาสดีกว่าเด็กทั่วไป และหากการสอบแข่งขันใดๆ ทั้งในประเทศและนอกประเทศผ่อนคลายคะแนนสูงสุดให้ลงมาอีกนิดหน่อย เราจะได้คนที่สังคมเรียกว่า “หัวกะทิ” อีกหลายเท่าตัว ซึ่งความสามารถไม่ได้ต่างกัน คำถามคือ แล้วเกิดอะไรขึ้นกับเด็กเหล่านี้ ทั้งในส่วนของการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย และในส่วนอนาคตการทำงานและอาชีพ เราจะออกแบบวางแผนให้เขาได้เลือกเส้นทางอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพสังคมและหล่อหลอมพวกเขาหรือปล่อยไปตามธรรมชาติและยถากรรมเหมือนเช่นทุกวันนี้

สิ่งที่น่ากังวลนอกเหนือจากความฮือฮาเรื่องนักเรียนไทยแพ้กัมพูชา คือความลักลั่นไม่สมดุลระหว่างบัณฑิตสายวิทยาศาสตร์และบัณฑิตสายสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ บัณฑิตในสายหลังนี้จำเป็นและมีประโยชน์ต่อสังคมแน่นอน แต่ความต้องการบัณฑิตสายวิทยาศาสตร์ ซึ่งรวมวิศวกรรมศาสตร์ และวิชาการทางเทคนิคทั้งหลายทั้งเก่าและใหม่ กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของการพัฒนาประเทศ ณ ขณะนี้ คือมีความขาดแคลนทั้งปริมาณและคุณภาพอย่างรุนแรง จำนวนบัณฑิตในสายนี้มีเพียงประมาณร้อยละ 30 ของบัณฑิตปริญญาตรีที่จบออกมาทั้งหมดจำนวนกว่าครึ่งที่จบแล้วไม่ประกอบอาชีพหรือเรียนต่อในสาขาเดิม

การบริหารจัดการกับปัญหานี้มีความซับซ้อน ตั้งแต่ค่านิยมของสังคม ความน่าเบื่อของระบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ความยากง่ายของโอกาสในการจบหรือการได้เกรดดีๆ การเปรียบเทียบเงินเดือนเมื่อจบออกไปแล้ว ตลอดจนวิถีชีวิตของชนรุ่นใหม่ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและวิธีคิดที่แตกต่างออกไป

ในการแก้ปัญหาเหล่านี้ การปรับเปลี่ยนค่านิยมของสังคมอาจจะเป็นเรื่องยากที่สุด เพราะเป็นนามธรรมจับต้องไม่ค่อยได้ แถมผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีเพียงนักเรียนเท่านั้น ยังมีผู้ปกครองที่มีอิทธิพลในการชักจูงสูง ยังมีครูที่เป็นแม่แบบและผู้ชี้แนะ และยังมีสังคมโดยเฉพาะสื่อที่เยาวชนเข้าถึงและซึมซับกันไปเต็มๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ และล่าสุดเครือข่ายสังคมออนไลน์

อย่างไรก็ตาม การปรับค่านิยมก็มีความน่าสนใจตรงที่ไม่ต้องใช้เวลาและทรัพยากรมหาศาลเหมือนปัจจัยอื่นๆ หากสังคมเห็นว่าการส่งเสริมนักเรียนให้เรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้นเป็นสิ่งที่ดีแล้ว รูปธรรมของวิธีแก้ปัญหาอาจทำได้ง่ายกว่า ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่สำเร็จหากปัญหาอื่นๆ ไม่ได้รับการแก้ไขพร้อมๆ กันไป แต่ขอชวนคิดเรื่องปรับค่านิยมก่อนในคราวนี้

ผมเองคิดว่าคงต้องสนใจกับประเด็นการ “สร้างแรงบันดาลใจ” ให้เด็กอยากมาเรียนวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น เมื่อแรงบันดาลใจมาความฮึกเหิมมุ่งมั่นมีมากขึ้น การแก้ไขปัญหาก็ง่ายขึ้น วิทยาศาสตร์ที่ยากที่สุดสาขาหนึ่ง ณ ขณะนี้คือความสนใจในวิชาฟิสิกส์ ซึ่งคนส่วนใหญ่ว่าจบแล้วไม่มีงานทำสักเท่าไหร่ เรียนก็ยาก หากจะเรียนต่อสาขาบริหารธุรกิจสู้เข้าวิศวฯดีกว่า เป็นต้น

ความจริงแล้วอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยที่ต้องการบัณฑิตสาขานี้ เพราะความรู้พื้นฐานทางด้านฟิสิกส์สามารถช่วยธุรกิจได้ ทั้งความต้องการด้านวัสดุสมัยใหม่ การตรวจสอบเพื่อให้มีมาตรฐานส่งออกได้ การออกแบบเครื่องจักรและระบบการผลิต ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมัยใหม่ที่เล็กจิ๋วระดับนาโน ความรู้ทางฟิสิกส์ยังสามารถช่วยโรงงานแก้ปัญหา ลดค่าใช้จ่าย และหากไฮเทคจริงๆ ก็ลงไปถึงระดับอนุภาค มวล และรังสี

เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้มีโอกาสไปเยือน CERN (home.web.cern.ch) ซึ่งเป็นสถาบันระดับโลกที่ทำงานด้านวิจัยและพัฒนาด้านโครงสร้างของสสารในระดับอนุภาคและแรงหรือสนามแม่เหล็กที่เกิดขึ้น เป้าหมายใหญ่ระดับมนุษยชาติคือ การค้นหาความจริงของวิวัฒนาการของจักรวาลที่ถอยไปไกลถึงจุดกำเนิดปีหน้าเซิร์นจะมีอายุครบ 60 ปี แต่ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สิ่งที่ค้นพบและดูเหมือนจะสามารถพิสูจน์ความจริงทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญมากคือ การค้นพบปรากฏการณ์ Higgs Boson ซึ่งสามารถอธิบายทฤษฎีเมื่อ 50 ปีที่แล้วว่าด้วยกำเนิดของ “มวล” (mass) จากเครื่องมือทดสอบอนุภาคที่เรียกว่า Large Hadron Collider (LHC) ที่ต้องสร้างสนามทดลองวงกลมใต้ดินขนาดยักษ์ระยะทาง 27 กิโลเมตรตรงชายแดนฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ คาดว่าในอีกไม่ช้าเมื่อมีการประกาศรางวัลโนเบล ศาสตราจารย์ปีเตอร์ ฮิกส์และอาจจะมีนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอีกหลายคนคงได้รับเกียรติจากการค้นพบนี้เซิร์นยังเป็นถิ่นกำเนิดของเทคโนโลยีสารสนเทศที่สำคัญระดับโลก คือ World Wide Web ที่ปฏิวัติระบบสื่อสารของมนุษย์ทำให้ชาวโลกสามารถติดต่อกัน แลกความรู้กัน และเครือข่ายสังคมจำนวนมหาศาลที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา

ที่กล่าวถึงเซิร์นเพราะเป็นตัวอย่างที่สามารถเป็น “แรงบันดาลใจ” ให้กับเยาวชนไทยสนใจฟิสิกส์ และวิทยาศาสตร์มากขึ้นได้ บนพื้นฐานของความพิศวงกับกำเนิดของโลกมนุษย์และจักรวาล และอาชีพในอนาคต เซิร์นเองก็มีความพร้อมที่จะเปิดประตูให้เยาวชน นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และนักวิจัยไทยไปเรียนรู้และทำงานวิจัยร่วมกัน และยังต้อนรับการทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อทดลองและทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสุดยอดนี้

หากค่านิยมเป็นตัวแปรสำคัญ ตัวอย่างเซิร์นอาจทำให้เราแสวงหาวิธีใหม่ๆ ในการดึงความสนใจของผู้คนให้เข้าใจและสนับสนุนวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตมากกว่านี้