หมดยุคดอลลาร์อ่อนค่า

หมดยุคดอลลาร์อ่อนค่า

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน อีกไม่กี่วันเราจะได้ทราบว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินอย่างไร

หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐและการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้นักวิเคราะห์ในตลาดส่วนใหญ่ฟันธงว่า เฟดจะเดินหน้าลดวงเงินเข้าซื้อสินทรัพย์ หรือที่เรียกว่า QE Tapering ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย.นี้แน่นอน

จากการที่สภาพเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่นมีทิศทางดีขึ้น ประกอบกับแนวโน้มที่เฟดจะเริ่มลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินที่มีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ นี่เอง ทำให้นักลงทุนโยกย้ายเงินทุน หรือปรับ Asset Allocation ออกจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ทั้งหุ้นและตราสารหนี้ ไปสู่หุ้นตลาดพัฒนาแล้ว ส่งผลให้ค่าเงินสกุลต่างๆ อ่อนค่าลง อาทิ เงินบาทของไทยอ่อนค่าลงกว่า 13% จากระดับ 28.56 บาท/ดอลลาร์ เมื่อกลางเดือนเม.ย. มาอยู่ที่ระดับ 32.3 บาทต่อดอลลาร์ ในเดือนก.ย.

ส่วนอนาคตทิศทางค่าเงินบาทและสกุลเงินต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียนั้นจะเป็นอย่างไร ปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับทิศทางของเงินดอลลาร์ค่ะ ซึ่งในแวดวงนักลงทุนระยะยาวประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเริ่มเข้าสู่ยุค “ดอลลาร์ แข็งค่า” เพราะอะไรจึงประเมินกันเช่นนี้ ดิฉันขอยกบทวิเคราะห์ของ Bank of America Merrill Lynch: BofAML ซึ่งเขียนเรื่องนี้ไว้ค่อนข้างน่าสนใจมาเล่าให้ฟังค่ะ

BofAML มองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ รอบนี้ค่อนข้างแตกต่างจากการฟื้นตัวในอดีตที่เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวพร้อมๆ กับการเร่งขึ้นของการนำเข้า ซึ่งเป็นบ่อเกิดของปัญหาการขาดดุลการค้าต่อเนื่องยาวนาน แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐรอบนี้แม้จะเกิดจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ แต่ว่าการนำเข้ากลับไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ทำให้การขาดดุลการค้าของสหรัฐลดลงอย่างต่อเนื่อง BofAML มองว่าสถานการณ์นี้เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจสหรัฐมากกว่าจะเป็นเพียงการปรับตัวระยะสั้นๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น

เมื่อเจาะลึกลงไปว่าสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะอะไร BofAML แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

ประเด็นแรก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานของสหรัฐ จากที่เคยเป็นผู้นำเข้าพลังงานรายใหญ่ของโลก ปัจจุบันสหรัฐนำเข้าพลังงานลดลงต่อเนื่องโดยหันมาใช้พลังงานที่ผลิตในประเทศแทน จากข้อมูลล่าสุด แสดงให้เห็นว่า สหรัฐใช้พลังงานในประเทศเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 70 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 87 ณ ปัจจุบัน ทำให้การขาดดุลการค้าจากการนำเข้าพลังงานลดลงไปกว่าครึ่งหนึ่ง ปัจจัยหลักมาจากการพบก๊าซธรรมชาติที่ได้จากชั้นหิน (Shale Gas) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัวอย่างมากในสหรัฐและเป็นที่จับตามองของคนทั่วโลกนั่นเอง มีการคาดการณ์ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้สหรัฐจะกลายเป็นผู้ส่งออกพลังงาน (Net Exporter) รายใหญ่ของโลก

ประเด็นที่สอง ผู้บริโภคสหรัฐหันมาซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น ที่เห็นชัดเจนคือ รถยนต์ ปัจจุบันประชากรสหรัฐซื้อรถยนต์ที่ผลิตในสหรัฐเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 63 ในปี 2551 เป็นกว่าร้อยละ 73 ขณะเดียวกันครัวเรือนสหรัฐก็ลดการบริโภคสินค้านำเข้าลงอย่างต่อเนื่อง BofAML เชื่อว่า ประชากรสหรัฐมีแนวโน้มจะดำเนินพฤติกรรมเช่นนี้ต่อไป

ประเด็นที่สาม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของสหรัฐทำให้การบริโภคสินค้านำเข้าลดลง เนื่องจากประชากรในยุค Baby Boom กำลังเข้าสู่วัยสูงอายุ คนกลุ่มนี้จะให้ความสำคัญด้านการใช้จ่ายสินค้าบริการโดยเฉพาะบริการสาธารณสุขและบันเทิงเพิ่มขึ้น

สำหรับนักลงทุนแล้ว ค่าเงินดอลลาร์ ที่มีทิศทางแข็งค่าในระยะยาวย่อมกระทบกับการบริหารการลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะนักลงทุนที่มีการลงทุนในต่างประเทศ เพราะค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ย่อมหมายถึงค่าเงินสกุลเอเชียอาจอ่อนค่าลงนั่นเอง ดังนั้น การทบทวนนโยบายการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนจึงมีความจำเป็น
ที่ผ่านมา นักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศมักจะมีการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวนสำหรับตราสารหนี้ และปิดความเสี่ยงบางส่วนสำหรับการลงทุนในหุ้น แต่เมื่อเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลง การปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะในส่วนของหุ้นอาจมีความจำเป็นน้อยลง ส่วนตราสารหนี้ ดิฉันยังเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน เพราะนักลงทุนที่ซื้อตราสารหนี้มักจะต้องการความมั่นคงของเงินต้นเป็นสำคัญโดยผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยอาจจะไม่สูงมากนัก หากไม่ปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ในบางช่วงที่ค่าเงินบาทผันผวนในด้านแข็งค่าก็จะทำให้ผลตอบแทนรวมติดลบได้

แนวโน้มเงินดอลลาร์แข็งค่า นั้น ถือเป็นแนวโน้มระยะยาว โดยในระยะสั้นๆ ค่าเงินดอลลาร์ อาจจะผันผวนไปทางอ่อนค่าลงก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายในโลก จำเป็นอย่างยิ่งที่นักลงทุนต้องติดตามสถานการณ์และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนให้ทันท่วงที โดยต้องไม่ลืมคำนึงถึงต้นทุนของการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนว่าคุ้มหรือไม่ด้วย

สำหรับ กบข. นโยบายการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก นโยบายระยะยาวกำหนดให้ตราสารหนี้ต่างประเทศต้องมีการปิดความเสี่ยงเต็มจำนวน เนื่องจากเป็นหลักทรัพย์ที่มีผลตอบแทนไม่สูงนัก ในขณะที่หุ้นและการลงทุนทางเลือกไม่ควรมีการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพราะผลตอบแทนที่ได้อยู่ในระดับสูงเพียงพอที่จะรองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนนโยบายระยะสั้นนั้น กบข. จะมีการบริหารจัดการความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามความเหมาะสม โดยหากช่วงไหนคาดว่าค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าก็จะมีการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น และทำกลับกันหากคาดว่าเงินบาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่า