เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนโครงสร้างประชากรโลก(1)

เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนโครงสร้างประชากรโลก(1)

หลังจากที่ดิฉันเขียนถึงการ(แอบ)ไปสังเกตดูการเตรียมรับมือกับประชากรสูงวัยของญี่ปุ่น มีแฟนคอลัมน์จำนวนหนึ่งแสดงความเป็นห่วง

การเตรียมการรับมือของประเทศไทย

ความจริงก็คือว่า ทุกประเทศต้องเตรียมรับมือกันหมดค่ะ องค์การสหประชาชาติได้ทำงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2007 หรือ 6 ปีมาแล้วว่า โลกจะมีประชากรสูงอายุเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าประชากรวัยเด็กเป็นครั้งแรกก่อนปี 2050 โดยจะมีสัดส่วนถึง 21% ของประชากรโลก ซึ่งมากกว่าช่วงใดๆ ในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติค่ะ

เพราะฉะนั้น ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่ประสบกับปัญหานี้ ประเด็นที่สำคัญที่รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นคือ ประเทศกำลังพัฒนาจะพบกับสถานการณ์สังคมสูงวัยเร็วกว่าประเทศพัฒนาแล้ว และจะมีเวลาในการปรับตัวน้อยกว่า

ปัญหาที่จะตามมาคือ วัยทำงานที่จะต้องรับภาระในการดูแลผู้สูงวัยจะต้องแบกรับภาระหนักขึ้น แต่เดิมในปี 1950 คนในวัยทำงาน 12 คน จะดูแลผู้สูงวัย 1 คน ในปี 2000 สัดส่วนคนในวัยทำงานลดลงเป็น 9 คน ต่อผู้สูงวัยหนึ่งคน และในปี 2050 คนทำงาน 4 คนจะต้องดูแลผู้สูงวัย 1 คน

ดูแลในที่นี้หมายถึงอะไร ถ้าไม่ใช่ญาติพี่น้องที่ต้องดูแลกันจริงๆ ตามสถิติหมายถึงดูแลในลักษณะของการหารายได้มาเสียภาษี เพื่อนำเงินภาษีไปให้รัฐดำเนินการให้สวัสดิการทางสังคมแก่ผู้สูงวัยค่ะ

และไม่ทราบว่าจะดีใจหรือเสียใจดี แต่กลุ่มที่มีอายุสูง จะมีสัดส่วนของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2-5 เท่า โดยองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีผู้หญิงเป็นสัดส่วน 55% กลุ่ม 80 ปีขึ้นไป มีผู้หญิงเป็นสัดส่วน 65% และกลุ่ม 100 ปีขึ้นไป มีผู้หญิงเป็นสัดส่วน 83%

ในปี 2050 ผู้ที่มีอายุเกิน 85 ปีจะมีสัดส่วนถึง 11%ของประชากรโลก!!!

มีผู้ถามดิฉันว่าอะไรคือแรงจูงใจให้ดิฉันเขียนหนังสือและบรรยายเกี่ยวกับการออมการลงทุนเพื่อวัยเกษียณที่มีความสุข ดิฉันตอบสั้นๆ ว่า ไม่อยากเห็นคนแก่แล้วอยู่อย่างยากจน อยากให้ผู้สูงวัยทุกคนมีกินมีใช้ มีชีวิตที่สบายตามควรแก่อัตภาพ เพราะคนแก่ที่จนนั้น ลำบากมากค่ะ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนาก็ตาม

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรนี้จะส่งผลถึงเศรษฐกิจและสังคมอย่างเลี่ยงไม่ได้

ทางด้านเศรษฐกิจ ประชากรวัยทำงานซึ่งจะทำงานและเสียภาษีให้รัฐจะมีสัดส่วนลดลง ในขณะที่รัฐมีภาระต้องดูแลประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น

หลายประเทศในยุโรปเริ่มได้รับผลของเศรษฐกิจที่ตกต่ำมาตั้งแต่ปี 2008 โดยอัตราการเจริญพันธุ์ได้ลดลง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะหากเศรษฐกิจครัวเรือนไม่ดี อัตราการว่างงานสูง คนก็ไม่อยากจะมีลูก จะเอาตัวเองให้รอดยังลำบาก ถ้ามีลูกก็ยิ่งลำบากใหญ่ สเปนเป็นประเทศหนึ่งที่รับผลกระทบอย่างจัง

ถ้าจำกันได้ ดิฉันเคยเขียนถึงสเปนว่าถูกกระทบหนักจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ เพราะก่อนหน้าวิกฤติ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รุ่งเรืองมาก เกิดฟองสบู่ฟองใหญ่ เมื่อฟองสบู่แตก ผลกระทบจึงมากมาย จากตัวเลขอัตราการว่างงานที่ประกาศล่าสุด สเปนมีคนว่างงาน 26.9% ในเดือนพฤษภาคม 2556 และตัวเลขที่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาตลอดทุกเดือน ที่แย่กว่านั้นคือ คนหนุ่มสาวที่ว่างงานมีสัดส่วนถึง 56.5% แปลว่าคนหนุ่มสาวซึ่งกำลังอยู่ในวัยสร้างครอบครัวเกินครึ่งหนึ่งมีแรงจูงใจที่จะมีลูกน้อยลง

ในการศึกษาเรื่องนี้ซึ่งทำกันไว้ตั้งแต่ 6 ปีที่แล้วระบุว่าประเทศที่จะมีสัดส่วนประชากรสูงวัยต่อเด็กมากที่สุดสองประเทศคือสเปนกับอิตาลี โดยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 4 คน ต่อเด็ก 1 คน นั่นหมายความว่า เมื่อโตขึ้น เด็กสเปนเหล่านั้นต้องมีภาระหนักหนาสาหัสในการเลี้ยงดูผู้ใหญ่ โดยตัวเลขบ่งชี้ว่า อัตราการพึ่งพิงของผู้สูงวัยในสเปนจะสูงถึง 74 หมายถึง คนทำงานหนึ่งร้อยคน จะต้องมีภาระหารายได้เพื่อเลี้ยงดูตัวเองและให้ประเทศเลี้ยงดูผู้สูงวัยที่อายุเกินกว่า 60 ปี ถึง 74 คน

ดิฉันชักจะหนักใจแทนรัฐบาลสเปนเสียแล้วค่ะ โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่คงยังไม่ฟื้นตัวง่ายๆ หนี้สาธารณะที่ยังสูงถึง % ของจีดีพี และอายุที่ต้องแบกภาระดูแลประชากรสูงวัย

ไทยเราก็ไม่ควรชะล่าใจนะคะ สหประชาชาติเตือนแล้วว่า ปัญหานี้จะเป็นปัญหาของทุกประเทศทั่วโลกและประเทศกำลังพัฒนามีเวลาปรับตัวน้อยกว่า นั่นหมายความว่าไทยเรามีเวลาปรับตัวน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง ญี่ปุ่น หรือประเทศในยุโรป

ปัญหาของสังคมสูงวัยมีตั้งแต่ รายได้ภาษีที่รัฐสามารถจัดเก็บจะลดลง การขาดแคลนแรงงาน การขาดแคลนบุคลากรในหลายสาขาอาชีพ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและการสาธารณสุขเพิ่มขึ้น การขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุข ไปจนถึง จำนวนนักเรียนไม่พอกับจำนวนโรงเรียนที่มีอยู่ เพราะอัตราการเกิดลดลง ปัญหาเกี่ยวกับลูกหลานแรงงานต่างด้าวซึ่งจะกลายเป็นประชากรของเราในอนาคต ถ้าเราดูแลจัดการไม่ดี

ปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่รองรับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การขาดแคลนสินค้าและบริการที่เหมาะสมกับผู้สูงวัย การเดินทางสาธารณะจะเพิ่มขึ้นทั้งทางรางและทางอากาศ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่การขนส่งทางรางระยะไกลมีปัญหาจริงๆ และเป็นปัญหารุนแรงด้วยค่ะ ของเก่าได้รับการบำรุงรักษาไม่ดีจนดิฉันเห็นว่าเป็นวิกฤตแล้ว และของใหม่ยังไม่ได้สร้าง

ปัญหาการไม่มีงานที่เหมาะสมให้ผู้สูงวัยทำ ปัญหาผู้สูงวัยที่ถูกทอดทิ้ง ฯลฯ

รัฐต้องมองให้ออกถึงโครงสร้างของรายได้ในอนาคตของประเทศที่จะช่วยให้ประเทศสามารถมีเงินมาใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องแม้ประชากรในวัยทำงานจะลดลง และมองภาพสังคมที่อยากเห็นในอนาคตให้ออก เพื่อจะได้ออกแบบรวมให้เหมาะสม
ต้องนำไปเขียนต่อในสัปดาห์หน้าแล้วค่ะ ว่ารัฐต้องมองอะไรบ้าง และคนธรรมดาอย่างเรามองอย่างไร หากท่านมีข้อเสนอแนะหรือความคิดเห็น กรุณาส่งมาที่ [email protected] ค่ะ