มีสิ่งที่ยังต้องทำอีกมากเหลือเกิน

มีสิ่งที่ยังต้องทำอีกมากเหลือเกิน

“So Little Done, So much To Do” “ทำอะไรเสร็จไปได้น้อยเหลือเกิน มีสิ่งที่ต้องทำมากเหลือเกิน”

นี่คือคำพูดก่อนวาระสุดท้ายของ อเล็กซานเดอร์ กราแฮม เบลล์ (ค.ศ.1847-1922) ผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์และผู้บุกเบิกความรู้เรื่องการได้ยิน เป็นคำพูดที่น่าคิดสำหรับพวกเราทุกคน ที่จริงๆ แล้ว เกิดมาใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้คนละไม่ยาวนานนัก แต่คนบางคนนั้นมีความคิดจิตสำนึกรู้สึก ที่อยากทำอะไรที่มีความหมาย เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ

ในทางสังคม เราอาจทำอะไรไม่ได้เป็นผลชัดเจนเหมือนพวกนักวิทยาศาสตร์ แต่แม้กระนั้นแนวคิดและการกระทำทางสังคมบางอย่างที่ฉลาดและหวังดีต่อส่วนรวม ก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวไปในทางที่ดีขึ้นได้บ้าง มากกว่าที่เราจะไม่คิดและไม่ได้ทำอะไรเพื่อส่วนรวมเลย

ปีนี้คือปีที่ 40 ของเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 คนที่มีส่วนรวมในเหตุการณ์ครั้งนี้ ขณะนี้คือคนวัย 50-60 กว่าซึ่งอยู่ค่อนไปทางปลายทางของชีวิตกันแล้ว จะมีสักกี่คนที่ยังฝัน, ยังมีชีวิตอยู่ และคิดในแนว กราแฮม เบลล์ ว่า “ทำอะไรเสร็จไปได้น้อยเหลือเกิน มีสิ่งที่ต้องทำมากเหลือเกิน”

ผมยังเชื่อว่าบทบาทของปัญญาชนที่ศึกษาเผยแพร่พูด เขียน จัดตั้งองค์กร เคลื่อนไหวเรียกร้องและทำให้คนอื่นๆ สนใจ เข้าใจเรื่องประชาธิปไตย สิทธิเสมอภาค ความเป็นธรรม สังคมที่สันติสุข และพัฒนาได้อย่างยั่งยืน คือการกระทำที่มีคุณค่า และการกระทำดังกล่าวมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในเชิงเปรียบเทียบได้ เมื่อมองประวัติศาสตร์ในระยะยาว ไม่ใช่มองแค่ผลอย่างสมบูรณ์เป็นชิ้นเป็นอันแบบเห็นได้ชัดเจน เหมือนการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

แน่ละ แม้กล่าวโดยรวมแล้ว พวกนักกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อสังคมที่ดีกว่าของไทยเราก็คง “ทำอะไรเสร็จไปได้น้อยเหลือเกิน” ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา

แม้ในชีวิตหนึ่งของคนเราจะทำอะไรได้น้อย ผมยังเชื่อว่าหนังสือที่ผมเขียน แปลเรียบเรียงที่พิมพ์มาแล้วกว่า 120 เล่ม ไม่ว่าจะเป็นงานเรื่องสั้น บทกวี, บทความวิเคราะห์ วิจารณ์ทางเศรษฐกิจสังคม การเมือง ความรู้และบทวิเคราะห์ทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจการเมือง การศึกษา จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง, อธิบายคำศัพท์เฉพาะด้านต่างๆ คำคม ปรัชญา ฯลฯ มีส่วนช่วยขยายความรู้ ความคิดอ่าน ความรู้สึกในทางที่จะเป็นผลดีต่อทั้งตัวเองและส่วนรวมให้กับคนจำนวนหลายพันคน หนังสือเหล่านี้อาจจะไม่ได้ดีอะไรมากนัก ถ้าเทียบตามมาตรฐานของโลก แต่สำหรับประเทศไทยที่มีการค้นคว้า การเขียนหนังสือดีหรือดีพอสมควรกันค่อนข้างน้อย หนังสือเหล่านี้ก็ทำหน้าที่ให้บริการทางด้านการเผยแพร่ความรู้ ความคิดอ่านให้คนในสังคมไทยได้ดีกว่าที่จะไม่มี

ความรู้ด้านต่างๆ ช่างมีมากมายเหลือเกิน เฉพาะที่ผมคิดว่าจำเป็นเร่งด่วน ที่คนไทยควรศึกษาเรียนรู้ เช่น เศรษฐศาสตร์แนวระบบนิเวศ วิวัฒนาการและประวัติศาสตร์ของมนุษย์ วิทยาศาสตร์เพื่อสังคม การปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองสังคม จิตวิทยาการพัฒนาตนเองและความรู้ทางเลือกสาขาต่างๆ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ก็ยังเป็นสาขาที่มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาค่อนข้างน้อย ประเทศไทยที่มีประชากร 65 ล้านคน พอๆ กับอังกฤษและฝรั่งเศส แต่มีคนสนใจศึกษาแปลเรียบเรียงเขียนเผยแพร่หนังสือแนวให้ความรู้ ความคิดอ่านที่ก้าวหน้า (มุ่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์คนส่วนรวม) น้อยมาก สังคมไทยจึงยังมีปัญหาความด้อยพัฒนามากมาย และทำให้ประเทศไทยยังมีสิ่งที่ต้องช่วยกันทำมากเหลือเกิน

เรามีมหาวิทยาลัย มีองค์กรธุรกิจ และองค์กรสังคมมาก มีนักวิชาการ นักวิชาชีพจำนวนมากพอสมควร แต่พวกเขาใช้ปัญญาและเวลาส่วนใหญ่ ในการทำงานสอนหนังสือ และวิจัยในเรื่องย่อยๆ ตามสาขาเฉพาะทาง เพื่อแก้ปัญหาประจำวันและป้อนองค์ความรู้ให้กับองค์กรต่างๆ ซึ่งมุ่งรับใช้การพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมบริวาร ที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ให้ประโยชน์คนส่วนน้อย มากกว่าการสร้างความรู้ใหม่ เพื่อการปฏิรูปและปลดปล่อยให้คนส่วนใหญ่พ้นจากการถูกครอบงำ และเอารัดเอาเปรียบของชนชั้นนำในระบบเศรษฐกิจการเมืองวัฒนธรรมในปัจจุบัน

ปัญหาใหญ่ของสังคม เช่น ปัญหาวิกฤติของระบบเศรษฐกิจการเมืองสังคม วัฒนธรรม และระบบนิเวศ ของประเทศไทย มีคนสนใจน้อยเกินไป สำนักวิจัยและสถาบันที่ให้ทุนวิจัย สนใจปัญหาย่อย ปัญหาเฉพาะหน้า มากกว่าปัญหาใหญ่ เราไม่รู้จักระดมพลังกันคิดปัญหาใหญ่ของประเทศในเชิงวิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจการเมืองสังคม ระบบนิเวศ (รวมทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี) อย่างเป็นองค์รวม ไม่จัดลำดับว่าอะไรสำคัญเร่งด่วน ก่อนหลัง (สำหรับประเทศไม่ใช่สำหรับนักการเมือง) และไม่ได้พยายามทำในสิ่งที่จะก่อให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเมืองให้เกิดความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ก้าวหน้า อย่างแท้จริง นักวิชาการปัญญาชนจำนวนมากเลือกเข้าข้างกลุ่มชนชั้นนำฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และต่อสู้กันไปตามกระแสความขัดแย้งของกลุ่ม แทนที่จะวิเคราะห์ถึงปัญหาและทางออกของระบบโครงสร้างใหญ่ของประเทศ

นโยบายพัฒนาประเทศแนวทุนนิยมอุตสาหกรรมให้ประโยชน์ทางวัตถุกับคนรวย คนชั้นกลางเพียง 10- 20% แต่สามารถครอบงำความคิดของคนส่วนใหญ่อีก 80% ให้เชื่อว่านี่คือระบบที่ดีที่สุดแล้ว ที่วันหนึ่งพวกตนก็อาจจะช่วยได้บ้าง แต่คนจน 80% ไม่มีทางจะทำฝันให้เป็นจริงได้ถ้าไม่ศึกษาทำความเข้าใจและคิดระบบเศรษฐกิจให้ตนเองเป็นเจ้าของผู้ควบคุมและบริหารทุนและปัจจัยการผลิตเสียเอง และจะสร้างระบบเศรษฐกิจสังคมใหม่ที่ดีกว่าระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่ครอบงำโดยบรรษัทขนาดใหญ่

ระบบสังคมนิยมแบบที่สหภาพโซเวียต รุสเซีย จีน ฯลฯ ทดลองทำกันมาอาจจะล้มเหลวเพราะปัญหาภาคปฏิบัติ และเป็นปัญหาเฉพาะทางประวัติศาสตร์และบริบทของประเทศนั้นๆ เอง แต่ระบบทุนนิยมในสหรัฐฯ และยุโรป ก็กำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ/ถดถอย ที่ไม่มีทางออกอย่างแท้จริง ถ้าไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างระบบเศรษฐกิจการเมือง เช่น ระบบธนาคาร สถาบันการเงิน ระบบเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ให้เป็นของและเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ของนายทุนส่วนน้อย การที่รัฐนายทุนอัดฉีดเงินภาครัฐไปช่วยพยุงนายธนาคาร, นายทุนใหญ่ มากกว่าจะปฏิบัติเศรษฐกิจทั้งระบบ จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำได้ระยะสั้นเท่านั้น

แม้ในสังคมไทยวันนี้จะมีสิ่งที่ต้องทำมากมายเหลือเกิน แต่ถ้าเราแต่ละคนลงมือทำ (และดีที่สุดคือร่วมมือกันทำ) ในสิ่งที่จะช่วยให้สังคมฉลาดก้าวหน้า ลดปัญหาลง เห็นทางเดินที่ถูกต้องมากขึ้น จะช่วยลดปัญหาลดภาระของเพื่อนร่วมประเทศและลูกหลานของเราได้ไม่น้อย สิ่งที่จำเป็นคือการแสวงหาปัญญาเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมร่วมกัน การสร้างปัญญาชนผู้มีจิตสำนึกในเรื่องเพื่อส่วนรวม ช่วยกันคิดและนำประเทศให้พ้นจากวิกฤติและปัญหาต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำ ได้