ความลับของรัฐบาล vs ความลับของประชาชน

ความลับของรัฐบาล vs ความลับของประชาชน

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการนำเสนอข่าวคราวของ "จอมแฉ" เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ที่กำลังหลบหนีอยู่ภายในสนามบินของรัสเซีย

และกำลังพยายามที่จะขอลี้ภัยทางการเมืองในประเทศต่างๆ เรื่องราวของสโนว์เดน เป็นเรื่องที่น่าสนใจ สำหรับคนไทยหลายๆ คน และได้ถูกเปรียบเปรยกับตัวละครของ ทอม แฮงค์ ในภาพยนตร์เรื่อง เดอะเทอร์มินอล ที่ได้อาศัยอยู่ภายในสนามบินของ นิวยอร์ค เป็นเวลาหลายเดือน

เป็นที่น่าเสียดาย ที่เรื่องราวของสโนว์เดน กลับได้รับความสนใจ แต่เพียงการที่เขากำลังหลบหนีอยู่ภายในสนามบิน แต่เรื่องราวที่แท้จริง ว่าเพราะเหตุใดเขาถึงต้องหลบหนี นอกเหนือจากสาเหตุที่ว่า เขาได้เปิดโปงความลับอะไรบางอย่างของรัฐบาลสหรัฐฯ อาจไม่ได้รับความสนใจเลย ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องไม่ไกลตัว สำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน

"จอมแฉ" เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ได้แฉความลับของรัฐบาลสหรัฐ ว่ามีโครงการปริซึม สำหรับดักฟังความลับของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก

ดังได้กล่าวถึงในบทความก่อนหน้านี้ สโนว์เดน ได้พาดพิงถึงบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ที่อาจให้ความร่วมมือกับโครงการปริซึม ในการดักฟังความลับของประชาชน เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค บริษัทเหล่านี้ได้ออกมาเปิดเผยถึงจำนวนครั้งที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ขอข้อมูลที่เป็นความลับของผู้ใช้งาน ในรอบ 6 เดือน ที่ผ่านมา โดย Facebook เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ขอข้อมูลที่เป็นความลับของผู้ใช้งาน 19,000 ราย ในขณะที่ Microsoft เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ขอข้อมูลความลับของผู้ใช้งาน 32,000 ราย และ Apple เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ขอข้อมูลความลับของผู้ใช้งาน 10,000 ราย ล่าสุด Yahoo ได้เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ขอข้อมูลความลับของผู้ใช้งาน 13,000 ครั้ง

ตามที่ได้กล่าวถึงในบทความก่อนหน้านี้ บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ เป็นบริษัทระดับโลก ข้อมูลที่รัฐบาลสหรัฐฯ อาจสามารถเข้าถึงได้ ผ่านบริษัทเหล่านี้ ได้ครอบคลุมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 50% ของทั้งโลก ซึ่งรวมถึงผู้ใช้งานในประเทศไทยด้วย

ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งต้องรวมถึงประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้ออกมาประนามการกระทำของ สโนว์เดน และได้แจ้งข้อหาจารกรรม จากการที่เขาได้เปิดโปงความลับของรัฐบาล แต่ในวงการอินเทอร์เน็ต และกระทั่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งรวมถึงนิสิตนักศึกษาในสหรัฐฯ กลับได้ออกมาชื่นชมการกระทำของ สโนว์เดน ว่าเป็นฮีโร่ ในฐานะที่เขาได้ปกป้องความลับของประชาชน โดยยึดถือว่ามีความสำคัญยิ่งกว่าความลับของรัฐบาลที่ได้ถูกเปิดโปง

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาความมั่งคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ที่ถูกอ้างว่าอาจมีความเชื่อมโยงกับโครงการปริซึม ยังได้ถูกโห่ร้องขับไล่ ในขณะที่ปรากฏตัวไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อรับสมัครพนักงานใหม่ โดยกลุ่มนักศึกษา ได้ชูป้ายยกย่อง สโนว์เดน เป็นฮีโร่ ตามเหตุผลที่ได้กล่าวมา

ไม่ว่าโครงการปริซึมจะมีจริงหรือไม่ และจะเป็นเรื่องที่ถูกจริยธรรมหรือกระทั่งกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ความสามารถในการดักฟังความลับของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างมีประสิทธิภาพ ยังคงเป็นความสามารถเฉพาะตัวของประเทศมหาอำนาจ ที่อาจอาศัยความร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ที่สังกัดประเทศตัวเอง เพราะว่าลูกค้าของบริษัทเหล่านี้ มีอยู่ทุกมุมโลก จนกระทั่งมีการคาดคะเนว่า โครงการปริซึมสามารถดังฟังผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ 50% ของทั้งโลก ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทเหล่านี้ยังเป็นการให้บริการข้ามพรมแดน โดยไม่ต้องมีนิติบุคคลอยู่ในประเทศที่ให้บริการ จึงอยู่นอกเหนือการควบคุมของกฎหมายของประเทศเหล่านั้น

ยกตัวอย่างประเทศไทย หากอาศัย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 รัฐบาลไทย อาจมีอำนาจสั่งการ เพื่อขอความร่วมมือในการสืบค้นการกระทำผิด ได้เฉพาะกับบริษัทที่มีนิติบุคลในประเทศไทย แต่หากมีการกระทำผิด ที่เกิดขึ้นบนบริการของบริษัทต่างชาติเช่น Facebook รัฐบาลไทยย่อมไม่มีอำนาจโดยตรง ที่จะสืบค้นการกระทำผิด เพราะว่า Facebook อาจไม่มีตัวตนอยู่ภายในประเทศ แต่สำหรับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ที่ใช้บริการของ Facebook รัฐบาลสหรัฐฯย่อมมีอำนาจที่จะสืบค้นการกระทำผิดหรือกระทั่งดักฟังการใช้งาน หากโครงการปริซึมมีอยู่จริง

โครงการปริซึม ไม่เพียงแต่จะสะท้อนถึงความลับส่วนบุคคล ที่สมควรต้องปกป้อง แต่ยังคงสะท้อนถึงความสมดุลย์ของอำนาจระหว่างประเทศ

ซึ่งประเทศเล็กๆ อย่างไทยย่อมเสียเปรียบ เนื่องจากบริการบนโลกอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ที่ประชาชนคนไทยใช้ ล้วนเป็นของบริษัทต่างชาติ ที่ให้บริการมาจากข้ามพรมแดน โดยที่รัฐบาลไทยอาจไม่มีอำนาจที่จะควบคุมดูแล อีกทั้งบริษัทเหล่านี้ยังอาจเป็นเครื่องมือให้กับรัฐบาลของประเทศมหาอำนาจ ตามที่ "จอมแฉ" ได้กล่าวเอาไว้

การหลบหนีของ "จอมแฉ" เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อาจเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่สาเหตุที่เขาต้องหลบหนี กลับเป็นเรื่องที่น่าสนใจกว่า และเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวอีกต่อไป สำหรับผู้ที่ต้องใช้งานอินเทอร์เน็ต