การเปลี่ยนแปลงของวิชาชีพต่างๆ

การเปลี่ยนแปลงของวิชาชีพต่างๆ

สัปดาห์ที่ผ่านมานอกเหนือจากข่าวการเมืองในประเทศแล้ว ข่าวทางธุรกิจที่น่าสนใจข่าวหนึ่งในต่างประเทศคือการที่ Jeff Bezos CEO ของ Amazon

เข้าไปซื้อกิจการหนังสือพิมพ์ Washington Post ซึ่งถือเป็นสถาบันทางด้านสื่อสารมวลชนที่เก่าแก่และน่าเชื่อถือแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ณ ขณะนี้อาจจะยังบอกไม่ได้ว่าหน้าหรือรูปโฉมของ Washington Post จะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ประกอบกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ที่ทวีความรุนแรงและสำคัญมากขึ้นตลอดเวลา ทำให้เราเริ่มเห็นและตระหนักได้แล้วนะครับว่า วิชาชีพต่างๆ ที่ดำรงอยู่มานานอย่างมั่นคงอาจจะต้องเริ่มเปลี่ยนไปครับ

ที่ผมหมายถึงวิชาชีพที่ดำรงอยู่มาอย่างยาวนานและมั่นคงนั้น ท่านผู้อ่านลองนึกถึงวิชาชีพต่างๆ อาทิเช่น ครู (ที่มีมาก่อนคริสตกาล) หรือ แพทย์ (ที่มีมาก่อนยุคประวัติศาสตร์) หรือ นักหนังสือพิมพ์ (ที่มีมาตั้งแต่ปี 1400) หรือ นักบัญชี (ที่วิชาชีพบัญชีเริ่มมีมาอย่างจริงจังตั้งแต่สมัย Renaissance) วิชาชีพต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นวิชาชีพที่เก่าแก่และมีมานานเป็นร้อยเป็นพันปี ประเด็นสำคัญคือจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันจะทำให้รูปแบบและการดำเนินงานของวิชาชีพเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

จริงอยู่นะครับว่าการเปลี่ยนแปลงในวิชาชีพต่างๆ นั้นคงไม่ได้เป็นไปในลักษณะพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือเปลี่ยนแปลงในทันที แต่ผมเชื่อว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ หรือ ที่เราเรียกว่า Megatrends ย่อมต้องส่งผลต่อผู้ที่ประกอบวิชาชีพต่างๆ เหล่านี้ไม่มากก็น้อย

การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่สำคัญหรือที่เราเรียกว่า Megatrends นั้นก็มีหลายสำนักหรือหน่วยงานที่ออกมาพยากรณ์กันไว้ครับ ส่วนตัวผมเองที่คิดว่าจะส่งผลกระทบต่อการทำงานในวิชาชีพต่างๆ นั้นก็มีหลายประการ อาทิเช่น เรื่องของเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงและพลิกโฉมในหลายๆ วิชาชีพ การที่ซีอีโอของ Amazon เข้ามาซื้อสื่อเก่าอย่าง Washington Post นั้น สาเหตุหนึ่งก็มาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้อ่าน ที่ทำให้วงการหนังสือพิมพ์ทรุดตัวและหลายๆ สำนักต้องปิดตัวหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจตัวเองไป

ผมลองหันมาดูใกล้ๆ ตัวอย่างวิชาชีพบัญชีกันบ้างนะครับ ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ เราผลิตบุคลากรในวิชาชีพบัญชีออกไปปีละไม่ต่ำกว่า 200 คน สิ่งหนึ่งที่เราพบคือจากกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทำให้ทักษะในวิชาชีพของนักบัญชีรุ่นใหม่ต้องเปลี่ยนไป ตั้งแต่อดีตมาเรามีความเข้าใจว่านักบัญชี ควรจะเป็นผู้ที่สามารถอยู่กับตัวเลขได้ (อย่างน้อยไม่เห็นตัวเลขเยอะๆ แล้วเป็นลม) มีความละเอียดรอบคอบ เป็นผู้ที่ช่างสังเกต อีกทั้งยังควรเป็นผู้ที่มีความขยัน อดทน และมุ่งมั่น

จริงอยู่ที่คุณสมบัติต่างๆ ข้างต้นยังคงต้องมีอยู่ในนักบัญชี แต่จาก Megatrends ต่างๆ ทำให้นักบัญชีในอนาคตไม่สามารถที่จะเป็นผู้ที่เพียงแต่รู้ลึกในวิชาชีพของตนเท่านั้น (จริงๆ ไม่ใช่แต่เฉพาะนักบัญชีหรอกครับ) แต่ความรู้กว้าง และความสามารถในการผสมผสานระหว่างสิ่งที่รู้ลึกเข้ากับสิ่งที่รู้กว้างเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญสำหรับทุกวิชาชีพ ที่น่าสนใจคือมีกระแสที่ว่าในอนาคตการที่จะเชี่ยวชาญแต่เฉพาะในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอาจจะไม่เพียงพอแล้ว Trans-Disciplinarity หรือความรอบรู้ในหลายๆ วิชาชีพหรือศาสตร์กลายเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับอนาคต

จากกระแส Megatrends ในเรื่องของการแพร่กระจายของความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้อย่างรวดเร็ว ก็ทำให้นักบัญชียุคใหม่ต้องเปลี่ยนไป นักบัญชี (รวมทั้งวิชาชีพอื่นๆ) จะไม่สามารถอยู่แต่เฉพาะในศาสตร์หรือวิชาชีพของตนเองได้ ทักษะในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้ในสิ่งที่ใหม่และไม่คุ้นเคย

จริงๆ ยังมีอีกหลาย Megatrends ที่จะส่งผลกระทบต่อวิชาชีพต่างๆ นะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Green Economy หรือ Emerging New Customers หรือ ความสำคัญของภาคราชการ หรือความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจต่างๆ และปัจจุบันองค์กรวิชาชีพต่างๆ ก็ได้หันมาให้ความสนใจต่อการพัฒนาบุคลากรในวิชาชีพของตนเองให้พร้อมที่จะรองรับต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น สภาวิชาชีพบัญชี ก็กำลังจะจัดงานประชุมนักบัญชีทั่วประเทศ (ครั้งที่ 19) ในเรื่อง “2020s Where We Are? บทบาทของนักบัญชีในทศวรรษหน้า” ในช่วงปลายปีนี้ เพื่อนำเสนอให้เห็นถึงบทบาทของวิชาชีพบัญชีในทศวรรษหน้า (ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.fap.or.th)