ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) คิดราคากันอย่างไร (2)

ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) คิดราคากันอย่างไร (2)

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นก็ได้มีข่าวว่าทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือที่เรียกกันว่า กพช.

ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้นก็ได้มีมติเห็นชอบให้มีการทยอยปรับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในอัตรา 0.50 บาทต่อกิโลกรัม โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนที่จะถึงนี้ โดยได้มีการจัดทำมาตรการการให้ความช่วยเหลือต่อครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยซึ่งก็คือผู้ที่ใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือนและครัวเรือนผู้ไม่มีไฟฟ้าใช้ซึ่งมีอยู่ประมาณ 8 ล้านครัวเรือน ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มผู้ที่ได้รับการช่วยเหลืออีกกลุ่มก็คือกลุ่มร้านอาหารขนาดเล็กๆ หาบเร่ แผงลอยอาหาร ซึ่งก็ได้มีการประมาณกันว่ามีจำนวนเป็นหลักแสน แต่สำหรับเราๆ ท่านๆ ที่ไม่ได้อยู่ในสองกลุ่มดังกล่าวก็จะต้องซื้อก๊าซ LPG ในราคาที่จะถูกปรับไปตามที่เป็นมติของ กพช. ต่อไป

ในตอนที่ผ่านมาผมก็ได้เล่าไปแล้วถึงต้นทุนของก๊าซ LPG ในประเทศไทยที่มีที่มาจากสามแหล่งหลักๆ คือก๊าซ LPG ที่มาจากโรงกลั่นน้ำมัน จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และจากการนำเข้า ซึ่งผมก็ได้กล่าวไปถึงว่าต้นทุนจากแต่ละแหล่งนี้อยู่ที่เท่าใดกันบ้าง ในตอนนี้ผมก็จะมาเล่าต่อถึงโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ของประเทศไทยกันต่อว่าเป็นอย่างไร

ถ้าเข้าไปดูในโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ในหน้าเว็บไซต์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน จะพบโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ที่คล้ายๆ กับโครงสร้างราคาน้ำมัน โดยมีราคาเริ่มต้นที่เราเรียกกันว่าราคา ณ โรงกลั่น ซึ่งปัจจุบันรัฐนั้นได้กำหนดเพดานราคา LPG สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงไว้อยู่ที่ 332.7549 บาทต่อตัน หรือถ้าเป็นตัวเลขกลมๆ ก็ 333 ดอลลาร์ต่อตันตามที่ผมได้กล่าวไปเมื่อตอนที่แล้ว สำหรับราคา 333 ดอลลาร์ต่อตันนี้ถ้าแปลงเป็นบาทต่อกิโลกรัมก็อยู่ที่ประมาณ 10.30 บาทต่อกิโลกรัม (ราคา ณ วันที่ 29 กรกฎาคม 2556) และหน่วยที่เป็นบาทต่อกิโลกรัมนี้ก็อาจจะปรับเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันนั้นๆ

คราวนี้ก็มาถึงต้นทุนของก๊าซ LPG ที่มาจากแหล่งต่างๆ ที่ผมได้นำเสนอเมื่อตอนที่ผ่านมาเช่นกันว่า ราคา LPG ที่มาจากโรงกลั่นน้ำมันนั้นก็จะเป็นสูตรที่มีการเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างราคาตลาด (หรือที่เรียกว่า Contract Price : CP) ในสัดส่วนร้อยละ 76 และราคาเพดานตามที่รัฐกำหนดในสัดส่วนร้อยละ 24

ซึ่งหากลองพิจารณาจากสูตรนี้ก็จะเห็นว่าราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของก๊าซ LPG ที่มาจากโรงกลั่นนี้ยังไงก็สูงกว่าเพดานราคาที่รัฐเป็นผู้กำหนด ก็เนื่องมาจากสัดส่วนของราคาตลาด (ที่แพงกว่าราคาที่รัฐกำหนด) ที่เข้ามาเฉลี่ยในสูตรนั้นมีมากกว่า ดังนั้น ผู้ผลิตหรือโรงกลั่นที่เห็นว่าต้นทุนราคาก๊าซ LPG ของตนเองสูงกว่าเพดานราคา ณ โรงกลั่นที่รัฐกำหนดก็ไม่อยากที่จะผลิตหรือนำออกมาขาย เพราะว่าขายไปก็ขาดทุน แถมราคาก็ดันไปต่ำกว่าราคาน้ำมันเตาซะอีก ก็เลยนำก๊าซ LPG ที่ผลิตได้มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงกลั่นแทนดีกว่า ซึ่งก็ทำให้ก๊าซ LPG จากโรงกลั่นที่ออกมาสู่ตลาดนั้นลดลง ส่งผลให้มีการนำเข้าก๊าซ LPG มากขึ้น

ขณะที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติเองนั้นผมก็ได้กล่าวไปแล้วว่าต้นทุนก๊าซ LPG นั้นอยู่ที่ประมาณ 550 ดอลลาร์ต่อตัน โดยวัตถุดิบในการผลิตนั้นก็มาจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งรัฐเองนั้นก็ไม่ได้เข้าไปชดเชยในส่วนนี้ และผลต่างของต้นทุนการผลิตที่ 550 ดอลลาร์ต่อตันกับและราคา ณ โรงกลั่นที่รัฐกำหนดไว้ที่ 333 ดอลลาร์ต่อตันนั้น ทางผู้ประกอบการโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นผู้รับภาระไป

สำหรับก๊าซ LPG ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศนั้นรัฐก็ได้เข้าไปชดเชยส่วนต่างราคาทั้งหมด ซึ่งหากไม่มีการชดเชยแล้วก็จะไม่มีผู้ใดนำเข้าก๊าซ LPG เข้ามาในประเทศเนื่องจากต้องนำเข้ามาในราคาที่สูงแต่ต้องมาขายในราคาที่ต่ำกว่าคือซื้อมาที่ราคา 850 ดอลลาร์ต่อตัน (รวมค่าใช้จ่ายในการนำเข้า) แต่ขายได้ในราคาเพียงแต่ 333 ดอลลาร์ต่อตัน ขาดทุนไปถึงประมาณ 517 ดอลลาร์ต่อตัน

ภาระชดเชยของราคาก๊าซ LPG ที่มาจากโรงกลั่นน้ำมันและจากการนำเข้าที่ทางกองทุนน้ำมันเข้าไปชดเชยที่กล่าวมาข้างต้นนี้มีมูลค่าสูงถึง 3,000-4,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับราคาตลาด หรือราคา CP นั่นเอง โดยจะเปลี่ยนแปลงไปทุกๆ เดือน

จากราคา ณ โรงกลั่นที่ 333 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัมนั้น เราก็มาดูองค์ประกอบอื่นๆ ในโครงสร้างราคา LPG กันบ้าง ซึ่งก็มีโครงสร้างเหมือนๆ กับโครงสร้างราคาน้ำมัน จะต่างกันตรงที่โครงสร้างราคา LPG ในปัจจุบันนั้นมีการแบ่งออกเป็น 3 ราคา คือ ราคาสำหรับภาคครัวเรือน ราคาสำหรับภาคขนส่ง และราคาสำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยในโครงสร้างราคาสำหรับทั้งสามภาคนั้นก็ประกอบไปด้วยภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล กองทุนน้ำมัน แต่ในโครงสร้างราคาก๊าซ LPG นี้ไม่มีการเก็บเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงานเหมือนกับน้ำมันสำเร็จรูปประเภทอื่นๆ แต่มีที่น่าสังเกตก็คือมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันสองครั้ง ครั้งแรกเป็นการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันในอัตรา 0.9946 บาทต่อกิโลกรัมเท่าๆ กัน ซึ่งการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันส่วนนี้นั้นก็ถูกนำไปใช้ในการชดเชยค่าขนส่งก๊าซ LPG ไปยังคลังก๊าซ LPG ก็เพื่อให้ราคาก๊าซ LPG ณ คลังต่างๆ ทั่วประเทศมีราคาเท่ากัน หลังจากนั้น จะมีการเก็บเงินเข้ากองทุนอีกก้อนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในโครงสร้างราคาสำหรับภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม โดยในภาคขนส่งนั้นถูกเก็บอยู่ที่ 3.0374 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมถูกเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันอยู่ในอัตรา 10.83 บาทต่อกิโลกรัม การเรียกเก็บกองทุนน้ำมันครั้งที่สองนี้ เป็นการเรียกเก็บเพื่อนำไปใช้ในการลดภาระของเงินกองทุนน้ำมันที่จะต้องจ่ายชดเชยในส่วนของผลต่างของราคา ณ โรงกลั่นที่ผมได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น

อย่างไรก็ตาม การปรับราคาก๊าซ LPG สำหรับภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรมขึ้นนี้ ผมยังเห็นว่าไม่ได้เป็นการแก้ไขระบบการคิดราคาที่ต้นเหตุ เนื่องจากราคา ณ โรงกลั่นนั้นยังถูกตรึงอยู่ที่ 333 ดอลลาร์ต่อตันเหมือนเดิม ดังนั้น การชดเชยจากกองทุนน้ำมันก็ยังคงเหมือนเดิม เพียงแต่มีการเก็บเข้ามาเพิ่มจากการกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันใหม่เท่านั้นที่มาช่วยลดภาระ แต่ถ้าจะให้เป็นการปรับราคาที่เหมาะสมแล้ว ราคา ณ โรงกลั่นควรที่จะปรับให้สะท้อนกับต้นทุนของก๊าซ LPG จากแหล่งที่มาต่างๆ มากกว่าการที่จะไปกำหนดให้มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าทางรัฐจะให้มีการคำนวณราคา ณ โรงกลั่นอย่างไรที่ทำให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้านั้นสามารถที่จะประกอบธุรกิจโดยไม่ขาดทุนและก็ต้องให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนด้วยเช่นกัน

สำหรับภาคปิโตรเคมีนั้นไม่ได้ซื้อก๊าซ LPG เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง แต่เป็นการซื้อเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตอื่นๆ ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งการนำก๊าซ LPG ไปใช้เป็นวัตถุดิบนี้ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับก๊าซ LPG แทนที่จะนำไปเผาทิ้งเฉยๆ ซึ่งมูลค่าของภาคปิโตรเคมีต่อเศรษฐกิจนั้นมีถึง 700,000 ล้านบาทต่อปี รวมถึงมีการจ้างงานมากกว่า 300,000 คน สำหรับราคาของก๊าซ LPG ที่ทางปิโตรเคมีนั้นก็เป็นการซื้อที่ราคาที่เป็นไปตามข้อตกลงของผู้ซื้อผู้ขายและสภาวะของตลาด ณ ขณะนั้นและไม่ได้ถูกกำหนดเพดานเหมือนกับราคา ณ โรงกลั่นของก๊าซ LPG ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยราคาเฉลี่ยปี 2555 นั้นอยู่ที่ประมาณ 22-23 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่นที่รัฐตรึงไว้ที่ประมาณ 10.30 บาทต่อกิโลกรัมอยู่พอสมควร ที่ผมนำไปเปรียบเทียบกับราคา ณ โรงกลั่นก็เพราะราคานี้เป็นราคาที่ยังไม่รวมภาษีและกองทุนต่างๆ ซึ่งถือเป็นราคาต้นทุนของเนื้อก๊าซ LPG จริงๆ เปรียบเทียบกัน เราจะไม่เอาราคาขายปลีกก๊าซ LPG ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงจากภาคอุตสาหกรรมไปเทียบกับราคาก๊าซ LPG ที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับภาคปิโตรเคมี เพราะที่มาของราคาไม่เหมือนกัน

ดังนั้น คนที่บอกว่าภาคอุตสาหกรรมซื้อก๊าซ LPG แพงกว่าภาคปิโตรเคมีนั้นคงจะไม่ถูกต้องนัก และในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีก็มีการคิดภาษีอยู่แล้วในผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย ทั้งในรูปของภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา