ฝนตก เศรษฐกิจซบ.....ต้องสู้ต่อ

ฝนตก เศรษฐกิจซบ.....ต้องสู้ต่อ

ช่วงต้นปีที่ผ่านมามีเรื่องราวหลายเรื่องเกิดขึ้นทั้งในและในต่างประเทศที่ใกล้ๆเรา

ซึ่งหลายอย่างทำให้เกิดภาวะไม่แน่ใจ คือ เศรษฐกิจจะดีมั้ย เราจะมีเงินพอใช้มั้ย (ใช้จ่าย และคืนหนี้ต่าง ๆ ที่มี) เราจะยังมีรายได้เหมือนเดิมอยู่หรือเปล่า จากบางคนที่ไม่เคยเป็นห่วงเรื่องผลกำไรการค้าขาย ก็ทำให้ต้องเป็นห่วงเรื่องผลกำไรการค้าขาย พ่อค้าเป็นห่วงที่สุดไม่กี่เรื่อง เช่น มีคนซื้อสินค้าหรือไม่ ขายของแล้วเก็บเงินได้หรือไม่ เบี้ยวเงินหรือเปล่า กำไรที่คาดไว้ได้ตามที่คาดไว้หรือไม่
การเปลี่ยนแปลงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีปัจจัยหลายด้านที่ทำให้เกิดความไม่มั่นใจ หรือไม่แน่ใจกับนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไป เช่น การเปลี่ยนแปลงขึ้นลงของอัตราแลกเปลี่ยนเดี๋ยวแข็งเดี๋ยวอ่อน แนวโน้มดอกเบี้ยในประเทศ (บ้างก็ว่าเดี๋ยวต้องลด บ้างก็ว่าไม่น่าลด) การลดลงของกำลังซื้อทั้งในและในต่างประเทศ (ไม่เซลก็หาคนซื้อยาก หรือ สต็อกสินค้ายังเหลืออยู่เยอะเลยยังไม่สั่งสินค้า) ไม่มีเงินจ่ายหรือไม่สามารถสร้างหนี้เพิ่ม (เพราะมีหนี้เยอะอยู่แล้ว ผ่อนโน่นผ่อนหนี้เลยทำให้ซื้อเงินเชื่อเพิ่มไม่ได้อีก) ซึ่งเราเห็นได้ว่ามีการปรับลดลงของ GDP ในแต่ละสำนัก ไม่ว่าจะเป็นศูนย์วิจัยกสิกรไทย หรือสถาบันต่าง ๆ ในต่างประเทศก็ตาม ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแน่ ๆ ในช่วงที่เหลือของปีนี้แบ่งเป็นมิติได้ 2 มิติ
มิติแรก คือ ในประเทศ สำหรับการค้าขายในประเทศครึ่งหลังปีนี้ ต้องมีการเตรียมตัว และปรับตัวในหลายด้าน หากเป็นด้านของผู้ประกอบการเองนั้น การบริหารต้นทุนที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนนั้น คงยังมีความผันผวน (คือ มีขึ้นมีลง และไม่ได้เป็นทิศทางเดียว) ซึ่งความผันผวนเกิดจากที่ต่างประเทศคาดการณ์การปรับตัวเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะอเมริกา ยุโรป และจีน ซึ่งในแต่ละวัน เวลา อาจมีความคาดหวังและตีความต่างกัน เดี๋ยวดี เดี๋ยวทรงตัว และบางครั้งอาจมองว่าแย่ก็ได้
ที่เราเห็นตัวอย่างคือ เมื่อสองสัปดาห์ก่อนมีการพูดถึงสภาวะเศรษฐกิจจีนกันอย่างแพร่หลาย ณ เวลานั้นหลายคนกล่าวว่าจีนน่าจะชะลอตัวลงและอาจมีปัญหาได้ เป็นผลให้หุ้นตก ดอลลาร์แข็ง ฯลฯ พอเวลาผ่านไปสักพักสถานการณ์คลี่คลายขึ้น ทำให้การเป็นห่วงน้อยลง ทีนี้ถ้าเราเป็นผู้ประกอบการที่ต้องชำระค่าสินค้า หรือ รับรายได้ ณ วันที่ข่าวออก เราจะทำอย่างไร แลกเป็นบาทเลยดีหรือเปล่า
การค้าหากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ตลอด การค้านั้น ๆ ก็จะทำได้ยาก เพราะกำหนดราคาไม่ถูก ต้นทุนไม่นิ่ง ถ้าเป็นเงินปริมาณเยอะ ๆ ยิ่งยากใหญ่ เพราะผลกำไรขาดทุนก็จะเยอะขึ้น นอกจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว กำลังซื้อของคนซื้อสินค้าดูเหมือนจะลดลง คนซื้อทั้งในและต่างประเทศน้อยลง และหากเทียบกำลังซื้อและสภาพบรรยากาศของการใช้จ่ายนั้นดูแล้วซบเซากว่าเดิม ต้นทุนของราคาวัตถุดิบก็เพิ่มทั้งระบบ
ทำอย่างไรดี : พอดูดี ๆ แล้วในช่วงครึ่งปีนี้คงต้องทบทวนการทำธุรกิจในประคองตัวให้ได้ และคงต้องประเมินเพื่อยอมรับสภาพความเป็นจริงในหลาย ๆ ด้าน (กำลังซื้อ ยอดซื้อ คู่แข่ง ความเสี่ยง ฯลฯ) เพื่อนำเอามาประกอบการวางแผนทั้งด้านการจัดการ ลดต้นทุน ประหยัด ยืดเวลาลงทุนใหม่ เพื่อให้ธุรกิจผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไป
ถ้าธุรกิจเรามีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน อย่าลืมลดความเสี่ยงบ้างโดยการทำจองอัตราล่วงหน้า (ทั้งซื้อและขาย) เพราะอย่างน้อยเราก็รู้ว่าเรากำไรเท่าไหร่จากการกำหนดราคาซื้อขายของเรา ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนไม่เป็นไปตามที่เราคิดเราก็จะเจ็บไม่หนัก
สิ่งที่ไม่ควรทำ : การค้าหรือการทำสิ่งใด ๆ ก็ตาม ไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทนที่สูงกว่า ยอดซื้อที่มากกว่า กำไรที่สูงกว่า ซึ่งผลตอบแทนที่สูงกว่านี้ต้องถามเสมอว่าได้มาเพราะอะไร ส่วนใหญ่เพราะความเสี่ยงเยอะขึ้น เช่นคนกู้เงินให้ดอกสูงก็เพราะคนกู้มีความเสี่ยงมากกว่า คนซื้อของเยอะ ๆ มากกว่าที่เคยซื้อในอดีตมาก ๆ ต้องดูให้ดี เพราะอาจซื้อแล้วไม่จ่ายก็ได้ (การคิดและถามไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่เป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะอาจซื้อแล้วหนีไปเลยไม่จ่ายก็ได้)
หากมีรายรับหรือรายจ่ายเป็นเงินต่างประเทศแล้วไม่คำนวณต้นทุนของตัวเอง ธุรกิจไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ต้องตอบได้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนกี่บาททำให้เราหมดกำไร หนึ่งบาททำให้เรากำไรหรือขาดทุนเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ถ้าเราไม่รู้แล้วปล่อยไว้ธุรกิจใหญ่หรือเล็กก็มีโอกาสไปไม่รอด
มิติที่สอง คือ ต่างประเทศ ที่เกิดขึ้นแล้วคือการปรับลดการประมาณการ GDP ในหลาย ๆ ประเทศ เช่นในไทยปรับลดการประมาณการเหลือประมาณ 4% และในแต่ละประเทศก็มีการปรับลดประมาณ 0.2-0.5% ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการลดลงของการคาดการณ์ GDP นั้นเป็นผลให้เกิดการลดลงของกำลังซื้อ และบรรยากาศการค้าขายดูอึมครึมขึ้น การสั่งสินค้าดูเหมือนเว้นช่วงกว่าเดิม และดูเหมือนการซื้อสินค้ามีปริมาณน้อยลงกว่าเดิม มีการขอให้ยืดระยะเวลาการค้ายาวขึ้น และมีคู่แข่งในต่างประเทศแข่งขายสินค้าเพิ่มขึ้น การลงทุนในต่างประเทศดูแล้วไม่มั่นใจว่าจะสดใสเหมือนเมื่อปีที่แล้วและต้น ๆ ปี
ทำอย่างไรดี : ถึงแม้ว่าสภาพบรรยากาศโดยรวมนั้นดูเหมือนกำลังซื้อจะหายไป หรือลดลงในช่วงนี้ แต่หากเราดูสภาพพื้นฐานของแต่ละประเทศโดยเฉพาะในอาเซียนนั้น พื้นฐานยังถือว่าดี มีเงินทุนสำรองสกุลเงินต่างประเทศสูง มีหนี้ต่างประเทศ และสัดส่วนการชำระเงินต่างประเทศกับทุนสำรองที่มีอัตราไม่น่าห่วง การเตรียมตัวและทำความเข้าใจตลาดต่างประเทศยังคงต้องดำเนินการ กำลังซื้อและประชากรที่อายุน้อยมีผลทำให้การบริโภคจะดีขึ้นในอนาคต
คู่ค้าใหม่ ๆ ยังคงต้องระวังว่าจะจ่ายเงินให้เราอยู่หรือเปล่า ต้องตรวจสอบให้ดี หาพันธมิตรในประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้น (หลายคนในอาเซียนสามารถสื่อสารกันได้หลายภาษา เช่น ไทยกับลาวสามารถสื่อสารภาษากันและกัน ลาวกับเวียดนามก็สามารถสื่อสารกันได้โดยใช้ภาษาเวียดนาม และอาจรวมถึงรัสเซีย) การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมที่จะเคลื่อนย้ายจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งยังเกิดอยู่ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อทางด้านการค้าขาย และขนส่งจากตะวันตกไปตะวันออก และเหนือไปใต้มีการเชื่อมต่อกันมากขึ้น
สิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น : การชะลอตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้ไม่น่าทำให้เกิดต้มยำกุ้งรอบสอง หรือไม่น่าจะเกิดวิกฤตในประเทศบางประเทศในอาเซียน การเชื่อมต่อกันและการพึ่งพากันของประชาคมมีมากขึ้นและอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น เพียงแต่อาจใช้เวลาและการดำเนินการที่มากกว่าเดิม เพราะพื้นฐานของแต่ละประเทศมีระดับความพร้อมแตกต่างกัน แต่การเลิกกิจการของบริษัทบางบริษัทในอาเซียนหรือประเทศต่างๆนั้นเป็นเรื่องปกติ คือ หากบริษัทบริหารจัดการไม่แข็งแรง ไม่สามารถแข่งขันทั้งทางด้านเทคนิค ผลิตภัณฑ์ หรือ บริการ ก็ต้องพัฒนา หรือมิฉะนั้นก็เลิกกิจการไป ซึ่งกรณีนี้อาจเกิดในหลายบริษัทในหลายประเทศในช่วงนี้
ครึ่งปีหลังเป็นช่วงที่ท้าทาย หากเราสามารถมองภาพระยะปานกลางและไกลได้ และนำเอาทิศทางมาเป็นหลักในการดำเนินการระยะสั้น การประกอบธุรกิจและการลดความเสี่ยงที่จะทำให้เราสู้ไม่ได้ หรืออยู่ไม่ได้ลดน้อยลง เราก็สามารถอยู่รอดได้ ช่วงนี้ต้องประคองตัว และดำเนินการให้มีวินัยทั้งการจัดการและเรื่องต่าง ๆ ธุรกิจเราก็จะแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ