รางวัลล่อซื้อ - การศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

รางวัลล่อซื้อ -  การศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

ข่าวร้ายในต้นศตวรรษที่ 21 นี้ก็คือ การศึกษามิใช่ยาครอบจักรวาลที่จะลดความเหลื่อมล้ำ เติมเต็มความเสมอภาค

การได้เข้าโรงเรียนและการศึกษาพื้นฐานฟรี 9-12 ปี มิใช่การให้โอกาสเสมอภาคแต่อย่างใด นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา สถานศึกษาเป็นสถานที่ยิ่ง “ถ่าง” ความเหลื่อมล้ำต่างหาก

เมื่อประมาณ พ.ศ. 2480 มีประชากรในภาคเหนือรู้อ่านเขียนภาษาไทยกลางไม่ถึง 10-15 เปอร์เซ็นต์ รัฐธรรมนูญ ที่นำไปพิมพ์เผยแพร่ในภาคเหนือจึงใช้โรงพิมพ์ภาษาท้องถิ่นของหมอสอนศาสนา มาจนถึงวันนี้ประชากรในภาคเหนืออ่านออกเขียนได้เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ ถามว่า ความเหลื่อมล้ำสารพัดอย่างในภาคเหนือลดลงในอัตราส่วนเดียวกันหรือ ?

อุดมศึกษาที่ทั่วถึงยิ่งขึ้นก็ดี หมื่นห้าปริญญาตรีก็ดี มาพร้อมกับคุณภาพต่ำลงของสถาบันอุดมศึกษาทุกระดับ มีวุฒิปลอมมหาวิทยาลัยเก๊เป็นดอกเห็ด

หนุ่มสาวทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนากำลังกอดปริญญาตกงานทั่วโลก เป็นปัจจัยเสริมให้เกิด “อาหรับ สปริง” ทั่วโลกานั่นอย่างไร

จึงอาจเป็นเพียงรางวัลล่อซื้ออย่างหนึ่งเท่านั้น นโยบายสร้าง “โอกาสเสมอภาค” ด้วยการปฏิรูปการศึกษา ที่ทำให้การเมืองระบบรัฐสภาและพรรคการเมืองยัง "ขาย" ได้ในการเลือกตั้งอยู่มาจนถึงวันนี้

มิพักจะต้องไปเอ่ยถึง “โอกาสเสมอภาค” ในด้านอื่นๆ ที่พูดไปก็มีแต่เหม็นขี้ฟัน เช่น ในด้านการค้า การเข้าถึงแหล่งเงินทุน สิทธิทางกฎหมาย ฯลฯ ตั้งแต่ปีมะโว้ที่มีการเมืองระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง นโยบายโอกาสเสมอภาคเหล่านี้ ถมหลุมดำความเหลื่อมล้ำเท่าไรก็ไม่รู้จักเต็ม ในโลกหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมและระบบทุนนิยม ความเหลื่อมล้ำมีแต่จะถ่างขึ้น

ชัดเจนว่าระบบการศึกษาเท่าที่มีมาในทุกประเทศมีแต่จะเป็นใจส่งเสริมให้ชนชั้นกลางและชนชั้นสูงให้เข้าถึงได้และได้ประโยชน์สูงสุด การพัฒนาเพิ่มคุณภาพการศึกษาโดยรวมอาจทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาโดยเฉลี่ยสูงขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำในความสำเร็จที่เด็กแต่ละคนได้กลับยิ่งถ่างมากขึ้นกว่าเสียอีก เพราะปัจจัยครอบครัวต่างกันมาก เด็กแต่ละคน "มือยาว" สาวได้สาวเอาไม่เท่ากัน “ความสามารถ” ของเราทุกคนที่จะใช้และได้ประโยชน์จากโอกาส ที่จัดให้ “เสมอภาค” อาทิเช่น การศึกษาฟรีทุกระดับชั้น ระบบการค้าเสรีที่ทุกคนมีสิทธิแข่งขัน สิทธิทางกฎหมาย หรือแม้แต่รักษาฟรีทุกโรค รวมไปถึงงบประมาณจำนำข้าว บ้านหลังแรก รถคันแรก ฯ เราหาได้เข้าถึง “เท่ากัน” ไม่

ไม่ว่ายุคสมัยจะผ่านไปแค่ไหน มีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำอย่างไรเช่นด้วยการศึกษา การเศรษฐกิจ มาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจัยครอบครัวก็ยังยิ่งใหญ่ ยากจะเสริมหรือเติมหรือทดแทนได้ด้วยปัจจัยอื่น เป็นตัวกำหนดชี้ขาดขีดความสามารถในแต่ละคนที่เหลื่อมล้ำ ซึ่งจะถือเป็นข่าวร้าย หรือข่าวดี ก็สุดแล้วแต่

ขีดความสามารถ หรือที่จะเรียกให้เข้าระบบการผลิต ก็คือ ทุนความสามารถมนุษย์ (human capital) มาจากหลายๆ ปัจจัย ที่เรายอมรับกันโดยทั่วๆ ไป ก็เช่น คุณภาพการดูแลตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงหลังการคลอด วัฒนธรรมของพ่อแม่ การศึกษาที่ได้รับ และปัจจัยสังคมอื่นๆ

ทว่าที่เราอาจเถียงกันหน้าดำหน้าแดง ก็คือการที่นักวิชาการหลายแขนงในขณะนี้รวมหัวกันชี้ว่า ปัจจัยทางยีนส์ (genetics) และ ปัจจัยของกลุ่มทางสังคม (communual groupings) ของเรา เช่น ศาสนา เผ่าพันธุ์ (race) กลุ่มชาติพันธุ์ (ethnicity) ก็ร่วมเป็นปัจจัยด้วย

ในอดีต งานศึกษาทางสังคมวิทยาอย่างของ แมกซ์ เวเบอร์ ที่สรุปว่า ค่านิยมแบบนิกายโปรเตสแตนต์ทำให้ชาวโปรเตสแตนต์ทำธุรกิจสำเร็จมากกว่าชาวคาทอลิกถูกวิจารณ์มากมาย แต่ลองมาฟังดูหลักฐานใหม่ร่วมสมัยชนิดนี้ดูบ้าง

พบว่าในทุกสังคมที่มีผู้อพยพลงหลักปักฐานใหม่ในยุโรปและสหรัฐฯ ในศตวรรษที่ผ่านมา ลูกหลานของครอบครัวชาวเอเชีย เช่น เชื้อสายจีนในสหรัฐ และแคนาดา เชื้อสายเวียดนามในฝรั่งเศส เชื้อสายจีนและอินเดียในอังกฤษ คือกลุ่มสังคมที่ประสบความสำเร็จเหนือทุกกลุ่มสังคมและชาติพันธุ์อื่น

แม้แต่ในสังคมยุโรปเหนือที่สังคมเดิมมีความคล้ายคลึงกันมาก เช่น ชาติพันธุ์ ศาสนา การศึกษา ฯ ไม่หลากหลายเหมือนสังคมอเมริกัน หรือแคนาดา ลูกหลานคนเอเชียก็ประสบความสำเร็จทุกทางสูงกว่ากลุ่มผู้อพยพใดๆ

ทางแก้ความเหลื่อมล้ำต่างๆ เหล่านี้ ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์ เจอร์รี่ มุลเลอร์ แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย* แนะไว้ไม่กี่อย่างและเป็นการบอกอย่างกว้างๆ ไม่มีสูตรสำเร็จ ลอกเลียนแบบก็ไม่ได้

สำคัญสุดที่เขาต้องการบอกก็คือ อย่าไปหวังให้การศึกษาเป็นยารักษาครอบจักรวาลเป็นอันขาดในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ

ที่น่าจะดีกว่าไปทุ่มเททรัพยากรและสร้างความหวังลมๆ แล้งๆ กับการศึกษา (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะปล่อยให้การศึกษาเละตุ้มเป๊ะ ถึงอย่างไรก็ยังต้องจัดสรรทรัพยากรและใช้ทรัพยากรทางการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด แต่ต้องเข้าใจข้อจำกัดของการศึกษาในพลวัตใหม่ทางเศรษฐกิจสังคมในศตวรรษที่ 21) ก็คือ การมีนโยบายทางสังคมที่เกื้อกูลคนด้อยความสามารถด้อยโอกาสอย่างมีหลักการและเหตุผลที่สมเหตุสมผล ให้พออยู่ด้วยกันไปได้ เช่น รัฐสวัสดิการด้านต่างๆ ประกันสังคม ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล ฯ ด้วยการเก็บภาษีคนที่มีจะให้เก็บ โดยต้องเป็นการเกื้อกูลที่ยั่งยืนด้วยกันทั้งระบบ ไม่สร้างความรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมที่ช่วยกลุ่มใดมากกว่ากลุ่มใด สังคมต้องใช้หลักการความสามารถคุณสมบัติถึง (meritocracy) เป็นเกณฑ์ตัดสิน ไม่ใช่เล่นพรรคเล่นพวกหรือประชานิยม จึงจะรักษาระบบเศรษฐกิจให้มีพลวัตที่ดีอยู่ได้ (economic dynamism)

ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกสังคม อาจทำให้รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขผิดๆ และใช้นโยบายประชานิยม การให้ "โอกาส" คนที่ความสามารถไม่ถึงให้ได้ตำแหน่งได้งาน การจัดสรรให้เงินไปใช้อย่างไม่สมเหตุสมผล จะเกิดการหย่อนสมรรถภาพ สะดุดทั้งระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในที่สุดจะเป็นการทำลายพลวัตระบบเศรษฐกิจลงโดยตรง เรียกว่า วิธีรักษาโรคเลวร้ายยิ่งกว่าโรคที่เป็นเสียอีก


*Capitalism and Inequality , Foreign Affairs มีนาคม/เมษายน ๒๐๑๓ หน้า ๓๐ -๕๑.