‘ศรัทธาสร้างได้’

‘ศรัทธาสร้างได้’

ก่อนเริ่มต้องขออนุญาตเรียนคุณผู้อ่านนิดนึงว่า วันนี้เราจะคุยเรื่อง ‘ศรัทธาสร้างได้’ ในมุมที่แตกต่างนะครับ มิใช่การชี้นิ้วให้คนอื่นทำตัวให้เรา Trust เขา แต่เป็นเรื่องของการนำตนเองให้รู้สึก Trust คนอื่น

“เราขมวดคิ้วเพราะสมองเราเครียด หรือสมองเครียดเพราะมันเห็นเราขมวดคิ้ว? อะไรมาก่อนอะไร?”
นี่เป็นหนึ่งในคำถามที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากๆจาก Brain-Based Leadership เพราะตัวเองเชื่อแบบแรกมาตลอด ไม่เคยแม้แต่จะคิดว่าแบบที่สองจะเป็นไปได้ พอได้ยินคำถามก็เลยชะงักให้หยุดคิด ยิ่งอาจารย์ท่านหนึ่งก็เคยสอนผมว่า “เวลาเครียดให้เอาดินสอใส่ปากคาบ เพราะสมองมันจะคิดว่าเรากำลังยิ้ม” ตกลงไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน เรารู้สึกตามสมอง หรือสมองรู้สึกตามเรา?
จริงๆ แล้ววิทยาศาสตร์ด้านสมองก็มีข้อมูลให้เชื่อว่าการกระทำของเราอาจเป็น ‘เหตุ’ มากกว่า ‘ผล’ ได้เหมือนกัน เพราะในหัวเรามีสมองส่วนหนึ่งชื่อว่า Thalamus ซึ่งมันทำหน้าที่เสมือน Switchboard ขององค์กรในการโอนสายโทรศัพท์ที่โทรเข้ามาจากหลายหน่วยงานให้ไปสู่ผู้รับสารที่ถูกต้อง และหนึ่งในนั้นคือการรีเลย์สัญญาณที่เข้ามาจากกล้ามเนื้อที่ใบหน้าให้ออกไปยังสมองที่ใช้ในการจัดการข้อมูล ฉะนั้นจึงเป็นไปได้เหมือนกันว่าปากที่กำลัง ‘คาบ’ ปากกาอาจทำให้สมองเข้าใจว่าเรากำลัง ‘ยิ้ม’
แล้วเรื่องนี้เกี่ยวกับภาวะผู้นำอย่างไร?
พวกเราเกือบทุกคนล้วนแล้วแต่มีผู้นำของตนเองทั้งสิ้น ผู้ที่ทำงานในองค์กรแน่นอนย่อมมีหัวหน้า ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าโดยตรงหรือทางอ้อมเช่นเบอร์หนึ่งขององค์กร เบอร์หนึ่งเองก็ยังต้องตามบอร์ด ทายาทนักธุรกิจก็มีคุณพ่อคุณแม่ให้เป็นที่ยึดเหนี่ยว อาชีพอิสระก็มักมีผู้ใหญ่ที่อุปการะเราที่เราให้ความเคารพนับถือ แม้แต่ในครอบครัวก็มีผู้นำเช่นเดียวกันเช่น พ่อนำลูก (ส่วนแม่ก็นำพ่ออีกที หุๆ)
และในความคิดของผม “ไม่มีอะไรน่าเศร้าไปกว่าการต้องทำงานกับผู้นำที่เราไม่ศรัทธา”
หากเราต้องทำงานกับผู้นำที่เราไม่ศรัทธา สำหรับสมองนี่คือการสร้าง In-Group vs. Out-Group โดยอัตโนมัติ สมองทำงานง่ายๆ ด้วยการแบ่งคนที่อยู่รอบตัวเป็น ‘มิตร’ หรือ ‘ศัตรู’ และมันดูแลจัดการคนสองพวกนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง มิตรคือคนที่เรานับเป็นพวก คนที่เราเป็นห่วงเป็นใย ยินดีทุ่มเทและมีสำนึกรับผิดชอบ ส่วนศัตรูคือคนที่สมองไม่ให้เข้ากลุ่ม เป็นคนที่เราไม่แคร์ ไม่สนใจ และไม่ยินดียินร้ายต่อความรู้สึก
Dr. Xiaojing Xu แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งทำงานวิจัยไว้เมื่อปี 2008 โดยการให้ผู้ทดลองนั่งดูประสบการณ์ที่เจ็บปวดของคนกลุ่มหนึ่ง สิ่งที่น่าสนใจคือการพบว่า หากคนจีนนั่งดูคนจีนด้วยกันถูกเข็มเล่มยาวแทงที่ใบหน้า ในสมองของผู้ดูจะแสดงความเจ็บปวดเหมือนตนเองโดนกระทำด้วย แต่ถ้าคนจีนเหล่านั้นนั่งดูเหตุการณ์เดียวกันเกิดขึ้นกับคนฝรั่ง (Caucasian) สมองของพวกเขากลับไม่รู้สึกอะไร และเราเห็นผลลักษณะเดียวกันในกรณีที่ผู้ดูเป็นฝรั่ง ซึ่งแสดงความเจ็บปวดกับคนฝรั่งด้วยกันแต่รู้สึกเฉยๆหากผู้ถูกกระทำเป็นคนจีน
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งโชว์แม้กระทั่งว่า เวลาผู้ถูกกระทำเป็นคน Out-Group สมองแห่งรางวัล ‘Reward Brain’ ของผู้ที่นั่งดูอยู่ส่งสัญญาณคึกคักด้วยซ้ำไป ประมาณว่า “ถ้าเป็นเพื่อนเราเห็นใจ แต่ถ้าเป็นศัตรูเราสะใจ”
ฉะนั้นสำหรับองค์กร มันสำคัญมากๆ ว่าสมาชิกของเราเห็นคนอื่นในองค์กรเป็นพวกเดียวกัน มิเช่นนั้นลูกน้องอาจรู้สึกสมน้ำหน้าเวลาเห็นหัวหน้าพลาด หรือหน่วยงานหนึ่งอาจเห็นความล้มเหลวของอีกหน่วยงานเป็นชัยชนะเล็กๆ ของกลุ่มตนเอง และกลไกหลักที่จะทำให้เรารู้สึกเป็นพวกเดียวกันก็คือ Trust หรือศรัทธา
ข้อคิดสองข้อสำหรับผมคือ 1) จงหางานที่ตนเองศรัทธาในตัวหัวหน้า แต่ถ้าวิธีนั้น(ยัง)เป็นไปไม่ได้ก็ 2) จงหาวิธีทำให้ตนเองศรัทธาในหัวหน้าที่มีอยู่
ซึ่งข้อหลังนี้เชื่อมโยงกับสิ่งที่ได้เล่ามาก่อนเบื้องต้น นั่นคือหากผู้นำหรือสมาชิกในองค์กรของคุณไม่ทำตนเองให้น่าศรัทธา แต่ผู้นำสมองอาจสามารถ ‘สร้างศรัทธา’ ให้เกิดได้เพียงเราโฟกัสความสนใจของเราให้มุ่งที่มุมดีๆ ของคนใกล้ตัว ถ้าเราดูแลการกระทำของตนเองให้แสดงออกถึงการ Trust หัวหน้า ไม่นินทาเพื่อนร่วมงาน ชื่นชมสิ่งที่ดีของลูกน้อง พยายามฟังความคิดของคนที่เห็นต่างด้วยความเข้าอกเข้าใจ สมองก็อาจจะคิดว่าเรากำลังศรัทธาพวกเขาจริงๆ เหมือนกับที่มันคิดว่าเรากำลังยิ้มเวลาที่เราคาบดินสอ?
เป็นไปได้ไหม? เอาอย่างนี้ก็แล้วกันครับ หากเชื่อว่า “สมองเครียดเพราะมันเห็นเราขมวดคิ้ว” งั้นคิดง่ายๆ ถ้าเอา Botox ฉีดหัวคิ้วไม่ให้คนขมวดคิ้วได้ล่ะ สมองจะเครียดน้อยลงไหม?
ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เพราะเมื่อเดือนที่แล้ว Dr. Dan Radecki แห่ง NeuroLeadership Institute เพิ่งแชร์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดให้ผมฟังว่าการฉีด Botox ช่วยให้สมองของคนเหล่านี้ดูเครียดน้อยลงจริงๆ!
ฟังแล้วอยากบอกสามีทั้งหลายว่าให้ภรรยารีบไปฉีด Botox โดยด่วนเลย ความสวยทางกายนั้นเป็นโบนัส แต่ที่จะได้จริงๆ คือความสุขทางใจครับ!