วัยรุ่นว้าวุ่น ผู้ใหญ่วิตกจริต : ซีรีส์ฮอร์โมนกับประเด็นกำกับดูแลสื่อใหม่

วัยรุ่นว้าวุ่น ผู้ใหญ่วิตกจริต : ซีรีส์ฮอร์โมนกับประเด็นกำกับดูแลสื่อใหม่

เวลามีเนื้อหาอะไรแรงๆ นำเสนอผ่านสื่อ เรามักเห็นปรากฏการณ์วิตกจริตในสังคมไทยจนเกือบจะเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว

และที่แสดงบทบาทเป็นทั้งพระเอกและผู้ร้าย (ขึ้นกับใครมอง) ก็คือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระของรัฐที่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการกำกับดูแลเนื้อหาในสื่อวิทยุและสื่อโทรทัศน์นั่นเอง

ล่าสุด สมาชิกในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ซึ่งเป็นบอร์ดเล็กใน กสทช. เริ่มออกอาการว้าวุ่นตามชื่อละครชุดเรื่องใหม่ซึ่งกำลังฮิตติดตลาดวัยรุ่นตอนนี้คือ เรื่อง “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” ตามที่นำเสนอในสื่อ ดูจะมีประเด็นเกี่ยวกับ การมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน (โดยเฉพาะในโรงเรียนและในชุดนักเรียน) การพยายามยุติการตั้งครรภ์ของวัยรุ่น ความรุนแรง ซึ่งกรรมการบางคนใน กสท. มองว่า “อาจชวนให้ผู้ชมคิดและจินตนาการในทางที่ไม่ดีได้” ทางคณะอนุกรรมการเนื้อหาและผังรายการใน กสท. จึงได้มีการเชิญตัวแทนจากผู้ผลิตซีรีส์ดังกล่าวเข้ามาชี้แจง และขณะเดียวกันก็กำลังให้เจ้าหน้าที่ถอดเทปเพื่อดูว่ามีเนื้อหาที่เข้าข่ายละเมิดมาตรา 37 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์หรือไม่ โดยสรุปๆ มาตรานี้ห้ามออกอากาศเนื้อหาใน 3 เรื่อง คือ การล้มล้างการปกครอง เนื้อหาลามกอนาจาร หรือเนื้อหาที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ขัดศีลธรรมและเป็นภัยต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง

ซีรีส์ “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” ผลิตโดย "บริษัท จีเอ็มเอ็ม ไท หับ" (GTH) และ บริษัท นาดาว บางกอก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ที่น่าสนใจคือ ละครเรื่องดังกล่าวไม่ได้อาศัยช่องทางของทีวีหลักหรือฟรีทีวี (หมายถึงทีวีภาคพื้นดินอย่างช่อง 3, 5, 7, 9, 11, TPBS) ในการออกอากาศ แต่ไปออกอากาศผ่านแพลทฟอร์มของสื่อใหม่ คือทีวีดาวเทียม โดยผู้บริโภคสามารถรับชมได้ที่ช่อง ONE ผ่านกล่องของ GMMZ และผ่านช่องรายการของผู้ให้บริการทีวีดาวเทียมรายอื่นๆ อีก อาทิ PSI, INFOSAT, THAISAT, LEOTECH, IDEASAT เคเบิ้ลทีวีไทย, DTV, IPTV 3BB ยังไม่รวมการดูผ่าน application GMM channel iOS, android และการดูออนไลน์ได้ที่ http://www.gmmone.tv/ กับที่มีอัพโหลดไว้ใน www.youtube.com

ด้วยช่องทางการแพร่กระจายที่หลากหลาย และเนื้อหาที่โดนใจวัยรุ่น ยอดการรับชมผ่านอินเทอร์เน็ต ล่าสุดของซีรีส์ ฮอร์โมน ได้ขึ้นไปถึงมากกว่า 6 ล้านครั้งของการรับชม (views) แล้ว เทียบเคียงได้กับยอดการรับชมของละครไพรม์ไทม์ในช่องยอดนิยมอย่างช่อง 3 และช่อง 7 ในเรื่องที่พีคๆ แบบละครชุดคุณชายจุฑาเทพต่างกันตรงที่ว่า การรับชมละครในช่องฟรีทีวีเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันที่ออกอากาศตามผังรายการ ขณะที่ การรับชมซีรีส์ฮอร์โมนสามารถทำได้ตามช่องทางและเวลาที่สะดวกต่อผู้ชม ซึ่งความยืดหยุ่นในการเปิดรับสื่อในเชิง “กาละ” (เวลาที่เปิดรับ) หรือ “เทศะ” (สถานที่ หรือ ช่องทางที่ใช้เปิดรับ) คือคุณลักษณะหนึ่งของสื่อใหม่ซึ่งก้าวข้ามสื่อเดิมๆ ไป และเป็นตัวแปรสำคัญที่ควรจะได้รับการพิจารณาในการกำกับดูแลเนื้อหา นอกเหนือจากบทบัญญัติทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และความรู้สึกแบบอัตวิสัยของผู้ที่มีอำนาจในการกำกับดูแล (ซึ่งประเด็นหลังสุดนี้ไม่ควรจะเป็นตัวแปรเลยแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลอย่างมาก) แล้วก็คงต้องนำประเด็นแห่งวิถีของสื่อใหม่นี้มาประกอบการตัดสินใจด้วย

เท่าที่ได้ตรวจสอบข้อมูลมา การลุกขึ้นมาตรวจสอบเนื้อหาของซีรีส์ฮอร์โมนไม่ได้มาจากการรับเรื่องราวร้องเรียนซึ่งเป็นช่องทางปกติ แต่มาจากเครือข่ายเฝ้าระวังของกรรมการ กสท. รายหนึ่งซึ่งได้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการเนื้อหาและผังรายการ นอกจากประเด็นความไม่เหมาะสมของเนื้อหาแล้ว ยังมีเรื่องของการออกอากาศซ้ำ ซึ่งทำให้เข้าข่ายละเมิดประกาศ กสทช. เรื่องผังรายการ เนื่องจากซีรีส์ฮอร์โมนเรทเนื้อหาตนเองไว้ที่ น-13 แปลว่า ต้องไม่ออกอากาศเนื้อหาที่ลามกอนาจาร ยั่วยุทางเพศ ใช้ภาษารุนแรง เกิดอคติต่อสิทธิมนุษยชน และต้องออกอากาศในช่วงระหว่าง 20.00-22.00 น. แต่ปรากฏว่ามีการออกอากาศซ้ำหรือฉายซ้ำในเช้าวันอาทิตย์เวลา 11.00 น. และ วันจันทร์เวลา 9.00-16.00 น.

กลับมาเรื่องการกำกับดูแลเนื้อหาอีกที ในแบบแผนของสังคมที่มีอารยะทั้งหลาย เราจะเห็นสาระที่ชัดเจนทางกฎหมาย และ กลไกการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพประกอบกันขึ้นเป็นระบอบในการกำกับดูแลเนื้อหาสื่อ ทว่าสำหรับสังคมไทยที่ยังคืบๆ คลานๆ อยู่กับการปฏิรูปสื่อ แม้จะมี กสทช. ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญในการปฏิรูป แต่เรายังขาดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในการกำกับดูแลเนื้อหา (ที่เรียกว่าประกาศ กสทช. เรื่องการกำกับดูแลเนื้อหา และในปัจจุบันร่างเสร็จแล้วกำลังรอการประชาพิจารณ์อยู่) ที่ผ่านมา กสทช. (โดย กสท.) ใช้อำนาจทางปกครองในการลงโทษผู้ประกอบการในเรื่องละเมิดมาตรา 37 ไปหลายรายแล้ว อาทิ กรณีรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ทางช่อง 3 กรณีปากโป้งทางช่อง 8 ของ RS ทีวี และกรณีรายการ Gang Cartoon ของบริษัท โรส มีเดีย เป็นต้น ทั้งนี้ โดยยังไม่มีประกาศดังกล่าวเป็นฐาน พูดง่ายๆ ก็คือใช้วิจารณญาณของคน 5 คนในบอร์ด กสท. พิพากษา ยิ่งไปกว่านั้น ร่างประกาศที่ว่านี้เท่าที่เผยแพร่สู่สาธารณะก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากองค์กรวิชาชีพสื่อในสองสามประเด็นหลักคือ การใช้อำนาจเกินกรอบของมาตรา 37 การขยายกฎเกณฑ์เข้าไปครอบคลุมเรื่องของจริยธรรมหรือจรรยาบรรณวิชาชีพ และ การไม่ได้พูดถึงกระบวนการในการวินิจฉัยของคณะกรรมการให้ชัดเจน

ยิ่งไปกว่านั้น ร่างประกาศดังกล่าวยังไม่ได้มีการแบ่งแยกระหว่างสื่อที่มีรูปแบบในการเปิดรับต่างกัน อย่างฟรีทีวี และเพย์ทีวี ไอพีทีวี และ อินเทอร์เน็ตทีวี ซึ่งในระบอบของการกำกับดูแลสื่อในบริบทหลอมรวมในหลายๆ ประเทศจะมีการจัดระดับการกำกับดูแลเนื้อหาตามช่องทางสื่อที่ต่างกันตามระดับการเข้าถึงผู้ชม พูดอีกอย่างก็คือ ถ้าเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงผู้ชมได้กว้างขวางอย่างฟรีทีวี ก็ต้องกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด ถ้าเป็นเคเบิลทีวี หรือ โทรทัศน์ดาวเทียม ก็จะมีการกำกับดูแลแบบหลวมๆ ลงมา หรือถ้าเป็นโทรทัศน์ดาวเทียมแบบเข้ารหัสสัญญาณลับ ไอพีทีวี, บริการวีดิทัศน์ตามคำขอ (Video on Demand), บริการจ่ายเมื่อชม (Pay Per View), บริการจ่ายเมื่อดาวน์โหลด (Pay per download) ก็อาจจะไม่ต้องกำกับดูแลเลยเพราะถือหลักว่าผู้บริโภคจ่ายเงินเพิ่มเพื่อบริโภคเนื้อหาเฉพาะทาง หากจะกลั่นกรองเนื้อหาก็เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการที่จะต้องมีเทคโนโลยีอย่างการใส่รหัส หรือ การใช้โปรแกรม เพื่อช่วยผู้บริโภคที่ต้องการจำกัดเนื้อหาไม่ให้บางคนในบ้านดูได้ เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 13 เป็นต้น ซึ่งปัญหาในส่วนนี้น่าจะเป็นประเด็นพิจารณาสำหรับกรณีของซีรีส์ฮอร์โมน แต่ว่าทาง กสท. ก็อาจจะมองว่าซีรีส์นี้ออกอากาศทาง Youtube มีคนเปิดรับมากมายหลายล้านคน ทว่านั่นก็เป็นเรื่องจริงสำหรับละครหลังข่าวแนวตบจูบรุนแรงที่พระเอกข่มขืนนางเอกเช่นกัน หากจะเอาการรับชมได้ออนไลน์มาเป็นประเด็นก็อาจจะไม่แฟร์นัก

ทางที่ดี กสท.ไม่น่าจะเต้นตามกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม แต่ควรยึดหลักการของประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ภายใต้ภาพที่อาจจะดูแรงสำหรับการนำเสนอเกี่ยวกับวัยรุ่น คงต้องทบทวนว่าซีรีส์นี้ได้สอนเด็กอย่างเนียนๆ เกี่ยวกับ ปัญหาทางสังคมที่วัยรุ่นประสบ และชี้ทางออกของปัญหาในรูปแบบต่างๆ หรือไม่ วิธีการอาจจะไม่สำคัญเท่าเป้าหมายที่ปลายอุโมงค์ หากเด็กได้เรียนรู้การจัดการกับปัญหาผ่านเรื่องราวที่เล่าผ่านตัวละครก็เท่ากับว่าประโยชน์สาธารณะในลักษณะหนึ่งได้บังเกิดขี้นแล้ว ส่วนเรื่องเวลาการออกอากาศที่อาจจะมีปัญหาก็ต้องว่าไปตามกฎเกณฑ์