ปฏิรูปการเมือง !

ปฏิรูปการเมือง !

การปฏิรูปการเมืองที่ริเริ่มโดยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะนำไปสู่การปฏิรูปที่แท้จริงของสังคมไทยได้จะต้องมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

หนึ่ง การปฏิรูปจะต้องเริ่มต้นด้วยการตอบคำถามเบื้องต้นให้ได้เสียก่อนว่า อะไรคือสาเหตุของวิกฤติการเมืองไทยที่ปะทุขึ้นและต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เพราะสังคมไทยแตกแยกร้าวลึกด้วยคนไทยแบ่งออกเป็นสองขั้วที่มองสาเหตุของวิกฤติต่างกัน อีกทั้งพรรคเพื่อไทยก็มองอย่างหนึ่ง พรรคประชาธิปัตย์ก็มองอย่างหนึ่ง หรือพรรคร่วมรัฐบาลก็อาจจะมองอีกอย่างหนึ่ง เพราะถ้ามองอย่างเพื่อไทย ก็คงไม่ไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับประชาธิปัตย์ หรือถ้ามองอย่างประชาธิปัตย์ก็คงไม่ไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทย ส่วน พรรค “ร่วมรัฐบาล” จะมีจุดยืนมุมมองอย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องน่าคิดน่าสงสัยอย่างยิ่ง ?! เพราะพรรค “ร่วมรัฐบาล” สามารถ “ร่วมรัฐบาล” ได้กับทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ !! หรือจะเป็นว่า พรรคดังกล่าวไม่มีมุมมองหรือจุดยืนอะไรเป็นเรื่องเป็นราวเลย !?

ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็มองอย่างหนึ่ง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติก็มองอีกอย่างหนึ่ง แล้วประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นพลังเงียบก็อาจจะมองอีกอย่างหนึ่ง ! แล้วสภาปฏิรูปจะมองอย่างไร ?

ถ้าสภาปฏิรูปไม่ตอบคำถามนี้ หรือได้คำตอบที่ไม่เป็นที่ยอมรับโดยคนส่วนใหญ่ในสังคม การปฏิรูปทางการเมืองก็จะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ และหากจะใช้วิธีการเดิมๆ ที่เคยใช้กันมา นั่นคือ ลืมๆ กันไป ก็ไม่ถือว่าเป็นการปฏิรูปแต่อย่างใด เพราะเมื่อไม่แก้ที่สาเหตุ วิกฤติปัญหาก็พร้อมที่จะกลับมาได้ทุกเมื่อ เป็นวังวนวงเวียนไป

และหากเมื่อตอบโจทย์ได้แล้วว่าสาเหตุคืออะไร ? และคำตอบดังกล่าวนี้เป็นที่ยอมรับได้โดยคนส่วนใหญ่ เงื่อนไขต่อมาก็คือ สภาปฏิรูปจะต้องคิดหาทางแก้ไขที่ต้นเหตุนั้นให้ได้ แน่นอนว่า การแก้ไขต้นเหตุย่อมจะต้องกระทบถึงขั้วการเมืองทุกขั้ว ทุกฝ่ายย่อมจะต้องมีได้มีเสีย แต่การได้การเสียอย่างไรเล่าที่ทุกฝ่ายยอมรับได้

เงื่อนไขต่อมา แนวทางแก้ไขที่ได้มานั้น สามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่ ? นัยของการปฏิบัติได้จริงย่อมขึ้นอยู่กับว่า สภาปฏิรูปมีความชอบธรรมแค่ไหน ? เพราะต่อให้ได้คำตอบที่สวยงามเพียงไร แต่ถ้าขาดซึ่งอำนาจและความชอบธรรมที่จะนำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้จริงนั้น ก็ป่วยการ ไม่ต่างจากคำกล่าวที่ว่า กฎหมายหรือหลักความยุติธรรมใดๆ หากไม่มีดาบหรืออำนาจหนุนหลัง ก็ไม่ต่างจากแค่คำพูดที่เป็นลมปากหรือกระดาษเปื้อนหมึก

เมื่อพูดถึงอำนาจและความชอบธรรม แน่นอนว่า ในทางหลักการและทฤษฎี คนที่มีอำนาจตามกฎหมายและมีเสียงประชาชนข้างมากสนับสนุนอยู่คือ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้น หลังจากที่สภาปฏิรูปได้คำตอบแล้ว ถามว่า คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจทางการเมืองจริงๆ แค่ไหน และเพียงใด ? และการตัดสินใจของคุณยิ่งลักษณ์ถือว่าอิสระเด็ดขาดในฐานะที่เป็น ส.ส. ที่ได้รับความไว้วางใจจาก ส.ส. เสียงข้างมากในสภา และเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่และแค่ไหน ? หากสภาปฏิรูปคุยกันครบถ้วนกระบวนความแล้ว แต่การตัดสินใจของคุณยิ่งลักษณ์ไม่มีความหมาย เพราะต้องฟังการตัดสินใจของคุณทักษิณ การพูดคุยในสภาปฏิรูปก็ป่วยการ เพราะการต้องรอฟังคุณทักษิณของคุณยิ่งลักษณ์ก็เท่ากับว่าสภาปฏิรูปต้องรอฟังคุณทักษิณด้วย ดังที่คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภได้ตอบคำถามสื่อมวลชนที่ว่า สภาปฏิรูปควรต้องมี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ ? คุณสุวัจน์ตอบว่า ทุกท่านสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นได้ในฐานะที่เป็นคนไทยเพื่อหาทางออกให้กับประเทศไทย (http://www.thairath.co.th/content/pol/365879) แน่นอนว่า การรับฟังความคิดเห็นของคุณทักษิณในฐานะคนไทยไม่ใช่เรื่องไม่สมควร แต่สำหรับคุณยิ่งลักษณ์ ความคิดเห็นของคุณทักษิณมีค่าเท่าเทียมเสมอภาคกับความคิดเห็นของคนไทยคนหนึ่ง หรือมีค่ามากกว่านั้น ?

ความไว้วางใจและความหวังร่วมกันอย่างจริงจังต่อสภาปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ ก็ขึ้นอยู่กับการที่คุณยิ่งลักษณ์จะต้องพิสูจน์ให้สังคมทุกภาคส่วนประจักษ์ได้อย่าง “บูรณาการ” ว่า คุณยิ่งลักษณ์มีอิสระเด็ดขาดในการตัดสินใจและใช้อำนาจอันชอบธรรมทางการเมืองที่มีอยู่ในมือเพื่อเป้าหมายแห่งการปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง

เงื่อนไขสำคัญที่คุณยิ่งลักษณ์จะต้องแสดงให้เห็นคือ คุณยิ่งลักษณ์คุมพรรคเพื่อไทยได้จริงแค่ไหน ? คุณยิ่งลักษณ์คุมระบบราชการได้จริงแค่ไหน ? และคุณยิ่งลักษณ์เป็นที่รับฟังของมวลชนพี่น้องเสื้อแดงได้จริงแค่ไหน ? ทั้งนี้มิพักต้องพูดถึงพรรคประชาธิปัตย์และพันธมิตรฯ เพราะสองพวกหลังนี้ตั้งท่าจะไม่ฟังอยู่แล้ว และที่พวกเขาไม่ฟังเพราะเขาไม่เชื่อว่า คุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีจริงๆ ในทางปฏิบัติ เพราะพฤติกรรมทางการเมืองทุกวันนี้ของพรรคเพื่อไทยไม่ต่างจากสภาพ “ผีหัวขาด” ลำตัวอยู่ในสภา แต่หัวล่องลอยไปไหนก็ไม่รู้ ? อีกทั้งมีหลายหัวอีกต่างหาก หัวหนึ่งเป็น “หัวหน้าพรรค” (เป็น “หัว” แต่ในนาม ไม่มีบทบาทอิทธิพลนำใดๆ ต่อ ส.ส. พรรคในสภา และก็ไม่มีบทบาทอิทธิพลนำใดๆ ต่อคณะรัฐมนตรี) อีกหัวหนึ่งล่องลอยไปมาในต่างแดน แม้ว่าจะเป็นหัวที่มีน้ำหนักกว่าหัวใครในพรรค แต่ก็อยู่ห่างไกลเสียเหลือเกินและแถมยังไม่มีอำนาจตามกฎหมายด้วย ส่วนอีกหัวหนึ่งก็ไม่รู้ว่าจะอธิบายสภาพว่าเป็นหัวอะไรแน่ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ได้ชื่อว่าเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร-รัฐบาล เวลาถูกตั้งคำถามข้อสงสัย แต่ละหัวก็โยนกันไปกันมา บางครั้งบางหัวก็ประกาศว่าหัวข้าคือหัวจริง แต่บางครั้งก็บอกปัด

ต้องแก้ไขสภาพ “ผีหัวขาด” นี้ให้ได้เสียก่อน สภาปฏิรูปจึงจะเป็นความหวังสำหรับสังคมไทย และผู้คนก็จะให้ความเห็นต่อสภาปฏิรูปในแบบสำรวจโพลล์ในแง่บวกเป็นจำนวนมากขึ้น