ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กับการปรับราคา

ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กับการปรับราคา

เมื่อตอนที่ผ่านมาผมคิดว่าจะมาเขียนต่อในประเด็นที่เกี่ยวกับการให้สัมปทานปิโตรเลียมของประเทศไทย แต่ขออนุญาตผลัดไปก่อนนะครับ

เพราะมีประเด็นที่คิดว่าควรจะมาพูดถึงก่อน ทั้งนี้ก็เนื่องจากเมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา ก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือก๊าซ LPG สำหรับภาคครัวเรือนนั้นก็ได้มีการปรับราคาขึ้นกิโลกรัมละ 0.50 บาทต่อกิโลกรัมตามนโยบายของรัฐบาลไปแล้ว และก็จะปรับขึ้นอีกเดือนละ 0.50 บาทต่อกิโลกรัมต่อเดือนทั้งหมด 12 เดือนหรือ 1 ปี ซึ่งจากที่ได้ติดตามข่าวนั้น เป้าหมายของรัฐบาลที่จะให้ราคาก๊าซ LPG ไปถึงนั้นอยู่ที่ 24.82 บาทต่อกิโลกรัม แต่ทั้งนี้ ไม่รวมก๊าซ LPG ที่ขายให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ได้มีการปรับเลยไปแล้ว

สำหรับความจำเป็นที่ต้องมีการปรับราคาก๊าซ LPG นั้น ผมได้เคยกล่าวถึงไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ก็ขอสรุปให้ท่านผู้อ่านอีกครั้งนะครับว่าปัจจุบัน เรามีการใช้ก๊าซ LPG ที่ผลิตได้จากกระบวนการแยกก๊าซในโรงแยกก๊าซธรรมชาติและที่ผลิตได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันในโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งก๊าซ LPG ที่มาจากทั้งสองแหล่งนี้ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ก๊าซ LPG ภายในประเทศ ดังนั้น เราจึงมีก๊าซ LPG ที่มาจากการนำเข้าจากต่างประเทศอีกปริมาณหนึ่ง

สำหรับก๊าซ LPG ที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซธรรมชาตินั้นก็ใช้วัตถุดิบที่เรามีอยู่ในประเทศคือก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากอ่าวไทย ซึ่งมีคุณสมบัติที่เราเรียกว่าเป็นก๊าซเปียก หรือ Wet Gas สามารถที่จะนำไปแยกสารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดต่างๆ ออกมาได้ เช่น อีเทน โพรเพน บิวเทน เป็นต้น ซึ่งโพรเพนและบิวเทนนี้เองที่นำมาผสมกันออกมาเป็นก๊าซ LPG ที่เราใช้กันอยู่ สำหรับก๊าซธรรมชาติที่เรานำเข้ามาจากพม่าและที่นำเข้ามาเป็นรูปของก๊าซธรรมชาติเหลว (หรือ LNG) นั้นจะไม่สามารถนำมาแยกได้เนื่องจากมีคุณสมบัติเป็นก๊าซแห้ง (Dry Gas) ดังนั้น ถ้ามองถึงต้นทุนของก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตก๊าซ LPG ในโรงแยกก๊าซธรรมชาตินั้นจึงเป็นราคาก๊าซเฉลี่ยที่มาจากอ่าวไทยเท่านั้น

เมื่อมาดูถึงต้นทุนการผลิตก๊าซ LPG ที่มาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติแล้วจึงประกอบไปด้วยต้นทุนวัตถุดิบซึ่งก็คือราคาเฉลี่ยก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ต้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปรของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ซึ่งตามผลการศึกษาของกระทรวงพลังงานที่เคยจ้างที่ปรึกษาศึกษานั้น ต้นทุนก๊าซ LPG ที่ออกมาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 550 ดอลลาร์ต่อตัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐกำหนดให้ราคาก๊าซ LPG ในประเทศซึ่งไม่รวมภาษีและกองทุนต่างๆ ให้อยู่ที่ 333 ดอลลาร์ต่อตัน ดังนั้น ผลต่างต้นทุนกับราคาที่รัฐกำหนดนั้น โรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นผู้รับภาระไป เพราะผลิตที่ต้นทุนที่สูงกว่าแต่ขายในราคาต่ำกว่า

สำหรับราคาก๊าซ LPG ที่ผลิตจากโรงกลั่นน้ำมันซึ่งใช้น้ำมันดิบเป็นวัตถุดิบนั้น รัฐได้มีการกำหนดสูตรราคา LPG ที่ผลิตจากโรงกลั่นไว้คือเป็นราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาตลาดโลกหรือที่เรียกว่า Contract Price หรือราคา CP ซึ่งจะประกาศโดย Platts สิงคโปร์ทุกเดือนโดยใช้น้ำหนักร้อยละ 76 และราคาตามที่รัฐกำหนดที่ 333 ดอลลาร์ต่อตันโดยใช้น้ำหนักร้อยละ 24 ซึ่งเมื่อมีราคา CP เข้ามาเฉลี่ยด้วยนั้น จึงทำให้ราคา LPG ที่ผลิตจากโรงกลั่นนั้นมีราคาที่สูงกว่าราคาที่รัฐกำหนด ซึ่งส่วนต่างนี้รัฐก็ได้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปชดเชย

สำหรับก๊าซ LPG ที่นำเข้านั้นเราก็ต้องซื้อมาในราคาตลาดโลกอยู่แล้ว แต่เมื่อนำเข้ามาขายในประเทศก็ขายได้แค่ 333 ดอลลาร์ต่อตัน หากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ก็จะไม่มีใครอยากจะนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ดังนั้น เพื่อป้องกันก๊าซ LPG ขาดแคลน รัฐจึงต้องเข้าไปชดเชยส่วนต่างราคานั้น

แล้วคำถามต่อมาก็คือทำไมต้องเป็น ปตท. นำเข้าผู้เดียว แล้วผู้ประกอบการรายอื่นๆ ล่ะนำเข้าไม่ได้หรือ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ต้องบอกว่าผู้ประกอบการที่มีการจดทะเบียนเป็นผู้ค้ามาตรา 7 ทุกรายสามารถนำเข้าก๊าซ LPG ได้ รัฐไม่ได้มีกฎหมายห้ามผู้ประกอบการดังกล่าวนำเข้าก๊าซ LPG แต่ประการใด แต่ข้อจำกัดของผู้ประกอบการรายอื่นๆ คือไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ใช้สำหรับการนำเข้าที่เพียงพอ เช่น ท่าเรือนำเข้า หรือคลังเก็บก๊าซ LPG การที่ผู้ประกอบการเหล่านั้นจะสามารถนำเข้าก๊าซ LPG ได้นั้นก็จะต้องมีการลงทุนสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกดังกล่าวก่อนซึ่งจะต้องใช้เป็นจำนวนเงินลงทุนที่สูงมากๆ ดังนั้น จึงดูแล้วไม่คุ้มทุนที่จะลงทุน ส่วน ปตท. มีท่าเรือและคลังอยู่แล้ว ประกอบกับเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐซึ่งก็คือกระทรวงพลังงาน จึงจำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการนำเข้าก๊าซ LPG เพื่อให้มีปริมาณก๊าซ LPG ที่รองรับได้กับความต้องการภายในประเทศและเป็นการช่วยลดปัญหาการขาดแคลนก๊าซ LPG ด้วย

คราวนี้เรามาดูกันต่อที่โครงสร้างราคาก๊าซ LPG ที่ประกาศโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน โดยในโครงสร้างราคาก๊าซ LPG นั้นประกอบด้วยส่วนแรกคือราคาหน้าโรงกลั่น โดยเมื่อดูจากข้อมูลของทาง สนพ. นั้น ราคาหน้าโรงกลั่นของก๊าซ LPG เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2556 นั้นจะเท่ากับ 10.56 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งก็มีบางคนไม่เข้าใจคิดว่าราคาหน้าโรงกลั่นนี้ก็คือต้นทุนของก๊าซ LPG เนื่องจากเห็นว่าเป็นราคาเริ่มต้นที่ใช้ในการคำนวณราคาขายปลีกก๊าซ LPG ที่ยังไม่ได้รวมกับภาษีและกองทุนน้ำมัน แต่ในความเป็นจริงแล้วราคา ณ โรงกลั่นนี้ไม่ใช่ต้นทุนของก๊าซ LPG แต่เป็นราคาที่คำนวณมาจากราคาก๊าซ LPG ที่รัฐกำหนดไว้ที่ 333 ดอลลาร์ต่อตัน โดยราคาหน้าโรงกลั่นนี้จะเปลี่ยนแปลงทุกวันขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละวัน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากที่ผมได้กล่าวไปข้างต้น ราคาหน้าโรงกลั่นนี้ไม่ได้สะท้อนต้นทุนของก๊าซ LPG เลยไม่ว่าจะมาจากแหล่งใด แต่เป็นราคาที่รัฐได้ใช้ในการตรึงราคาก๊าซ LPG มาตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา

เมื่อพิจารณาราคาก๊าซ LPG ที่มาจากทั้งโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน และจากการนำเข้าแล้วตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว ราคาหน้าโรงกลั่นที่ควรจะเป็นนั้นจะต้องสูงกว่า 333 ดอลลาร์ต่อตันหรือสูงกว่า 10.56 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งส่วนที่เรามองไม่เห็นและก็ไม่ได้อยู่ในโครงสร้างราคาก๊าซ LPG นี้ก็คือส่วนที่รัฐได้มีการจ่ายเงินชดเชยไปแล้วเพื่อที่จะให้ราคาหน้าโรงกลั่นของก๊าซ LPG อยู่ที่ระดับ 333 ดอลลาร์ต่อตัน โดยชดเชยให้สำหรับก๊าซ LPG ที่ผลิตจากโรงกลั่นน้ำมัน และจากการนำเข้า ยกเว้นก๊าซ LPG ที่มาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ที่ ปตท. เป็นผู้รับภาระในการชดเชย ดังนั้น ราคาหน้าโรงกลั่นจึงไม่ใช่ต้นทุนของก๊าซ LPG ตามที่หลายคนเข้าใจแต่อย่างใดครับ

การปรับราคาครั้งนี้จึงไม่ใช่การปรับเพื่อขึ้นราคา แต่เป็นการปรับเพื่อลดภาระของเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเก็บจากผู้ใช้น้ำมันนั้นเอง อย่างไรก็ตาม รัฐก็ได้มีนโยบายดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยซึ่งก็กำหนดไว้ว่าเป็นผู้ที่มีการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยปี 2555 ไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือนรวมถึงผู้ไม่มีไฟฟ้าใช้ และร้านค้าอาหาร หาบเร่แผงลอย ที่รัฐมองว่าจะกระทบกับราคาอาหารและค่าครองชีพของประชาชน โดยกลุ่มที่ได้กล่าวมานี้ ยังสามารถซื้อก๊าซ LPG ได้ในราคาเดิม

นอกจากนี้ จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ การปรับราคาก๊าซ LPG นั้นมีผลกระทบต่อราคาอาหารน้อยมาก โดยการปรับราคาขึ้น 0.50 บาทต่อกิโลกรัม ราคาค่าอาหารต่อจานนั้นจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 0.025 สตางค์ต่อจาน (2.5 สตางค์ต่อจาน) เท่านั้น ดังนั้นการปรับขึ้นราคา LPG นั้นจะไม่กระทบต่อราคาอาหารแต่ประการใด

การปรับราคาก๊าซ LPG ยังเป็นการช่วยแก้ปัญหาการลักลอบส่งออกก๊าซ LPG ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ราคาก๊าซ LPG ที่ขายในประเทศนั้นจะต่ำกว่าราคาที่ขายอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านของเรา ทำให้มีการลักลอบนำก๊าซ LPG ส่งไปขายในประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก ขณะที่รัฐจ่ายชดเชยให้ราคาก๊าซ LPG ในประเทศให้อยู่ในราคาที่ต่ำ การลักลอบนั้นก็ทำให้เราต้องจ่ายชดเชยให้กับก๊าซ LPG ที่ถูกลักลอบออกไปขายในประเทศเพื่อนบ้านด้วย ในแต่ละปีก๊าซ LPG ที่มีการลักลอบนั้นมีเป็นจำนวนมากถึง 5-6 พันตัน

การปรับราคาก๊าซ LPG จึงไม่เพียงแต่ลดภาระของกองทุนน้ำมันฯ เท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงของการใช้ก๊าซ LPG ในระยะยาวด้วย โดยเฉพาะเรากำลังจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC