อนาคตเศรษฐกิจไทยภายใต้กับดักประเทศรายได้ปานกลาง (2)

อนาคตเศรษฐกิจไทยภายใต้กับดักประเทศรายได้ปานกลาง (2)

เมื่อวานนี้ เราพูดกันว่า ประเทศไทยได้หลุดพ้นกำแพงชั้นแรกจากประเทศรายได้ปานกลางขั้นต่ำ (เช่น เวียดนาม ลาว เขมร)

เข้ามาอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูงแล้ว กล่าวคือก้าวข้ามกำแพงชั้นที่ 1 แล้วแต่ยังติดอยู่ระหว่างกำแพงชั้นที่ 1 และ 2 คำถามที่สำคัญ 2 คำถามที่ตามมาก็คือ หนึ่ง ทำไมถึงคิดว่า เราติดกับดัก และสอง เราจะหลุดจากกับดักเมื่อไหร่

ดร.นณริฎ พิศลยบุตร นักวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้คำอธิบายว่า เพราะไทยมีผลิตภาพการผลิตที่ค่อนข้างต่ำ ในปี 2551 ประเทศไทยมีผลิตภาพทางการผลิตอยู่ที่ระดับ 13,500 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม G7 อยู่ที่ระดับ 70,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีผลิตภาพของแรงงานที่สูงที่สุดในกลุ่ม โดยอยู่ที่ประมาณ 86,000 ดอลลาร์สหรัฐ ช่องว่างระหว่างผลิตภาพของแรงงานของไทยกับประเทศในกลุ่ม G7 อยู่ที่ระดับ 5-6 เท่า นั่นหมายถึง ไทยจะต้องมีการพัฒนาผลิตภาพของแรงงานเพิ่มขึ้น 5-6 เท่าถึงจะสามารถตามทันผลิตภาพของแรงงานที่เส้นขอบเขตการผลิตโลก (World’s frontier) โดยนิยามของเส้นขอบเขตการผลิตโลก (World’s frontier) คือเส้นที่แสดงถึงผลิตภาพทางการผลิตเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ G7

ในปี 2550 ผลิตภาพแรงงานของไทยต่ำกว่าค่าต่ำสุดของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วใหม่ คือประเทศเอสโตเนีย (37,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ประมาณ 2.75 เท่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วใหม่ประกอบไปด้วย ไซปรัส สาธารณรัฐเชก เอสโตเนีย จีนเฉพาะเขตฮ่องกง อิสราเอล เกาหลีใต้ มอลตา สิงคโปร์ สโลเวเนีย สโลวาเกีย และไต้หวัน ความห่างดังกล่าวมีความใกล้เคียงกับการจัดอันดับโดยใช้ดัชนีชี้วัดทางรายได้ของ World Bank (2011) ซึ่งได้ใช้ดัชนีชี้วัดทางด้านรายได้ โดยใช้รายได้ต่อหัวประชากรเป็นหลัก พบว่าในปี พ.ศ. 2554 ช่องว่างของรายได้ต่อหัวประชากรของประเทศไทยกับประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ที่ประมาณ 3 เท่า

TDRI ได้คำนวณว่า หากสมมติให้ไทยมีอัตราเจริญเติบโตของผลิตภาพของแรงงานแบบทบต้นอยู่ที่ร้อยละ 7 ต่อปี นับจากปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป ไทยจะก้าวข้ามเส้นที่แสดงสถานะประเทศที่พัฒนาแล้วในปี พ.ศ. 2565 หรือใช้ระยะเวลารวม 15 ปีในการข้ามเส้นดังกล่าว หากอัตราเจริญเติบโตของผลิตภาพของแรงงานมีอัตราที่ลดลง ประเทศไทยต้องใช้ระยะเวลามากขึ้น เช่นในกรณีที่ประเทศไทยมีอัตราเจริญเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 4-5 ต่อปี จะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 21-26 ปี เพื่อไล่ทันเส้นสถานะประเทศที่พัฒนาแล้ว และหากไทยมีอัตราเจริญเติบโตที่ต่ำมาก ระยะเวลาที่ใช้อาจจะนานถึง 50-100 ปี ก็เป็นได้

นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นแค่นี้ก่อนนะคะ เดือนหน้าเราจะมาคุยกันต่อว่า อนาคตไทยในสายตาของผู้ทรงคุณวุฒิจะเป็นอย่างไร

ดาวน์โหลดเอกสารงานวิจัยฟรีได้ที่ www.tuhpp.net