ปรองดองด้วยการปฏิรูปการศึกษาแนวใหม่ ที่ก้าวข้ามพรรคและระบบราชการ

ปรองดองด้วยการปฏิรูปการศึกษาแนวใหม่ ที่ก้าวข้ามพรรคและระบบราชการ

ปัญหาการศึกษาไทยที่ทั้งให้บริการได้ไม่ทั่วถึงเป็นธรรม และคุณภาพเฉลี่ยทั้งประเทศต่ำ

และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ลำดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทยตกต่ำลง ไม่มีทางแก้ได้ภายใต้ระบบการเมืองและราชการในปัจจุบัน ต้องคิดกันใหม่ว่า การศึกษาคือเรื่องสำคัญและเร่งด่วนที่สุดที่จะทำให้ประเทศชาติแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมและแข่งขันได้ดีขึ้น ดังนั้น นักการเมืองทุกพรรค ทุกค่าย ควรปรองดองกันในเรื่องนี้ เพื่อผลักดันการปฏิรูปการศึกษาแนวใหม่ที่ก้าวข้ามพรรคการเมืองและระบบราชการแบบเก่าที่เป็นอุปสรรคในการทำให้ปฏิรูปการศึกษาไม่ได้ผล

เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนรัฐมนตรีศึกษาฯ และเปลี่ยนนโยบายบ่อยเกินไป ควรออกกฎหมายใหม่ จัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ ที่คัดสรรคนจากนักบริหารมืออาชีพ และนักการศึกษา นักวิชาการที่เป็นคนกลาง เพียงไม่กี่คน แต่ทำงานจริง เต็มเวลา มาเป็นคณะทำงานวางแผน กำหนดนโยบาย โครงการ และควบคุมกำกับดูแลแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ที่ควรมีสถานะสูงกว่านโยบายของรัฐมนตรีและข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ (เช่นเดียวกับที่คณะกรรมการด้านนโยบายของบริษัทมีสถานะสูงกว่ากรรมการผู้จัดการใหญ่) ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีหรือเป็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาก็จะต้องทำงานภายใต้การกำกับชี้แนะของกรรมการการปฏิรูปและแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ เพื่อให้การดำเนินงานปฏิรูปการศึกษาเพื่อสร้างชาติดำเนินไปต่อเนื่องอย่างไม่มุ่งหวังการหาเสียงการเมืองของพรรคใด

แผนฉบับนี้ต้องระดมสมองจากคนที่มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ความเข้าใจที่จะปฏิรูปการศึกษาได้โดยมองข้ามเรื่องพรรคการเมือง และเมื่อทำแผนฉบับนี้เสร็จอาจเสนอผ่านประชาพิจารณ์และรัฐสภาก็ได้ แต่ต้องใจกว้าง ทำให้เป็นแผนการศึกษาของและเพื่อความเจริญของประเทศชาติจริงๆ ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองใด

เราควรดูตัวอย่างจาก ฮ่องกง ที่ปฏิรูปการศึกษาได้ผลรวดเร็วโดยใช้คณะกรรมการการปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติเพียง 4 คนเท่านั้น แต่รู้จักเลือกคนที่มีฝีมือและทำงานเต็มเวลาจริงๆ ประธานเป็นระดับผู้บริหารองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่และองค์กรระหว่างประเทศมาแล้ว กรรมการอีก 3 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่รู้เรื่องทั้งเรื่องการศึกษาและการบริหารดี คณะกรรมการชุดนี้ มีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการและจ้างคนมาช่วยงานคณะกรรมการได้อย่างคล่องตัว จึงเป็นคณะที่ทำงานกันจริง ได้ผลจริง เช่น มีการจัดสัมมนาระดมความคิดจากครู ผู้บริหาร ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้สนใจแบบกลุ่มย่อยๆ หลายแห่ง หลายครั้งมาก เพื่อทำให้คนที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมอย่างทั่วถึงและจริงจัง

ควรออกพ.ร.บ. ปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ลดอำนาจรวมศูนย์ของกระทรวงศึกษาธิการ และอำนาจของเขตการศึกษาต่างๆ ซึ่งมีการเล่นการเมืองและการทุจริตฉ้อฉลกันมาก เป็นการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบให้ภาคี 4 ฝ่าย คือ 1. ฝ่ายผู้บริหารภาครัฐ 2. ครูอาจารย์ผู้ปฏิบัติงาน 3. ผู้ทรงคุณวุฒิ และ 4. ประชาชนและองค์กรท้องถิ่น ทำงานร่วมกันแบบเครือข่าย กระจายอำนาจ ทรัพยากรกำลังคนไปสู่สถานศึกษาทั่วประเทศโดยตรงเพิ่มขึ้น โดยต้องให้มีระบบตรวจสอบคานอำนาจการทำงานอย่างเป็นประชาธิปไตย เพื่อแก้ไขการใช้อำนาจและการทุจริตฉ้อฉลของผู้มีอำนาจการบริหารระดับต่างๆ

จัดตั้งสำนักงานสถาบันเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเป็นองค์กรมหาชนที่คัดเลือกผู้บริหารมืออาชีพผู้เข้าใจปัญหาการศึกษาดี จากองค์กรธุรกิจเอกชน สังคมประชา หรือนักวิชาการเป็นนักบริหารด้วย เข้ามาทำงานแบบเต็มเวลา งานสำคัญ 2 อย่างแรกคือ การปฏิรูปการบริหารจัดการองค์กร และการปฏิรูปครูอาจารย์ให้เป็นนักการศึกษามืออาชีพที่มีความรู้ความสามารถและแรงจูงใจสูง สามารถสอนให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปฏิรูปสถาบันผลิตครูเพื่อผลิตและฝึกอบรมครูแนวใหม่ คัดคนเก่ง คนมีอุดมการณ์ตั้งใจเป็นครูสูง ทำให้ครูเป็นมืออาชีพและให้เงินเดือนแรงจูงใจสูงขึ้น เทียบได้กับนักวิชาชีพชั้นสูงอื่นๆ รวมทั้งมีการคัดเลือกส่งเสริมและพัฒนาผู้นำ ผู้บริหาร ตามความรู้ความสามารถของแต่ละคนอย่างแท้จริง ไม่ใช่การคัดเลือกคนตามระบบอาวุโส การสอบหรือเสนอผลงานเขียน การวิ่งเต้นเส้นสายและการจ่ายเงินใต้โต๊ะ

ควรลดขนาดและบทบาทของกระทรวงศึกษาที่ส่วนกลางลง ส่วนกลางควรทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลประสานงาน สนับสนุนเรื่องนโยบาย คุณภาพ ความโปร่งใส ความเป็นธรรม ของการให้บริการทางการศึกษาของสถาบันการศึกษาต่างๆ แต่ไม่ใช่เป็นผู้จัดการศึกษาแบบรวมศูนย์อำนาจที่ล้าหลังและล้มเหลว การจัดการศึกษาควรเป็นเรื่องที่ทำโดยสถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน และองค์กรสังคมประชาอื่นๆ โดยรัฐบาลควรเปลี่ยนวิธีจัดสรรงบประมาณใหม่ให้สถาบันศึกษา และหรือให้ส่วนหนึ่งเป็นคูปองการศึกษาแก่นักเรียน

การโอนการจัดการศึกษาให้องค์กรปกครองท้องถิ่นและหน่วยงานอื่นๆ ควรทยอยทำภายใน 3-5 ปี และต้องปฏิรูปองค์กรปกครองท้องถิ่นด้วย เช่นวางหลักเกณฑ์คัดคนมาทำงานเป็นฝ่ายบริหารการศึกษาที่มีความรู้โดยเฉพาะ และบริหารโรงเรียนแบบมอบหมายอำนาจให้ครู อาจารย์ ไม่ใช่โอนครูไปเป็นลูกน้องนักการเมืองท้องถิ่นแบบแนวคิดเก่า นอกจากนี้ก็ควรจะแก้ไขกฎหมายให้องค์กรสังคมประชา เช่น มูลนิธิ องค์กรชุมชนต่างๆ ยื่นคำของบจากกระทรวงศึกษาธิการเพื่อนำมาใช้บริการจัดการศึกษาอย่างเป็นอิสระแบบ Chartered School ในต่างประเทศ

สถานศึกษาของรัฐที่มีความพร้อม ควรทยอยทำให้เป็นนิติบุคคลที่บริหารตนเองแบบอยู่ภายใต้กำกับรัฐบาลแบบโรงเรียนมหิดลอนุสรณ์ และจัดให้มีระบบตรวจสอบคานอำนาจผู้บริหาร โดยคณะกรรมการภาคี 4 ฝ่าย และสมาคมผู้บริหาร สมาคมครู/อาจารย์ สมาคมวิชาชีพด้านต่างๆ เพื่อดูแลช่วยเหลือทั้งด้านคุณภาพการบริหารแบบธรรมาภิบาล และการให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนในชุมชน เช่น การควบคุมอัตราค่าเล่าเรียน การคัดเลือกผู้เข้าเรียนอย่างเป็นธรรม การมีทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนยากจนที่เรียนปานกลางแต่ตั้งใจเรียนสูง ฯลฯ


พัฒนาหลักสูตรระบบการเรียนการสอนและการวัดผลทั้งระบบ โดยเฉพาะการวัดผลชั้นประโยค เช่น ป.6 ม.3 ม.6 และ ระบบคัดคนเข้าเรียนต่อระดับวิทยาลัย มหาวิทยาลัย ให้เป็นการประเมินผู้เรียนแบบใหม่ที่เน้นการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประยุกต์ใช้เป็น แทนการสอบแบบเน้นท่องจำ (ดูตัวอย่างข้อสอบ PISA ของ OECD) และควรปฏิรูปวิทยาลัยด้านอาชีวะเทคนิค (รวมทั้งการเกษตร) ให้มีคุณภาพสูงขึ้นอย่างขนานใหญ่ เพื่อที่ผู้เรียนระดับมัธยมจะได้ไม่จำเป็นต้องไปมุ่งเรียนและกวดวิชาเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยมากจนเกินไป และจะทำให้ผู้เรียนได้ประโยชน์จากกระบวนการเรียนรู้ที่จะนำไปใช้งานในชีวิตจริงได้มากกว่าแค่การเรียนเพื่อเอาคะแนน ประกาศนียบัตร/ปริญญาบัตร ซึ่งขณะนี้มีคนจบปริญญาตรีที่มีคุณภาพด้อยมากเกินไป และมีสัดส่วนการว่างงานสูงมาก