อนาคตเศรษฐกิจไทยภายใต้กับดักประเทศรายได้ปานกลาง (1)

อนาคตเศรษฐกิจไทยภายใต้กับดักประเทศรายได้ปานกลาง (1)

ท่านผู้อ่านคะ ในช่วง 3 - 4 เดือนข้างหน้านี้ คอลัมน์นี้จะเน้นหนักเกี่ยวกับอนาคตประเทศไทย

ซึ่งเป็นผลงานของแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี ของสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทั้งนี้ ทางแผนงานได้ขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านทำการรวบรวมข้อมูลและศึกษาประเด็นสำคัญๆ ที่เป็นพื้นฐานของการมองอนาคตของประเทศไทย เช่น การทบทวนสถานภาพชีวิตคนไทยและประเทศไทยในปัจจุบัน การศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองไทย ทางเลือกพลังงานในอนาคต อนาคตเกษตรไทย รวมทั้งคอร์รัปชันที่กัดกร่อนความมั่นคงพื้นฐานของประเทศไทยวันนี้เราจะมาลองดูว่าเศรษฐกิจไทยที่ก้าวหน้าจนถึงปัจจุบัน จะสามารถเดินหน้าต่อไปอย่างต่อเนื่องได้หรือไม่

การศึกษาที่จะเสนอในวันนี้เป็นการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดย ดร.นณริฎ พิศลยบุตร ซึ่งจะต้องวิจัยเพื่อตอบคำถามว่า ประเทศไทยจะก้าวหน้าและกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วเมื่อไร เพื่อให้ถึงจุดนั้นโดยเร็วควรมีนโยบายสาธารณะอย่างไร

ผู้อ่านคงจะจำกันได้ว่าในปี 2554 ธนาคารโลก (World Bank) ได้ยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทย จากระดับประเทศที่มีรายได้ปานกลางขั้นต่ำ (Lower middle-income country) ขึ้นมาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางขั้นสูง (Upper middle-income country) ด้วยเหตุที่ว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศในระดับหนึ่งแล้ว ตัวอย่างเช่น อัตราการขยายตัวของผลผลิตมวลรวมในระยะเวลากว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมา (ปี 2504-2552) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 6.2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และคนไทยอยู่เหนือระดับจากความยากจนเป็นจำนวนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยทั้งประเทศ

แต่เนื่องจากความได้เปรียบทางด้านต้นทุนแรงงานซึ่งประเทศเคยมีจะเริ่มลดลงอีกทั้งพลังงานในอ่าวไทยก็กำลังจะหมดไปในอีก 18 ปีข้างหน้าจึงจำเป็นที่ประเทศของเราจะต้องเข้าใจสถานภาพและสมรรถนะของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันเพื่อหารูปแบบการพัฒนาประเทศแบบใหม่ที่เหมาะสมและเพื่อให้เกิดความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ วิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งเศรษฐกิจการเมืองและสังคมทำให้ความมั่นใจในอนาคตไทยเริ่มคลอนแคลนลง ประเทศไทยจะสามารถก้าวข้ามสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “กับดักรายได้ปานกลาง” ได้หรือไม่

กับดักรายได้ปานกลางคืออะไร คือปรากฏการณ์ที่ประเทศที่เคยยกระดับรายได้จากการเป็นประเทศที่ยากจนมาเป็นประเทศรายได้ปานกลาง แต่หลังจากนั้นกลับไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศรายได้สูงได้ จึงเปรียบเสมือนการติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง ไม่สามารถยกระดับเศรษฐกิจให้ก้าวข้ามไปเป็น ประเทศที่พัฒนาแล้วได้

ทำไมถึงคิดว่าประเทศไทยตกอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง

นักวิชาการบางท่านได้นิยามว่ากับดักรายได้ปานกลางหมายถึง มีระดับรายได้บางระดับที่เป็นเสมือน “กำแพง” ที่ประเทศที่ติดกับดักไม่สามารถจะก้าวข้ามได้ ซึ่งได้มีผู้เสนอไว้ที่ 7,250 ดอลลาร์สหรัฐ และกำแพงชั้นที่ 2 เป็นระดับรายได้ต่อหัวประชากรเท่ากับ 11,750 ดอลลาร์สหรัฐ โดยกำแพงชั้นแรกจะเป็นกับดักสำหรับประเทศที่มีรายได้อยู่ในระดับปานกลางกลุ่มล่าง (Lower-middle income) ในขณะที่กำแพงชั้นที่สองจะเป็นกับดักสำหรับประเทศที่มีรายได้อยู่ในระดับปานกลางกลุ่มบน (Upper-middle income) (Felipe 2012) รายได้ต่อหัวประชากรของไทย ณ ปี ค.ศ. 2010 อยู่ที่ระดับ 9,143 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งบ่งชี้ว่าประเทศไทยได้ก้าวข้ามกำแพงชั้นแรกเรียบร้อยแล้ว สำหรับกับดักรายได้ปานกลางกลุ่มบนนั้น การที่ประเทศไทยจะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางนั้น TDRI บอกว่า รายได้ต่อหัวประชากรจะต้องมีอัตราเจริญเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี

นักเศรษฐศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่ง (Eichengreen, Chin and Park 2011) ได้ระบุเกณฑ์การเลือกประเทศที่ติดกับดัก โดยระบุให้เป็นประเทศที่มีอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าร้อยละ 3.5 โดยเฉลี่ยในอดีต และมีการขยายตัวเฉลี่ยลดลงจากในอดีตอย่างน้อยร้อยละ 2 หลังจากรายได้ขึ้นมาแตะที่ระดับ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัวประชากร (ณ ราคาคงที่ปี 2005)

หากใช้กฎเกณฑ์ดังกล่าวกับประเทศไทย (รูปที่ 1) จะพบว่า ประเทศไทยเคยมีอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยในระดับที่ค่อนข้างสูง และอัตราเจริญเติบโตดังกล่าวได้ลดลงมากกว่าร้อยละ 2 ในภายหลัง จึงบ่งชี้ว่าประเทศไทยได้ติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง

เมื่อไรประเทศไทยจึงจะก้าวพ้นกับดักเสียที เรื่องนี้เรามาติดตามกันต่อในวันพรุ่งนี้นะคะ