ความเข้มข้นที่เยอรมนี

ความเข้มข้นที่เยอรมนี

สวัสดีค่ะ ในช่วงที่ผ่านมานั้นได้เคยเรียนท่านผู้อ่านในเรื่องของการปรับเปลี่ยนนโยบายการกำกับดูแลตลาดเงินตลาดทุนของประเทศสหรัฐ

ซึ่งเป็นผลพวงจากวิกฤตซับไพร์มเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งมาตรการดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด

ลองมาดูทางฝั่งยุโรปบ้างที่ดูจะเกิดอาการเดียวกัน เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเมื่อภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ฐานะการคลังที่ทรุดตัวลง ค่าเงินที่ตกต่ำ ความมั่นคงของสถาบันการเงินเริ่มมีปัญหาในหลายประเทศ ส่วนหนึ่งของมาตรการแก้ปัญหาของสหภาพยุโรป จึงเป็นการขันนอตกฎเกณฑ์การดำเนินการของสถาบันการเงิน และธุรกรรมในตลาดเงินตลาดทุนกันอย่างขนานใหญ่

โดยสหภาพยุโรปก็เชื่อเช่นเดียวกับสหรัฐว่าการกำกับดูแลและตรวจสอบอย่างใกล้ชิดและเข้มข้นมากขึ้นนั้น จะเป็นการป้องปรามและป้องกันวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ จึงเป็นสถานะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับสถาบันการเงิน ตลาดหุ้น ตลาดอนุพันธ์และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่เหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่กระเทือนชาวโลกส่วนใหญ่ ที่มีการติดต่อและทำธุรกรรมทางการเงินกับสหภาพยุโรปและสหรัฐ

โดยจะต้องทำความเข้าใจและศึกษา พร้อมๆไปกับการปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรการที่เข้มงวดดังกล่าว และต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังเนื่องจากมีรายละเอียดมากมายที่ต้องดำเนินการและที่สำคัญมีต้นทุนที่สูงขึ้น

ในวันนี้จึงขอนำประสบการณ์จากการไปเยี่ยมชมตลาด Deutsche Bourse ในเยอรมนี มาฝากท่านผู้อ่านทุกท่านค่ะ กลุ่มตลาดหลักทรัพย์ของเยอรมนี มีขนาดใหญ่มาก โดยมีรายได้ในปีที่ผ่านมาสูงถึง 1.9 พันล้านกอลลาร์ รองจาก กลุ่ม CME (Chicago Mercantile Exchange Group) ที่เป็นตลาดอนุพันธ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และรายได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกรรมอนุพันธ์

ตลาดหลักทรัพย์เยอรมนีนั้นถือได้ว่ามีโครงสร้างการดำเนินงานในลักษณะใกล้เคียงกับตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็นอย่างมาก โดยมีหน่วยงานครบวงจรในการทำธุรกิจการเป็นตลาดหุ้นและตราสารหนี้ ผ่านตลาดหลักทรัพย์ Deutsche Bourse และธุรกิจอนุพันธ์ ผ่านตลาด Eurex ตลอดจนบริการต่อเนื่องที่สำคัญ ได้แก่ สำนักหักบัญชี Eurex Clearing House การชำระราคาระหว่างประเทศและคัสโตเดียน ผ่านบริษัท Clearsteam และยังขยายธุรกิจไปในภูมิภาคอื่นที่สำคัญคือ การเข้าถือหุ้นในตลาด ISE (International Securities Exchange) ซึ่งทำธุรกิจอนุพันธ์โดยเฉพาะออปชั่นของหุ้นในสหรัฐ

คณะที่ไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของตลาดหุ้นและตลาดอนุพันธ์ รวมถึงสถาบันการเงินของเยอรมันในครั้งนี้ เรียนรู้ในความก้าวหน้าของเขาอย่างมากทีเดียว แต่ที่สะดุดใจดิฉันมากๆ คือทุกๆหน่วยงานได้ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่และที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการกำกับดูแลทั้งในและต่างประเทศ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับโลก (Global Level) ระดับภูมิภาค (EU Level) และระดับประเทศของเยอรมนีเอง (National Level)

เราจึงเห็นการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจเพื่อรับมือกับกฎเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เชิงธุรกิจของตลาดหลักทรัพย์ ตลาดอนุพันธ์ และสถาบันการเงิน ให้สามารถสร้างโอกาสในการทำธุรกิจได้มากขึ้น และยังคงดำเนินธุรกิจเดิมต่อไปได้อย่างรุ่งเรือง พร้อมๆไปกับความสามารถในการดำเนินการตามกฎระเบียบใหม่ด้วย

นับเป็นความท้าทายที่น่าเรียนรู้ เพราะด้วยสภาพแวดล้อมของตลาดเงินตลาดทุนในประเทศไทยขณะนี้นั้น ก็อยู่ในสถานะที่ไม่แตกต่างในเรื่องความเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่และที่กำลังจะเกิดขึ้น

คณะเราได้เห็นตารางสรุปการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์และกฎหมายที่เขาต้องดำเนินการตามแล้ว ได้แสดงความเห็นใจต่อเพื่อนร่วมธุรกิจ เนื่องจากมีจำนวนมากจริงๆ และเป็นเรื่องยากในการดำเนินการ รวมทั้งส่วนใหญ่ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการดำเนินงานและปริมาณธุรกิจของเขาแน่ๆ กฎเกณฑ์เหล่านั้น ได้แก่ 1) European Market Infrastructure Regulation (EMIR) เป็นประเด็นที่หน่วยงานหรือองค์กรในอุตสาหกรรมทางการเงินจะต้องมีคุณสมบัติ และข้อปฏิบัติที่มีมาตรฐานสูงขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการนำอนุพันธ์ในตลาดโอทีซี (OTC) เข้ามาสู่การซื้อขายในตลาดทางการ (Exchange) และการมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งการชำระราคาและการบริหารหลักประกันผ่านบริษัทสำนักหักบัญชี

2) ด้านการ Review of Markets in Financials Directive (MiFID/MiFIR) เป็นเรื่องการจัดระเบียบการกำกับดูแลอย่างเท่าเทียม ทั้งเรื่องประเภทของหลักทรัพย์และอนุพันธ์ และผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ ตลาดอนุพันธ์ประเภทใหม่ๆ หรือสถาบันการเงิน รวมทั้งการกำหนดหลักการของการแข่งขันทางธุรกิจ ความโปร่งใส ความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงตลาด การมีข้อมูลอย่างครบถ้วนทั้งระบบเพื่อใช้ในการกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

3) การปรับปรุงหลักเกณฑ์ในเรื่อง การรับฝากหลักทรัพย์และการชำระราคา (CSD Regulation) เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างประเทศในสหภาพยุโรปได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีข้อมูลที่เพียงพอในการกำกับดูแล นอกจากนี้ ยังมีกฎเกณฑ์ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา เพื่อให้มีการกำกับดูแลมากขึ้น ได้แก่ การซื้อขายประเภทที่ใช้ความเร็วสูง (HFT: High Frequency Trading) ที่จะมีข้อกำหนดเพิ่มเติมในเรื่องการขึ้นทะเบียนของผู้ประกอบการ และมาตรการที่ดูจะเป็นข้อกังวลใจของเขาก็คือ การเก็บภาษี Financial Transaction Tax สำหรับการซื้อขายสินค้าทางการเงินทุกประเภท ซึ่งคงจะประกาศได้หลังจากที่มีรัฐบาลใหม่ที่มาจากผลการเลือกตั้งของเยอรมนีในสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ดิฉันเชื่อว่าความอึดของคนเยอรมันนั้นจะเป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะสามารถเอาชนะอุปสรรคได้ค่ะ ในโอกาสต่อๆ ไป เราจะมาดูความคืบหน้าและรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการใหม่ๆ เหล่านี้กันนะคะ