ลดภาษีกดดันผู้ผลิตปรับตัว

ลดภาษีกดดันผู้ผลิตปรับตัว

ดูจะออกมาผิดจังหวะไปสักหน่อย สำหรับข่าวกรณีรัฐบาลมีแผน จะปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าราคาแพง ประเภทแบรนด์เนม

เพราะเป็นช่วงที่ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีพนั้นมีราคาแพง กระทบค่าครองชีพของคนในประเทศปรับสูงขึ้น จนถูกวิพากษ์วิจารณ์กันว่า รัฐบาลกำลังลดค่าครองชีพคนรวย ขณะที่ คนจนกำลังเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

รัฐบาลให้เหตุผลว่า ภาคการท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในมาตรการของรัฐบาลที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะลอตัวในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาให้กลับมาดีขึ้นในช่วงปลายปี ปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เดินทางเข้ามามากกว่าเป้าหมาย หรือ กว่า 20 ล้านคน และ มีแนวโน้มที่จะเข้ามากขึ้นในช่วงปลายปี หากเร่งคลอดมาตรการลดภาษีสินค้าดังกล่าว จะกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

ฟากของผู้ผลิตในประเทศออกมาคัดค้านและขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายนี้ โดยระบุว่า จะทำให้สินค้าต่างประเทศเข้ามาตีตลาดในไทย ที่สุดแล้ว จะทำให้ผู้ประกอบการในประเทศอยู่ไม่ได้ และ ต้องปิดตัวลง แต่ในฟากของผู้ประกอบการนำเข้า ซึ่งเป็นกลุ่มออกแรงผลักดันมาตรการดังกล่าว ได้ออกมาสนับสนุนแนวนโยบายนี้เต็มที่ เพราะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ สินค้าแบรนด์เนมราคาสูง ถูกจัดในกลุ่มสินค้าเกินความจำเป็นหรือฟุ่มเฟือย ก็ต่อเมื่อรัฐบาลต้องการจะปรับขึ้นอัตราภาษี เพื่อลดการใช้จ่าย แต่เมื่อใดที่รัฐบาลต้องการจะปรับลดภาษี สินค้าดังกล่าวจะถูกอ้างว่า เป็นสินค้าที่จะนำรายได้เข้าประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ปัจจุบันสินค้าแบรนด์เนมนำเข้าถูกจัดเก็บภาษีในอัตราสูงประมาณ 30% ขณะที่ ประเทศคู่แข่งอย่างสิงคโปร์ และ ฮ่องกง เก็บภาษีในอัตรา 0%

หากมองถึงแนวโน้มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าในระยะต่อไป จะพบว่า กำแพงด้านภาษีจะทยอยลดลง ปัจจุบันสินค้านำเข้ามาในประเทศที่มีแหล่งกำเนิดในอาเซียน อัตราภาษีลดเหลือ 0% แทบจะทุกรายการสินค้า และ แม้จะมีกำแพงภาษีสำหรับนอกประเทศในกลุ่มอาเซียน ก็มักจะมีช่องโหว่ให้ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตต่างประเทศนำมาใช้ เพื่อให้อัตราภาษีอยู่ในระดับที่ต่ำลง

ส่วนข้อกังวลเรื่องปัญหาการขาดดุลการค้า ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ประเด็นนี้ ก็ไม่น่าจะเป็นข้อที่ทำให้เกิดความกังวลมากนัก ในช่วงนั้น อัตราภาษีสินค้านำเข้าประเภทแบรนด์เนมเคยสูงกว่า 50% แต่การนำเข้าก็ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ ภาคการส่งออกยังทำได้ไม่ดีนัก ทำให้เกิดปัญหาการขาดดุลการค้า แต่ในระยะที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ภาคการส่งออกของไทยยังอยู่ในระดับขยายตัวได้ แม้จะชะลอตัวลงบ้างในช่วงนี้

ขณะเดียวกัน ไม่ต้องเป็นห่วงว่า คนไทยจะใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพราะควรที่จะยอมรับกับข้อเท็จจริงที่ว่า ทุกวันนี้ นักช้อปชาวไทยขนเงินไปซื้อสินค้าแบรนด์เนมในต่างประเทศกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากสามารถเก็บข้อมูลเม็ดเงินที่คนไทยขนเงินไปชอปปิ้งสินค้าเหล่านี้ ก็คงจะเห็นภาพได้มากขึ้น กรณีนี้ ยังไม่นับรวมกับการนำเข้าในลักษณะที่หลีกเลี่ยงภาษี ทำให้เม็ดเงินรายได้ของรัฐบาลขาดหายไปด้วย

เมื่อภาคบริการท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้ที่ไม่ต้องให้เงินลงทุนมาก เหมือนกับการผลิตในภาคต่างๆ รัฐบาลจึงมีเป้าหมายที่จะสนับสนุน โดยนอกเหนือจากการดึงเงินออกจากกระเป๋าของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยแผนการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมต่างๆ แล้ว เป้าหมายสำคัญของรัฐบาล คือ ต้องการส่งสัญญาณให้ผู้ผลิตในประเทศต้องเร่งปรับตัว เพื่อรับกับทิศทางการแข่งขันทางการค้าที่จะรุนแรงขึ้นในอนาคต