ความมั่นคงด้านพลังงานกับสัมปทานปิโตรเลียม (1)

ความมั่นคงด้านพลังงานกับสัมปทานปิโตรเลียม (1)

เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการจัดสัมมนา เรื่องระบบสัมปทานปิโตรเลียม รัฐได้ประโยชน์อย่างไร

ซึ่งในงานสัมมนาดังกล่าวก็ได้มีวิทยากรที่มีความรู้ด้านสัมปทานปิโตรเลียมระดับแนวหน้าของประเทศไทยหลายท่านมาให้ความรู้ซึ่งมาจากทั้งหน่วยงานรัฐและจากบริษัทผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

เนื่องจากปัจจุบันได้มีการถกเถียงกันในประเด็นของผลประโยชน์ของรัฐที่ให้สัมปทานปิโตรเลียม ซึ่งก็มีการแสดงความเห็นจากบุคคลบางกลุ่มที่บอกว่า ปิโตรเลียมที่ขุดได้ในประเทศนั้นเป็นสมบัติของประเทศ และทำไมคนในประเทศจะต้องมาจ่ายเงินให้กับบริษัทที่ได้สัมปทานสำหรับสิ่งที่เป็นของประเทศ ซึ่งก็ได้อ้างไปถึงว่าราคาของผลผลิตปิโตรเลียมโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเป็นราคาที่สูงและส่งผลต่อไปยังต้นทุนพลังงานอื่นๆ อีกหลายชนิดทั้งราคาไฟฟ้า ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) แล้วก็ย้อนกลับไปกล่าวหาว่ารัฐนั้นไม่ดูแลผลประโยชน์ของประเทศ

ผมเห็นว่าการที่จะอธิบายประเด็นต่างๆ ข้างต้นว่าจริงๆ แล้วหลักการมันเป็นอย่างไร ทำไมเราต้องจ่ายเงินสำหรับปิโตรเลียมที่ผลิตได้เองในราคาเท่านี้หรือเท่านั้น และสิ่งที่รัฐควรจะได้จากการไปให้บริษัทเอกชนมาเป็นผู้ดำเนินการนั้นมีมากแค่ไหนนั้น เป็นสิ่งที่ยาก และจะต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งหากได้มานั่งเล่าความเป็นมาเป็นไปแล้ว ผมคิดว่าจะต้องใช้เวลาทั้งวันกว่าจะอธิบายได้หมด แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็คิดว่าการอธิบายนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น ถึงแม้ว่าอาจจะยาวไปสักหน่อย ซึ่งในตอนนี้ผมอยากจะอธิบายเกริ่นนำถึงความจำเป็นของการจัดหาพลังงานของประเทศไทย ประเทศของเรามีการใช้ปิโตรเลียมอย่างไร โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ และรัฐมีวิธีการดูแลในส่วนของการจัดหาอย่างไรเพื่อที่จะมารองรับกับความต้องการที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และจริงๆ แล้วเรามีก๊าซธรรมชาติเพียงพอหรือไม่ แล้วถ้าไม่พอเราควรจะต้องดำเนินการอะไรต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะไปส่งผลต่อพลังงานชนิดอื่นๆ ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบต่อไปด้วย

ในส่วนของการจัดหาปิโตรเลียมนั้น แบ่งเป็นหลักๆ อยู่สองชนิดคือน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ สำหรับน้ำมันดิบนั้น จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานนั้น เราจะเห็นว่าประเทศเรานั้นไม่ใช่ประเทศที่มีน้ำมันดิบมากมายอย่างที่บางคนกล่าวอ้างกัน จริงๆ แล้วประเทศไทยมีความสามารถในการจัดหาน้ำมันดิบได้เองเพียง 155,804 บาร์เรลต่อวันหรือ 24.77 ล้านลิตรต่อวัน (ปริมาณเฉลี่ยต่อวันตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2556) ซึ่งเห็นตัวเลขการผลิตต่อวันเป็นล้านลิตรนั้นอาจดูว่าสูง แต่ถ้ามาดูที่เราต้องนำน้ำมันดิบเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อมากลั่นแล้วจะเห็นว่ายังเป็นปริมาณไม่มากอะไรเพราะประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบในช่วงครึ่งปีแรกเฉลี่ยมากถึง 875,897 บาร์เรลต่อวันหรือ 139.26 ล้านลิตรต่อวันเลยทีเดียว ดังนั้น จะเห็นว่าประเทศไทยเรานั้นไม่ได้มีน้ำมันดิบที่เหลือเฟือเพียงพอต่อการใช้แต่ประการใด


ในส่วนของก๊าซธรรมชาติที่ถือว่าเป็นผลผลิตหลักที่ได้จากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยของเราเองนั้นเป็นอย่างไร จากข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่สามารถจัดหาได้ในประเทศทั้งบนบกและในทะเลรวมกับที่จัดหาได้จากแหล่งในพื้นที่พัฒนาร่วม ไทย - มาเลเซีย เฉลี่ยเดือนมิถุนายน 2556 อยู่ที่ 3,782 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศที่มีการใช้อยู่ที่ปริมาณ 4,671 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จึงต้องมีการนำเข้ามาจากประเทศพม่าและนำเข้ามาในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลวเพิ่มอีก 1,120 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งหากสังเกตแล้วจะเห็นได้ว่าการปริมาณการจัดหารวมทั้งหมดจะอยู่ที่ 4,902 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันนั้น สูงกว่าปริมาณการใช้อยู่ 231 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งตัวเลขการจัดหาที่เป็นส่วนเกินนี้มีไว้สำหรับกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ทำให้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบางแหล่งไม่สามารถจัดส่งมายังผู้ใช้ได้นั่นเอง อย่างไรก็ตาม การเรียกรับก๊าซธรรมชาติมาใช้นั้นจะเป็นการเรียกในปริมาณที่เท่ากับปริมาณความต้องการก๊าซธรรมชาติในแต่ละวันเท่านั้น

แต่เนื่องจากปริมาณการใช้นั้นไม่ได้หยุดนิ่งอยู่แค่ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น จริงๆ แล้วกลับเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจากการประมาณการการใช้ก๊าซธรรมชาติแล้วจะพบว่าความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในอีก 20 ปีข้างหน้านั้นจะเติบโตขึ้นไปถึงประมาณ 6,999 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ปริมาณการจัดหาในประเทศ (ที่มีสัญญาสัมปทานอยู่นั้น) กลับมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างรวดเร็วสวนทางกันกลับความต้องการ ดังนั้นเมื่อปริมาณการจัดหาในประเทศลดลงขณะเดียวกันกับที่ความต้องการใช้ในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ก็จะต้องมีความพยายามที่จะต้องหาก๊าซธรรมชาติมาเพื่อลดส่วนต่างตรงนี้ลงให้ได้ แล้วก๊าซธรรมชาติที่จะต้องจัดหานั้นจะมาจากที่ไหน อย่างไรละครับ

สิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นลำดับแรกก็คือการจัดหาในประเทศว่าเรามีปริมาณสำรองอยู่เท่าไร แล้วที่มีสัญญาสัมปทานที่กำลังดำเนินการสำรวจนั้นมีอีกเท่าไร เพียงพอหรือไม่ เราจะสามารถทำอย่างไรได้อีกในการเพิ่มปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติในประเทศ แล้วเมื่อพยายามทำทุกอย่างแล้ว หากการจัดหาก๊าซธรรมชาติในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการแล้วถึงจะพิจารณาว่าเราควรที่จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจากที่ไหนได้อีกบ้าง

เมื่อเข้าไปดูตัวเลขปริมาณสำรองที่รายงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแล้วจะเห็นว่าปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้วของประเทศไทยนั้นมีอยู่ 10,061 พันล้านลูกบาศก์ฟุต หากนำมาเทียบกับปริมาณการใช้ในประเทศปัจจุบันนั้นก็จะสามารถใช้ได้ไปอีกประมาณ 7-8 ปี ซึ่งเมื่อรวมกับปริมาณสำรองที่คาดว่าจะพบ (ซึ่งมีระดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว แต่ยังเชื่อมั่นว่าจะผลิตได้) อีก 10,793 พันล้านลูกบาศก์ฟุต ก็จะทำให้สามารถใช้ได้อีกประมาณ 15 ปี นี่แค่คำนวณจากปริมาณการใช้เฉลี่ยเดือนมิถุนายนตามที่ได้ข้อมูลมาเท่านั้น หากปริมาณการใช้เติบโตขึ้นอีก ก็จะทำให้ระยะเวลาที่เหลือสำหรับการใช้ก๊าซธรรมชาติลดลงไปอีก เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว ก็จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเราจำเป็นที่จะต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมทั้งในรูปของก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าผ่านระบบท่อส่งก๊าซจากประเทศพม่าและการนำเข้าในรูปแบบของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งมีราคาที่สูงกว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ผมเพียงแต่ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเราไม่ได้มีพลังงานมากอย่างที่คิด และสิ่งที่จำเป็นก็คือเราจะต้องมีการจัดหาพลังงานมาให้เพียงพอกับความต้องการในประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศที่จะได้รับ ซึ่งในตอนต่อๆ ไปผมจะค่อยๆ อธิบายให้เห็นแนวทางการจัดหาก๊าซธรรมชาติของประเทศว่าเป็นอย่างไร มีวิธีใดบ้าง และในแต่ละวิธีนั้นประเทศได้ประโยชน์อย่างไร โดยจะเริ่มจากความจำเป็นของการจัดหาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศซึ่งอยู่ในรูปแบบของระบบสัมปทานปิโตรเลียมก่อนครับ ซีรีส์นี้ยังอีกยาว