ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) คิดราคากันอย่างไร

ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) คิดราคากันอย่างไร

ถ้าได้อ่านในบทความที่ผมได้เขียนไปแล้วทั้ง 5 ตอนนั้นจะเห็นว่าผมได้กล่าวไปแล้วถึงการกำหนดราคาพลังงานในประเทศไปสองประเภทแล้ว

ก็คือ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และราคาก๊าซธรรมชาติ โดยในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นผมก็ได้พยายามอธิบายให้เห็นถึงสิ่งที่เราจะต้องนำเข้ามาประกอบการพิจารณาในการคำนวณราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อราคาน้ำมันดิบเปลี่ยนแปลงไป สำหรับราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยที่มาจากแต่ละแหล่งโดยใช้วิธีการเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามค่าพลังงานความร้อนแล้ว ผมก็ได้อธิบายรวมไปถึงกรณีหากเราจะต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเป็นรูปของของเหลวหรือที่เราเรียกกันว่าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แล้วผลกระทบที่จะมีต่อราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยของเรานั้นจะเป็นอย่างไร

แต่ประเด็นที่เป็นที่สนใจเป็นอย่างมากในตอนนี้อีกประเด็นที่เกี่ยวกับนโยบายด้านราคาพลังงานของรัฐที่ผมอยากจะพูดถึงอีกหนึ่งเรื่องก็คือ เรื่องของการปรับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคครัวเรือนที่ปัจจุบันยังมีการตรึงราคาขายปลีกไว้อยู่ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัมมาเป็นเวลานาน และในภาคขนส่งที่กำหนดราคาไว้ที่ 21.38 บาทต่อกิโลกรัม รวมถึงการกำหนดเพดานราคาก๊าซ LPG ณ โรงกลั่นซึ่งเป็นราคาที่ยังไม่รวมภาษีและกองทุนต่างๆ ที่ 333 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการผลิตก๊าซ LPG จนทำให้ต้องมีการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปชดเชยสะสมแล้วเป็นจำนวนประมาณ 120,000 ล้านบาท (กองทุนน้ำมันชดเชยสะสมตั้งแต่ปี 2551 จนถึงมิถุนายน 2556) นอกจากนี้ ที่เราได้ยินจากสื่อต่างๆ ว่ารัฐนั้นเตรียมการที่จะมีการปรับราคาก๊าซ LPG ขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายนนี้เป็นต้นไปเดือนละ 50 สตางค์ไปจนกว่าจะสะท้อนต้นทุน แล้วต้นทุนก๊าซ LPG นี้มีมาจากไหน คิดอย่างไร ทำไมจึงต้องมีการปรับราคาก๊าซ LPG เพราะถ้ามีการปรับราคาก๊าซ LPG โดยเฉพาะภาคครัวเรือนไปก็จะทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างเนื่องจากก๊าซ LPG นั้นถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในการทำอาหาร ซึ่งประชาชนทุกคนนั้นจะต้องทานอาหารเพื่อดำรงชีวิตในแต่ละวัน จึงเชื่อกันว่าราคาก๊าซ LPG ที่แพงขึ้นจึงหมายถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้น

แต่ก่อนที่จะไปพูดถึงที่มาของราคาก๊าซ LPG นั้นเราก็ต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าก๊าซ LPG ที่เราใช้กันอยู่ในประเทศนั้นมาจากไหนบ้าง เพราะราคาก๊าซ LPG จากแต่ละที่นั้นแตกต่างกัน สำหรับในประเทศไทยก๊าซ LPG มาจากสามแหล่งหลักๆ คือ 1) ได้มาจากโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งก๊าซ LPG นี้ก็ถือเป็นผลผลิตที่ได้ออกมาจากกระบวนการกลั่นน้ำมันนั่นเอง 2) ได้มาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โดยภายหลังมีการขุดค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งมีคุณสมบัติที่สามารถนำไปแยกองค์ประกอบที่มีความชื้นสูง หรือที่มีสภาพเป็นของเหลวออกมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ แทนที่เราจะนำก๊าซธรรมชาติที่ขุดได้ไปเผาเป็นเชื้อเพลิงทั้งหมดนั้น เราก็จับมันมาทำการแยกส่วนที่สามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างอื่นได้อีก ซึ่งก๊าซ LPG ก็ถือเป็นหนึ่งที่ได้มาจากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาตินี้ ก๊าซ LPG ที่ได้ก็สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพื่อใช้ในการผลิตสิ่งต่างๆ เช่น เมล็ดพลาสติก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ก๊าซ LPG ที่ได้นี้ก็สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้เช่นกัน โดยจะเห็นว่าปัจจุบันนั้นมีการนำก๊าซ LPG ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคหุงต้ม ภาคการขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม และ 3) ก๊าซ LPG ที่ได้มาจากการนำเข้า ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันนั้นการผลิตก๊าซ LPG ทั้งจากโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซธรรมชาตินั้นไม่เพียงพอต่อปริมาณการใช้ในประเทศ ทำให้ปัจจุบันเราต้องนำเข้าก๊าซ LPG อยู่ประมาณ 181,000 ตันต่อเดือน (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2556 จากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน)

เมื่อทราบแหล่งที่มาแล้ว ก็ต้องมาดูกันว่าต้นทุนของก๊าซ LPG ที่มาจากแต่ละแหล่งนั้นเป็นอย่างไร โดยในส่วนของต้นทุนก๊าซ LPG ที่มาจากโรงกลั่นน้ำมันนั้น เราก็ต้องมาดูก่อนว่าก๊าซ LPG ที่ได้มานั้นมาได้อย่างไร ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าโรงกลั่นน้ำมันนั้นใช้น้ำมันดิบเป็นวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งเราต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่และก็เป็นการนำเข้าในราคาที่ซื้อขายกันในตลาด ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ผลิตได้จากโรงกลั่นน้ำมันนั้นก็จะต้องมีการขายในราคาตลาดด้วยเช่นกัน ดังนั้นราคาของก๊าซ LPG ที่ผลิตได้จากโรงกลั่นนี้จึงต้องสะท้อนถึงราคาตลาดที่มีการซื้อขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมโดยทั่วไป ซึ่งก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามราคาตลาด แต่ปัจจุบันรัฐก็ไม่ได้ให้โรงกลั่นขายก๊าซ LPG ในราคาตามที่ควรจะได้ โดยรัฐได้มีการกำหนดราคาก๊าซ LPG ให้กับโรงกลั่นน้ำมันโดยวิธีการใช้ราคาเฉลี่ยที่คำนวณจากราคาตลาด (ราคา CP) ในอัตราส่วนร้อยละ 76 และราคาที่รัฐตั้งเพดานไว้ในประเทศที่ 333 ดอลลาร์ต่อตันในอัตราส่วนร้อยละ 24 ซึ่งก็จะทำให้ราคาก๊าซ LPG จากโรงกลั่นนั้นต่ำกว่าราคาตลาดลงมาในระดับหนึ่ง

สำหรับก๊าซ LPG ที่ผลิตมาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาตินั้น จะต่างกับก๊าซ LPG ที่มาจากโรงกลั่นน้ำมันคือก๊าซ LPG จากโรงแยกก๊าซธรรมชาตินั้นใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเป็นวัตถุดิบในการผลิต ดังนั้น ต้นทุนการผลิตก๊าซ LPG จึงมาจากต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่ได้จากอ่าวไทยบวกกับต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจากการศึกษาโดยทางกระทรวงพลังงานนั้นราคาก๊าซ LPG ที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซธรรมชาตินั้นจะอยู่ที่ประมาณ 550 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งก็ยังสูงกว่าราคาที่รัฐกำหนดไว้ที่ 333 ดอลลาร์ต่อตัน และส่วนต่างตรงนี้โรงแยกก๊าซธรรมชาตินั้นก็เป็นผู้รับภาระ โดยรัฐไม่ได้เข้ามาอุดหนุนแต่ประการใด

สำหรับการนำเข้าก๊าซ LPG มาใช้ในประเทศนั้นก็ตรงไปตรงมาคือเป็นราคาที่เราซื้อมาในราคาตลาดโลกบวกกับต้นทุนการนำเข้า ซึ่งปัจจุบัน (ราคา ณ เดือนกรกฎาคม 2556) ราคาที่ขายอยู่ในตลาดโลกที่ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการนำเข้าอยู่ที่ 793 ดอลลาร์ต่อตัน ถ้ารวมกับค่าใช้จ่ายในการนำเข้าซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปทุกๆ เดือนโดยขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เช่น อัตราแลกเปลี่ยน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็จะทำให้ต้นทุนการนำเข้าก๊าซ LPG ขยับไปอยู่ที่ประมาณ 850 ดอลลาร์ต่อตัน เมื่อเทียบกับเพดานราคาที่ 333 ดอลลาร์ต่อตัน มีส่วนต่างถึง 517 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งรัฐก็ได้นำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปชดเชยเพื่อทำให้ราคาก๊าซ LPG ในประเทศนั้นอยู่ในระดับเดิม

จากต้นทุนก๊าซ LPG ที่ผมได้กล่าวไปข้างต้นนี้จะเห็นว่าราคาที่รัฐกำหนดนั้นต่ำกว่าต้นทุนที่มาจากทั้งสามแหล่ง ซึ่งส่วนต่างของต้นทุนเหล่านี้ก็จะต้องมีคนรับผิดชอบ ซึ่งก็เห็นแล้วว่าปัจจุบันมาจากกองทุนน้ำมัน

ในครั้งหน้าผมจะมาพูดต่อถึงราคาขายปลีกก๊าซ LPG ซึ่งปัจจุบันแบ่งออกตามประเภทของลูกค้าเป็นสามกลุ่มคือภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม