คำถามที่ควรจะมาก่อน "ภาษีคนโสด"

คำถามที่ควรจะมาก่อน "ภาษีคนโสด"

ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา คนโสดทั่วไทยต้องร้อนๆ หนาวๆ เพราะกระแสข่าว “ภาษีคนโสด” ที่จุดติดในโลกออนไลน์ได้เร็วกว่าไฟลามทุ่ง

และด้วยความไม่รู้หรือเจตนาของผู้ที่หวังผลทางการเมือง ยังไม่ทันจะข้ามคืนดี ก็มีหลายคนเริ่มออกมาโจมตีรัฐบาล ทั้งที่ความจริงแล้ว ข้อเสนอนี้มาจากนักวิชาการท่านหนึ่ง เป็นการเสนอประเด็นเพื่อให้สังคมได้ขบคิดกันว่าเราจะเตรียมตัวรับมือกับสังคมผู้สูงอายุอย่างไร กระแสต่อต้านกลไกการคลังเพื่อส่งเสริมการมีคู่ ทำให้เรามองข้ามคำถามที่ควรจะมาก่อนการฟันธงว่าจะเก็บหรือไม่เก็บภาษีคนไร้คู่ คำถามที่ว่าคือ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีคนถึง 67 ล้านคนเชียวหรือ?

นักวิชาการที่เสนอแนวคิดนี้บอกว่าเราต้องเพิ่มคนเพื่อทดแทนกับประชากรเดิมที่แก่ตัวลงทุนวัน ซึ่งตีความได้ว่า เราควรรักษาระดับประชากรของประเทศไว้ที่ 65-67 ล้านคนต่อไป ก้าวแรกของการวิเคราะห์ เราต้องมองย้อนกับไปก่อนว่า การที่ประชากรราว 1 ใน 3 ของเรามีอายุเกิน 50 ปี (นับเฉพาะกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป) แสดงว่า ช่วงที่ประชากรเพิ่มขึ้นมากๆ เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังส่งเสริมการเติบโตของภาคเกษตรเพื่อการส่งออก ทำให้ครัวเรือนในภาคเกษตรต้องมีลูกเพิ่มขึ้น

ตอนนี้สถานการณ์ของต่างจากเมื่อ 50 ปีก่อน จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติในไตรมาสแรกของปี 2556 พบว่า แรงงานไทยจำนวน 38.5 ล้านคน มีประมาณ 15% ที่ทำงานไม่เต็มเวลา ตีความอ้อมๆ ก็คือ ตอนนี้เราจ้างคนมากเกินกว่าจุดที่มีประสิทธิภาพ แสดงว่า ความจริงแล้วเราต้องการคนแค่ 85% ของที่มีอยู่ นั่นคือ จำนวนประชากรไทยสามารถลดลงไปเหลือ 55 ล้านคนได้โดย GDP ไม่ได้รับผลกระทบ ถ้าเรารู้จักพัฒนาคนให้ทำงานได้เต็มศักยภาพ ด้วยเหตุนี้ คุณภาพการศึกษาจึงสำคัญกว่าการเพิ่มจำนวนหัวของประชากร

ผลการจัดอันดับล่าสุดของ World Economic Forum ก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า ปัญหาของประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องการขาดคน แต่เป็นการขาดคนเก่งพอที่จะทำงานได้ในระดับที่นายจ้างคาดหวัง จนทำให้อันดับด้านคุณภาพการศึกษาของเราได้อันดับโหล่ในอาเซียน ผลที่ได้จากการจัดอันดับนี้ สอดคล้องกับผลที่ได้จากข้อมูลการสำรวจสถานประกอบการในประเทศต่างๆ (Enterprise Survey) ของธนาคารโลก ในปี 2549 ซึ่งระบุว่า ในประเทศไทย นายจ้างประมาณร้อยละ 40 พบกับปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ ซึ่งหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เรามีปัญหานี้รุนแรงกว่าถึง 3 เท่า

แสดงว่าในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาปัญหาเรื่องการพัฒนาคนของไทยยังไม่ได้รับการแก้ไขเลย หากเรายอมรับว่า เศรษฐกิจยุคใหม่ไม่ได้เอาชนะกันด้วยกำลังมือ แต่เป็นการต่อสู้กันด้วยกำลังสมอง การเพิ่มกำลังมือโดยไม่ยกระดับกำลังสมอง จึงเป็นการเกาแบบไม่รู้ที่คัน ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่จำเป็นต้องรักษาจำนวนประชากรไว้ที่ 65-67 ล้านคน

ส่วนความเป็นห่วงว่าหากประชากรลดลง จะทำให้กำลังซื้อของประเทศลดลงนั้น คณิตศาสตร์เบื้องต้นบอกเราว่า ถ้าตัวตั้งเท่าเดิมแต่ตัวหารลดลง แต่ละคนจะได้ส่วนแบ่งมากขึ้น นั่นหมายความว่า ถ้าเราสามารถรักษา GDP ของประเทศให้มีขนาดเท่าเดิม โดยใช้คนที่น้อยลง รายได้ต่อหัวของคนไทยมากขึ้น ผลทางด้านกำลังซื้อจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าห่วง แถมการที่คนมีรายได้เพิ่มขึ้น จะทำให้มีการออมและการลงทุนเพิ่มขึ้น รัฐเองสามารถเพิ่มทรัพยากรที่ทุ่มไปในการพัฒนาคนและดูแลผู้สูงอายุได้มากกว่าเดิม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

การมีลูก (ถ้าไม่หน้ามืด) มักเป็นการตัดสินใจบนเหตุผลและความพร้อม คนจะเป็นพ่อเป็นแม่ต้องคิดสะระตะว่าจะมีปัญญาเลี้ยงลูกได้หรือเปล่า การที่เขาเลือกยังไม่มีลูก เพราะเขายังไม่พร้อม ไม่ใช่เป็นการก่ออาชญากรรมขนาดจะต้องมีมาตรการออกมาให้เขามีลูกก่อนเวลาอันควร ลองนึกดูว่า ถ้าเราอยู่คอนโดขนาด 30 ตารางเมตร เราอยากจะให้ลูกเกิดมาและโตในพื้นที่แค่นี้หรือ? พื้นที่และสภาพแวดล้อมส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก การเติบโตมาในที่ที่ไม่เหมาะสมย่อมส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจของเด็ก แสดงว่าถึงเขาโตขึ้น เขาก็ไม่สามารถใช้ความสามารถของตนเองได้เต็มร้อย

นอกจากนี้แล้ว การเลี้ยงลูกยังมีภาระทางจิตใจต่อพ่อกับแม่ ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถเข้ามาช่วยแบกรับได้เลย การคิดเชิงคณิตศาสตร์โดยไม่คิดถึงมิติความเป็นมนุษย์ของพ่อแม่ประกอบไปด้วย จึงไม่ใช่คำตอบที่เกิดจากการมองปัญหาในทุกมิติ ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน การ "มีลูกเมื่อพร้อม" คือ นโยบายการมีลูกที่ดีที่สุด

ข้อมูลชุดเดียวกันของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้ ระบุว่าประชากรที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมีถึง 1 ใน 3 ของประชากรที่มีอายุไม่น้อยกว่า 15 ปี แสดงว่า ภายใน 10 ปีข้างหน้า แรงงานกลุ่มนี้จะทยอยออกจากตลาดแรงงาน หากเราสมมติว่า รัฐนำภาษีคนโสด (และนโยบายลูกคนแรก) มาใช้จริงในวันนี้ และผู้หญิงที่มีครอบครัวตั้งท้องในทันที แสดงว่าอีก 7- 8 ปี คนที่อยู่ในกำลังแรงงานช่วงอายุระหว่าง 18 ถึง 35 ปีในวันนี้และตัดสินใจจะมีลูก (กลุ่มที่มีแนวโน้มจะมีลูกมากที่สุด) จะต้องรับภาระสองด้าน

ภาระที่ว่าคือการเลี้ยงดูเด็กและผู้สูงอายุในครอบครัวไปพร้อมๆ กัน เพราะเด็กที่เกิดในวันนี้ จะเข้าสู่วัยเรียน ทำให้มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ค่าใช้จ่ายทางตรงคือเงินที่พ่อแม่ต้องควักออกมาจ่ายค่าเทอม ค่าเสื้อผ้า ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกจิปาถะ ค่าใช้จ่ายทางอ้อมเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสเพราะมีเวลาทำงานและพักผ่อนน้อยลงกว่าเดิม ซึ่งจะส่งผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานด้วย เมื่อนำมาบวกกับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูผู้สูงอายุ ก็ทำให้ครอบครัวที่มีรายได้ไม่มากนักต้องอยู่ในสถานะเตี้ยอุ้มค่อม

แม้ว่ารัฐจะสนับสนุนด้านค่าใช้จ่าย เม็ดเงินที่สนับสนุนนโยบายนี้คิดแล้วคงเป็นเงินที่มากโขอยู่ หมายความว่า เงินจากภาษีคนโสดเพียงอย่างเดียวไม่น่าจะพอ เงินของคนจนที่จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มในร้านสะดวกซื้อมีสิทธิ์ถูกนำไปจ่ายค่าเสื้อผ้าค่าเล่าเรียนให้กับคนที่มีลูกด้วยเช่นกัน หากมองด้านความพร้อม คนที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายนี้มากที่สุด คือคนที่มีฐานะปานกลาง ซึ่งอีกนิดเดียวก็พร้อมจะมีลูกอยู่แล้ว เงินภาษีบางส่วนที่ได้จากคนจน จะถูกนำไปใช้ส่งเสียลูกของคนที่มีฐานะดีกว่า ไม่ว่าจะมองในมุมไหน มาตรการนี้ก็สอบไม่ผ่านเกณฑ์ด้านความเท่าเทียมกัน เป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของภาษีและการคลัง

ท้ายที่สุดคือ คนที่จะเสนอนโยบายด้านภาษีต้องเข้าใจด้วยว่า ภาษีไม่ได้เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ในบางโอกาสนโยบายภาษีที่ไม่มีการสร้างความเข้าใจถูกต้องให้กับประชาชน ถือเป็นการตีตราทางสังคมให้กับผู้ถูกเรียกเก็บภาษี ยังดีที่ข้อเสนอนี้เป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น หากจู่ๆ ความโสดก็กลายเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นมาจริงๆ สำนวนในโลกออนไลน์ที่ว่า “นามสกุลพี่ลดภาษีได้นะน้อง” คงกลายเป็นวลีฮิตในชั่วข้ามคืน

หมายเหตุ : ผมไม่สามารถสืบหาต้นตอของผู้ที่คิดสำนวน “นามสกุลพี่ลดภาษีได้นะน้อง” ได้ หากเจ้าของสำนวนได้อ่านบทความนี้ ผมขอยกความดีความชอบในย่อหน้าสุดท้ายให้กับท่านนะครับ