น้องเมย์...ฝึกฝนแบบจีน ชนะแบบไทย

น้องเมย์...ฝึกฝนแบบจีน ชนะแบบไทย

เป็นภาพความสำเร็จที่สุดแสนประทับใจสำหรับน้องเมย์ รัชนก อินทนนท์ สาวน้อยมหัศจรรย์ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์ลือลั่นกลบทุกหัวข่าว

ด้วยการคว้าแชมป์ศึกแบดมินตันโลกมาครองได้สำเร็จ นับเป็นแชมป์แบดมินตันโลกที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์และที่สำคัญเป็นการโค่น "หลี่เสียวรุ่ย" นักตบชาวจีน มือวางอันดับ 1 ของโลกในบ้านของตัวเองลือลั่นไปทั่วแดนมังกรและทั่วโลก

ชัยชนะของน้องเมย์สั่นสะเทือนวงการ เพราะแบดมินตันแต่ไหนแต่ไรมาเป็นกีฬามหาสมบัติกวาดเหรียญทองของจีนมีคนกล่าวว่าแบดมินตันซึ่งต้องอาศัยสามประสานคือทั้งความพร้อมของร่างกายความเร็วในการเคลื่อนไหวและไหวพริบในการตัดสินใจเป็นศิลปะการกีฬาที่สอดคล้องกับแนวปรัชญาจีนไม่ใช่ว่าคนที่แข็งแกร่งที่สุดจะชนะเสมอไปหากต้องเป็นคนที่ทั้งกายและใจพร้อมที่สุดต้องมีทั้งความฟิต ความเร็วและมีทั้งลูกเล่นรุกรับอันแพรวพราว

ในการแข่งขันโอลิมปิกเมื่อปี ค.ศ. 2012 ที่กรุงลอนดอน ทีมประเทศจีนกวาดเหรียญทองในการแข่งขันแบดมินตันทุกรายการเช่นเดียวกับในการแข่งขันชิงแชมป์แบดมินตันโลกครั้งก่อนหน้านี้ ดังนั้น การแข่งขันชิงแชมป์โลกที่เพิ่งผ่านพ้นไปจึงถือว่าทีมจีนฟอร์มตกลงอย่างน่าตกใจเพราะคว้าเหรียญทองมาได้เพียงสองรายการคือชายเดี่ยวและหญิงคู่ โดยสำหรับรายการชายเดี่ยวนั้นหลินตันหนุ่มมหัศจรรย์ชาวจีนคว้าแชมป์โลกชายเดี่ยวติดต่อกันเป็นสมัยที่ 5

ในวินาทีที่น้องเมย์คว่ำมือวางอันดับ 1 ชาวจีน คว้าแชมป์หญิงเดี่ยวมาครองได้สำเร็จเธอทรุดตัวลงกับพื้นน้ำตาพรั่งพรูอย่างไม่สามารถควบคุมได้ น้องเมย์เล่าว่าในวินาทีนั้นภาพความเหนื่อยยากตรากตรำในการฝึกซ้อมผ่านเข้ามาในหัวภาพแล้วภาพเล่า ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นผลจากความเพียรพยายาม ภายใต้การฝึกสอนของโค้ชชาวจีน “เซี่ยจือหัว” ซึ่งซุ่มซ้อมลูกศิษย์แววดีมาถึง 12 ปีก่อนจะโด่งดังพร้อมกันทั้งศิษย์ทั้งครูในวันนี้

สื่อกีฬาจีนได้สัมภาษณ์โค้ชเซี่ยภายหลังการแข่งขันพร้อมพาดหัวข่าวว่า "เหรียญทองของไทยสร้างด้วยมือคนจีน" ในอดีต โค้ชเซี่ยเคยเป็นคู่ฝึกซ้อมให้กับอดีตนักกีฬาทีมชาติชื่อดังของจีน “หลี่หย่งปอ” ซึ่งปัจจุบันก็กลายมาเป็นโค้ชประจำทีมชาติจีน

เมื่อ 21 ปีที่แล้วโค้ชเซี่ยได้รับการแนะนำให้มาเป็นผู้ฝึกสอนให้กับสโมสรบ้านทองหยอดในประเทศไทยเขาได้สร้างโปรแกรมการฝึกซ้อมที่มีประสิทธิภาพสำหรับทีมแบดมินตันเล็กๆ ของเขาจนปัจจุบันกลายมาเป็นโรงเรียนแบดมินตันชื่อดังที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค ไม่เฉพาะนักกีฬาไทยเท่านั้น มีนักกีฬาต่างชาติมาฝึกซ้อมกับเขาจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เขาเล่าว่า "วิธีการก็ปรับมาจากแนวทางการฝึกของทีมจีนนั่นแหละ" เพราะเขาเลือกใช้วิธีการฝึกฝนแบบจีนส่งผลให้ลูกศิษย์ของเขาสามารถกวาดแชมป์แบดมินตันในประเทศไทยได้เกือบทุกรายการ

โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด อาจไม่มีอุปกรณ์และความพร้อมเช่นโรงเรียนฝึกชั้นนำในเมืองจีน ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากรัฐบาล ทำให้มีทุนทรัพย์จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม แนวทางการฝึกที่โค้ชเซี่ยวางเป็นหลักให้กับโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดเหมือนกับแนวทางการฝึกฝนของนักกีฬาจีนอาจประมวลสรุปได้ 4 ข้อคือ เก็บชั่วโมงบิน มีระเบียบวินัย ฝึกฝนทักษะรอบด้าน และเข้าใจคู่ต่อสู้

เคล็ดลับข้อแรกคือ เก็บชั่วโมงบิน การจะปั้นดินเป็นดาวได้นั้นจะต้องเริ่มปั้นกันตั้งแต่ยังเล็ก น้องเมย์เองก็เริ่มเล่นแบดมินตันตั้งแต่อายุ 5 ขวบหลังจากวิ่งเล่นอยู่ในโรงงานทำขนมที่คุณแม่ทำงานอยู่จนมีผู้ใหญ่กลัวว่าจะไปเล่นซนจึงมาฝากให้ฝึกฝนแบดมินตันกับโค้ชเซี่ย โรงเรียนฝึกกีฬาทุกแห่งของจีนก็ยึดแนวทางนี้เด็กที่จะเตรียมตัวเล่นกีฬาอาชีพ ต้องเริ่มคุ้นเคยและเก็บชั่วโมงบินยิ่งเร็วยิ่งดี

ข้อสองคือ มีระเบียบวินัย พูดง่ายๆ คือต้องมีเป้าหมายชัดเจนและจริงจังไม่ใช่ทำอะไรเล่นๆ โค้ชเซี่ยบอกว่าเขาฝึกน้องเมย์ก็ฝึกเตรียมเพื่อให้เป็นแชมป์โลก เขาฝึกน้องชายของน้องเมย์เองก็เช่นเดียวกันจนตอนนี้น้องชายของน้องเมย์อายุเพียง 8 ขวบก็เริ่มชนะการแข่งขันรายการภายในประเทศ จ่อแท่นหนุ่มน้อยมหัศจรรย์ตามรอยพี่สาว โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดมีที่พักให้เด็กอยู่ประจำเพื่อฝึกฝนเดินในสายกีฬาอาชีพอย่างจริงจังไม่ใช่สองจิตสองใจเหมือนนักกีฬาไทยทั่วไป เล่นอาชีพและเรียนหนังสือไปด้วยพร้อมกันจนทั้งสองอย่างกลายเป็นงานอดิเรกไปทั้งคู่ น้องเมย์เองก็เรียนหนังสือควบคู่ไปด้วยแต่มีความชัดเจนว่าทุ่มเวลามาที่การฝึกเพื่อเล่นแบดมินตันเป็นอาชีพหลักจนประสบความสำเร็จ เธอต้องฝึกซ้อมไม่มีวันหยุดวันละ 2 รอบเช้าเย็นทุกวัน

ข้อสามฝึกฝนทักษะรอบด้าน โปรแกรมการฝึกจะต้องเน้นทั้งการฝึกความพร้อมของร่างกายฝึกการเคลื่อนไหวฝึกทักษะการเล่นลูกรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะหยอด ตบ ตัดสิ่งสำคัญคือไม่ใช่การฝึกแบบตามมีตามกรรมปล่อยให้เด็กๆ เล่นแข่งขันกันเอาสนุกไปเรื่อยแต่เป็นการเน้นไปทีละทักษะทีละลูกทีละเทคนิค พร้อมตรวจสอบและแนะนำแก้ไขจุดอ่อนของแต่ละ คนเสริมลูกที่เป็นจุดแข็งปิดลูกที่เป็นจุดอ่อน

ข้อสี่เข้าใจคู่ต่อสู้ โค้ชเซี่ยบอกว่าตนเข้าใจทีมจีนเป็นอย่างดีรู้ทะลุปรุโปร่งว่าจุดแข็งจุดอ่อนของนักกีฬาจีนแต่ละคนอยู่ตรงไหน ฝึกฝนมาอย่างไร เทคนิคเป็นอย่างไร ใครแพ้ทางใคร การแข่งขันครั้งนี้น้องเมย์โชคดีสองชั้น ชั้นแรกน้องเมย์แพ้ทางหวังอี้หานนักแบดชาวจีนอีกคน แต่สินธุยอดนักตบชาวอินเดียคว่ำหวังอี้หานผ่านเข้ารอบมาได้ทำให้น้องเมย์สามารถชนะสินธุผ่านเข้ารอบชิงได้สำเร็จ ชั้นที่สองหลี่เสี่ยวรุ่ยแชมป์โลกชาวจีนซึ่งผ่านมาถึงรอบชิงเช่นกันแม้จะเป็นมือวางอันดับ 1 ของโลกเป็นแชมป์เหรียญทองโอลิมปิกแต่กลับยังไม่เคยได้แชมป์รายการนี้มาก่อน (เป็นรายการใหญ่รายการเดียวที่เธอยังไม่เคยได้แชมป์) ทั้งยังเป็นการแข่งภายในบ้านตัวเองทำให้เธอกดดันมาก ถ้าเข้าใจจุดนี้เล่นเกมรับและพลาดให้น้อยที่สุดเธอก็จะแพ้ "ใจ" ตัวเองส่งผลให้ตีลูกพลาดและเกมเป็นรองน้องเมย์

โค้ชเซี่ยทราบดีว่า ในภาพรวมจุดแข็งของจีนอยู่ที่การฝึกฝนที่หนักและการแข่งขันภายในที่ดุเดือด เพราะนักกีฬาจีนที่เก่งๆ มีมากแต่นั่นก็กลายเป็นจุดอ่อนเช่นกัน คือ ความล้าและความกดดัน น้องเมย์ได้เปรียบตรงที่ร่างกายมีความพร้อมและยังเติบโตในบรรยากาศของสังคมที่อบอุ่นกว่าดังเราจะเห็นน้องเมย์ตีไป ยิ้มไป ยกมือไหว้ไป น้องเมย์ฝึกฝนมาแบบจีนจนแกร่งกล้า แต่น้องเมย์คว้าชัยชนะแบบไทย ด้วยรอยยิ้ม ด้วยความอดทน อ่อนนอกแข็งในที่ชนะใจทุกคน!!