เด็ก ”เบี้ยวหนี้” ผิดที่ใคร

เด็ก ”เบี้ยวหนี้” ผิดที่ใคร

เป็นตัวเลขที่น่าตกใจ สำหรับการผิดนัดชำระหนี้ของนักศึกษา ที่กู้ยืมเงินจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือ กยศ.

ที่มีสัดส่วนถึง 25% หรือ 1 ล้านราย จากผู้กู้ทั้งหมด 4 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ค้างชำระ 5 หมื่นล้านบาท จากวงเงินปล่อยกู้รวม 4 แสนล้านบาท

ที่น่าตกใจกว่านั้น คือ ในจำนวนผู้กู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ 100 คน เป็นผู้กู้ที่จบการศึกษาแล้วมีงานทำจำนวน 70 คน ที่ไม่ยอมชำระหนี้ ส่วนอีก 30 คน เป็นผู้กู้ที่ยังไม่มีงานทำ กรณีของผู้ที่ไม่มีงานทำนั้น พอเข้าใจได้ว่า ผู้กู้จะไม่มีเงินมาชำระหนี้ ส่วนกรณีของผู้ที่มีงานทำ แต่ไม่นำเงินมาชำระหนี้ หมายความได้ 2 ประการ คือ 1.มีรายได้ แต่ไม่ยอมชำระหนี้ หรือ 2.มีรายได้ แต่ไม่เพียงพอชำระหนี้

กระทรวงการคลังในฐานะกำกับดูแลกยศ. เตรียมแผนบังคับให้ผู้กู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ ต้องถูกส่งรายชื่อเข้าสู่ศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ นั่นหมายความว่า นักศึกษารายนั้น จะถูกตัดสิทธิ์ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จากสถาบันการเงินในระบบ เพราะมีประวัติการผิดนัดชำระหนี้

ถือเป็นไม้แข็งที่นำมาใช้กับนักศึกษาที่ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งอาจจะได้ผลกับรายที่เห็นประโยชน์ของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอนาคต และ อาจจะเป็นประโยชน์ทางอ้อมให้ผู้ที่ไม่มีงานทำต้องเร่งหางานทำให้ได้ แต่สำหรับรายที่ยังไม่เห็นประโยชน์ อาจจะไม่ได้ผลนัก โดยเฉพาะในรายที่ขาดจิตสำนึก

ที่น่าแปลกใจ ซึ่งผู้กำหนดนโยบายจะต้องหันมาให้ความสนใจ และวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แน่ชัด คือ ในกลุ่มที่มีงานทำ มีรายได้ แต่ไม่ยอมชำระหนี้นั้น มีสาเหตุมาจากอะไร โดยเฉพาะในรายที่มีรายได้สูงในระดับ 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน แต่ไม่ยอมชำระหนี้แม้แต่บาทเดียว

หากเป็นเพราะเงื่อนไขการชำระหนี้ที่ผ่อนปรน อาทิ อัตราดอกเบี้ยต่ำ มีระยะเวลาการปลอดหนี้ 2 ปี และ ให้เวลาในการชำระหนี้นานถึง 15 ปี ขณะที่ การบังคับการชำระหนี้ด้วยการฟ้องร้อง เพิ่งนำมาใช้ในระยะหลัง ก็เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ เพราะเมื่อไม่มีกติกาที่เข้มงวด การผิดนัดชำระหนี้ จึงเกิดขึ้นได้ง่าย

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตผู้กู้ในรายที่มีงานทำ ปัจจุบันเขาอาจจะเป็นผู้กู้ในระบบสถาบันการเงิน เพราะด้วยแรงจูงใจต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมให้ประชาชนก่อภาระหนี้ได้อย่างง่ายดาย อาทิ โครงการบ้านหลังแรก หรือ โครงการรถยนต์คันแรก ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายโดยรวมต่อเดือนอยู่ในระดับสูง อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้กยศ.ต้องตกเป็นเจ้าหนี้ลำดับสุดท้าย

แต่หากเป็นเพราะ “ผู้กู้” ไม่มีจิตสำนึกที่ดีในการชำระหนี้ กรณีนี้ ถือว่า ร้ายแรง เพราะมันหมายถึง “วินัย”ที่ขาดการสั่งสม หรือ การสั่งสอน เพื่อที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีวินัยในอนาคต ประเด็นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้เวลาถกเถียงถึงที่มาที่ไป เรียกได้ว่า อาจต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ตั้งแต่ระดับอนุบาลเลยทีเดียว เพราะเด็กที่ เบี้ยวหนี้ในวันนี้ อาจโตเป็นผู้ใหญ่ที่โกงในอนาคต

หรือ หากเป็นเพราะ”นโยบาย”ของภาครัฐที่ส่งเสริมทางอ้อมให้เกิดการเบี้ยวหนี้ เพราะคิดว่า อย่างไรเสีย รัฐบาลก็คงไม่ทำอะไรร้ายแรง เพราะมีคะแนนเสียงเป็นตัวประกัน เพราะแม้แต่ คนที่มีประวัติการชำระหนี้ดีอยู่แล้ว รัฐบาลก็ยังประกาศให้หยุดพักชำระหนี้ได้ ซึ่งเด็กอาจถือเป็นตัวอย่างในการเรียนรู้ที่จะ”เบี้ยวหนี้" กรณีนี้ถือว่า ผิดที่คนคิดนโยบาย