เรื่องน่ารู้ของทีวีดิจิทัล

เรื่องน่ารู้ของทีวีดิจิทัล

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน ช่วงนี้มีข่าวเกี่ยวกับทีวีดิจิทัล หรือ Digital Terrestrial TV ออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประมูลใบอนุญาต

หรือเครื่องรับทีวีดิจิทัล หรือกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล วันนี้เรามาศึกษากันค่ะว่ารูปแบบสถานีโทรทัศน์ที่เรารับชมกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นอย่างไร และระบบทีวีดิจิทัลคืออะไร

รายการโทรทัศน์ที่เรารับชมกันอยู่ทุกวันนี้มี 2 ลักษณะคือ ช่องรายการที่รับชมฟรี เช่น ช่อง 3 5 7 9 กับช่องรายการที่ต้องเสียเงินซื้อกล่องมาเพื่อรับชมรายการ ไม่ว่าจะเป็นช่องรายการผ่านระบบดาวเทียมหรือเคเบิล วันนี้เราจะมาศึกษากันในส่วนของช่องรายการที่รับชมฟรี ซึ่งได้แก่ สถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (Terrestrial TV) ปัจจุบันมีผู้ให้บริการสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดิน โดยแบ่งแยกตามผู้ดำเนินการ ได้แก่

1. สถานีโทรทัศน์ที่ดำเนินการโดย บมจ. อสมท (ช่องโมเดิร์นไนน์ ทีวี หรือช่อง 9)

2. สถานีโทรทัศน์ที่ดำเนินการโดย กองทัพบก (ช่อง 5)

3. สถานที่โทรทัศน์ที่หน่วยงานของรัฐได้ร่วมดำเนินการกับเอกชน 2 รายคือ บจ. กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ (ช่อง 7) ที่ได้รับสัมปทานมาจากกองทัพบกและมีสิทธิออกอากาศจนถึงปี 2566 บจ. บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ (ช่อง 3) ที่ได้รับสัมปทานมาจากบมจ. อสมท และมีสิทธิออกอากาศจนถึงปี 2563

4. สถานีโทรทัศน์แห่งชาติดำเนินการโดยกรมประชาสัมพันธ์ (หรือเดิมคือช่อง 11 ซึ่งปัจจุบันคือช่อง NBT)

5. สถานีโทรทัศน์สาธารณะ ดำเนินการโดยองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ช่อง Thai PBS)

ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า สถานีโทรทัศน์ที่กล่าวข้างต้นนี้ ส่วนหนึ่งดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐเอง และส่วนหนึ่งดำเนินงานโดยภาคเอกชนภายใต้สัญญาสัมปทาน (เว้นแต่ช่อง Thai PBS ซึ่งแต่เดิมดำเนินงานโดย ไอทีวีภายใต้สัญญาสัมปทาน โดยปัจจุบันมีการตรากฎหมายเพื่อการบริหารงานทีวีช่องนี้โดยเฉพาะ)

การประมูลทีวีดิจิทัลในครั้งนี้มีความสำคัญ และเป็นจุดเปลี่ยนของวงการโทรทัศน์ในบ้านเรา ที่ผู้เขียนกล่าวว่าเป็นจุดเปลี่ยนเนื่องจาก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คลื่นความถี่ที่ใช้ในการจัดทำสถานีโทรทัศน์นั้นเป็นของรัฐ โดยการบริหารงานสถานีโทรทัศน์ปัจจุบัน รัฐดำเนินการเองบางส่วน และบางส่วนได้ให้สัมปทานแก่เอกชนมาดำเนินการ จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2543 ประเทศไทยได้ประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 (ปัจจุบันคือพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553) และ ได้ตราพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ขึ้นใช้บังคับในปี พ.ศ. 2551 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเปลี่ยนระบบสัมปทานไปเป็นระบบใบอนุญาต โดยมีหน่วยงานที่กำกับดูแลคือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (หรือที่เรารู้จักกันในชื่อย่อว่า “กสทช.”) ซึ่งจุดเปลี่ยนนี้ เหมือนกับจุดเปลี่ยนของวงการมือถือในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่แต่เดิมเอกชนที่ประกอบกิจการมือถือ ก็ได้รับสัมปทานมาจากรัฐ และต่อมาก็เปลี่ยนจากระบบสัมปทานมาเป็นระบบใบอนุญาตเช่นกัน ตามที่ได้มีการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่กันไปแล้ว

เรามาศึกษากันต่อว่ามีอะไรใหม่ในระบบทีวีดิจิทัล ปัจจุบันระบบการออกอากาศช่องฟรีทีวีใช้ระบบอนาล็อกผ่านย่านความถี่ VHF ที่สามารถออกอากาศได้เพียงช่องเดียว ในขณะที่ระบบดิจิทัลใช้ย่านความถี่ UHF ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า โดยสามารถออกอากาศได้มากถึง 8 - 25 ช่อง และสามารถให้บริการที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ช่องที่มีความคมชัดปกติ (SD) ช่องที่มีความคมชัดสูง (HD) ช่องสามมิติ หรือรายการตามสั่ง (Video-on-demand) เป็นต้น ซึ่งถ้าเทียบกับวงการมือถือ แต่เดิมใช้เทคโนโลยีระบบ 2จี ซึ่งมีข้อจำกัดในการใช้งาน ในขณะที่เทคโนโลยี 3จี มีศักยภาพในการใช้งานได้หลากหลายมากกว่า

ท่านผู้อ่านสงสัยกันหรือไม่ว่า ทำไมประเทศไทยจึงจำเป็นต้องจัดการประมูลทีวีดิจิทัลในช่วงเวลานี้ สืบเนื่องจากที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน ซึ่งการประชุมดังกล่าว ได้มีการหารือถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่โทรทัศน์ระบบดิจิทัลร่วมกันในกลุ่มอาเซียน โดยได้กำหนดกรอบเวลาการยุติการออกอากาศโทรทัศน์ในระบบอนาล็อกในระหว่างปี 2558 - 2563 อย่างไรก็ดี มิใช่ว่าเมื่อการประมูลสิ้นสุดลงแล้ว ท่านผู้อ่านจะไม่สามารถรับชมช่องฟรีทีวีในระบบอนาล็อกในทันที เพราะ กสทช. ได้กำหนดให้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ผู้ให้บริการต้องออกอากาศช่องรายการทั้งบนระบบอนาล็อกและระบบดิจิทัล

คงมีท่านผู้อ่านจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะเปลี่ยนเครื่องทีวีเพื่อสามารถรับชมช่องรายการในระบบทีวีดิจิทัล เนื่องจากทีวีรุ่นเก่าไม่สามารถรองรับระบบทีวีดิจิทัลได้ หรือหากจะยังคงใช้ทีวีรุ่นเก่า ก็จะต้องซื้อกล่องเพื่อรองรับระบบดิจิทัล ซึ่งเข้าใจว่า กสทช. มีนโยบายมอบคูปองส่วนลดให้กับผู้ที่ต้องซื้อกล่องดังกล่าว ทีนี้ ปัญหาที่จะตามมาคือ เครื่องทีวีเก่าดังกล่าวจะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องเตรียมการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวอย่างทันท่วงที และนอกจากการเตรียมรับมือกับขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้ว การกำกับดูแล การออกกฎเกณฑ์ การตรวจสอบการให้บริการอย่างชัดเจนเหมาะสม ก็เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการเช่นเดียวกัน รวมถึงข้อร้องเรียนที่อาจเพิ่มสูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน และจำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอในการดำเนินการต่างๆ ของ กสทช. ซึ่งผู้เขียนและท่านผู้อ่านคงต้องติดตามการดำเนินการของ กสทช. ต่อไปค่ะ


บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่