จับตาอนาคตแรงงานไทย

จับตาอนาคตแรงงานไทย

ผลกระทบเศรษฐกิจไทยที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยการปรับเป้าประมาณการตัวเลขจีดีพี จาก 4.2-5.2% เหลือ 3.8-4.3%

ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่หลายฝ่ายประเมินว่าภาพรวมธุรกิจของบ้านเราจะเกิดการชะลอตัวหลังจากนี้ จึงมีความกังวลต่อตลาดแรงงานในระยะอันใกล้นี้ว่าจะได้รับผลกระทบตามมาเช่นกัน ตัวเลขการเลิกจ้าง และการชะลอจ้างงาน เป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง

ขณะที่สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงาน ของกระทรวงแรงงาน ออกมาให้ข้อมูลที่สวนทางกับสิ่งที่หลายฝ่ายประเมินไว้สิ้นเชิง กล่าวคือข้อมูลด้านแรงงานเดือนมิถุนายน 2556 พบว่าการจ้างงานอยู่ในภาวะปกติ โดยดูจากข้อมูลจำนวนลูกจ้างที่มีนายจ้างในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 จำนวน 9,600,371 คน อัตราการขยายตัว 4.49 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีจำนวน 9,187,828 คน มีอัตราการขยายอยู่ที่ 1.92 % ทั้งนี้ หากพิจารณาอัตราการเปลี่ยนแปลงของเดือนมิถุนายน 2556 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2556 ในเดือนมิถุนายน 2556 อัตราการขยายตัวอยู่ที่ 4.49 % ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2556 อยู่ที่ 4.75 % ซึ่งถือว่าอยู่ในสถานการณ์ปกติ

ส่วนสถานการณ์การว่างงาน พบว่ามีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมเดือนพฤษภาคม 2556 จำนวน 104,259 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 120,265 คน แสดงให้เห็นว่ามีผู้ว่างงานลดลงจากปีก่อน โดยมีอัตราการชะลอตัวอยู่ที่ 13.31% ทั้งนี้ในเดือนพฤษภาคม 2556 มีผู้ว่างงานจำนวน 109,433 คน แต่เมื่อเทียบระหว่างเดือนมิถุนายน 2556 เทียบกับพฤษภาคม 2556 ลดลงจากเดือนที่แล้วมาอยู่ที่ 4.73 % ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์การว่างงานในเดือนมิถุนายน 2556 ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติเช่นกัน

แม้แต่สถานการณ์การเลิกจ้างยังพบว่า มีผู้ถูกเลิกจ้างที่มาขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากกรมการจัดหางานในเดือนมิถุนายน 2556 มีจำนวน 5,787 คน เดือนพฤษภาคม มีจำนวน 5,015 คน ทั้งนี้ตามสถานการณ์การเลิกจ้างยังไม่น่าห่วงเนื่องจากมีการชะลอตัวจากปีที่แล้วถึง 2.01% ทั้งยังคาดการณ์ว่าแนวโน้มการจ้างงานในภาพรวมของตลาดแรงงานใน 12 เดือนข้าง ยังอยู่ในภาวะปกติ

ซึ่งไม่ต่างจากตัวเลขแรงงานสำนักงานสถิติแห่งชาติก่อนหน้านี้ ได้รายงานผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรประจำเดือน พ.ค. 2556 พบว่าทั่วประเทศว่างงาน 3.03 แสนคนเศษ ลดลงจากปีก่อน 5.6 หมื่นคน ขณะที่สัดส่วนการทำงานในภาคเกษตรปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 5 แสนคน ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงสถานการณ์ที่ยังคงปกติ ยิ่งบวกกับภาวะขาดแคลนแรงงานของอุตสาหกรรมภาคก่อสร้าง ที่ยังมีความต้องการแรงงานอีกจำนวนมาก ยิ่งเห็นภาพของตำแหน่งงานว่าที่มีรองรับอยู่

ทั้งนี้ ในมุมของนักวิชาการด้านแรงงานประเมินสถานการณ์หลังจากนี้ยังไม่รุนแรง เนื่องจากภาพรวมของตลาดแรงงานในบ้านเรายังมีความต้องการสูง และมีตำแหน่งงานว่างที่สามารถดูดซับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากธุรกิจที่ได้รับผลกระทบได้ ทั้งยังมีแรงงานบางส่วนก็กลับไปสู่ภาคเกษตรมากขึ้น

และประเด็นที่ต้องติดตามคือ ตัวเลขการจ้างงานในช่วงเวลาไตรมาส 3 ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีการจ้างงานมากที่สุดในรอบปี ว่าจะมีความเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด ซึ่งถือเป็นอีกดัชนีตัวหนึ่งที่จะสะท้อนภาพการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศได้ชัดเจน