การเมืองเรื่องหลากสีกับการเปลี่ยนแปลงอนาคตประเทศไทย

การเมืองเรื่องหลากสีกับการเปลี่ยนแปลงอนาคตประเทศไทย

การมองอนาคตไทยการศึกษาเรื่องปมความขัดแย้ง และพลวัตทางการเมือง เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงมิได้

ปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองแบบ 2 ขั้ว ซึ่งปะทุในรูปแบบการปะทะกันของมวลชนทั้ง 2 ฝ่าย เป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ดี เป็นการง่ายเกินไปที่จะมองปรากฏการณ์ม็อบในทัศนะที่สุดโต่งว่าเป็นเรื่องของการรับจ้างหรือเป็นอุดมการณ์ล้วนๆ งานวิจัยในเชิงลึกจะเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้สังคมไทยเพื่อให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มผลประโยชน์ อุดมการณ์การเมือง (ใหม่) ที่เกิดขึ้น

ผู้เขียนขอยกงานของ ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย และคณะ ซึ่งเป็นการวิจัยภายใต้โครงการชุดอนาคตไทยของแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดีมาเล่าสู่กันฟัง งานวิจัยชิ้นนี้อาศัยข้อมูลสัมภาษณ์ประชาชน 2,200 รายใน 5 จังหวัด มีการเก็บข้อมูลกรณีศึกษาในภาคสนาม ข้อมูลสัมภาษณ์เชิงลึกและการประชุมกลุ่มแบบเจาะลึกสะท้อนภาพออกมาว่า การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างชนชั้นใหม่ขึ้นมาเป็นชนชั้นกลาง “ใหม่” ที่ทีมวิจัยเรียกว่า “พลเมืองใหม่” ซึ่งทีมวิจัยประเมินว่าเป็นกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงกลุ่มใหญ่ที่สุดของสังคม ชนชั้นกลางใหม่จะมีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่ากลุ่มชนชั้นกลางเก่า แต่เขาเหล่านั้นก็มิใช่คนจน

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมทำให้ความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมเปลี่ยนแปลงไปจนถึงระดับรากฐานความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์ที่คนจนต้องพึ่งผู้มีอำนาจและผู้มีอิทธิพลเพื่อลดความเสี่ยงได้ลดความสำคัญลง เพราะคนจนได้กลายเป็นคนส่วนน้อยในสังคมไปแล้ว ในส่วนของรัฐเองก็ได้ยุติการดึงเอาทรัพยากรส่วนเกินจากภาคเกษตรผ่านการเก็บค่าพรีเมียมข้าว และได้เปลี่ยนบทบาทมาเป็น “ผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ที่สุด” ของชนบทไทย

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้เกิดความสัมพันธ์ใหม่ๆ ในระดับรากหญ้าที่ซับซ้อนไปกว่าระบบอุปถัมภ์เกิดความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ๆ ทั้งในรูปกลุ่ม องค์กร และเครือข่ายที่สามารถนำไปต่อรองเพื่อแสวงหาทรัพยากรกับรัฐ เช่น สมัชชาเกษตรกรรายย่อย สมาคมชาวนาหรือขอโครงการพัฒนา เช่น เรียกร้องการรับจำนำข้าว เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน ภูมิทัศน์การเมืองก็มีพลวัตอย่างกว้างขวางและชัดเจน เนื่องจากการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งที่แต่เดิมผู้เลือกจะเลือกผู้แทนจากพรรคใดก็ได้ ทำให้การเลือกตั้งเน้นตัวบุคคลเป็นใหญ่ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เปลี่ยนกติกาทางการเมือง เพิ่มอำนาจต่อรองให้นายกรัฐมนตรี เพิ่มแรงจูงใจให้นักการเมืองลงทุนในพรรคใหญ่ ใช้การเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียวเพื่อลดการแข่งขันของ ส.ส. ในพรรคเดียวกัน ทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบพรรคเล็ก

ในขณะเดียวกันการปฏิรูปกติกาทางการเมืองและการให้มี ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อสนับสนุนให้การหาเสียงที่ต้องมีนโยบายระดับชาติสำคัญยิ่งขึ้น เป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลพรรคไทยรักไทยมีเอกภาพและเสถียรภาพสามารถผลักดันนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว จนได้ชัยชนะแบบขาดลอยในการเลือกตั้งครั้งถัดมา ยิ่งทำให้ประชาชนเริ่มเห็นว่าประชาธิปไตยนั้น “กินได้”

คู่ขนานกับการปฏิรูปสถาบันการเมืองระดับชาติ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ยังได้เริ่มกระบวนการกระจายอำนาจมาสู่ท้องถิ่นโดยได้ให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารในทุกระดับ มีการกำหนดงบประมาณให้ท้องถิ่น ประชาชนได้มีโอกาสสัมผัสกับสิทธิที่จะเลือกองค์กรของรัฐที่ใกล้ชิดตนที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นและพึงพอใจในการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ การกระจายอำนาจจึงกระตุ้นความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนระดับรากหญ้า การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 จึงเป็นการขโมยสิทธิและ “หุ้นส่วน” ทางการเมืองของกลุ่ม “ชนชั้นกลางใหม่” จนส่วนหนึ่งได้กลายเป็น “คนเสื้อแดง” ไปในที่สุด

ทีมวิจัยวิเคราะห์ว่า ในทางตรงกันข้ามคนเสื้อเหลืองเป็นชนชั้นกลางเก่าที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคงกว่า และเข้าถึงบริการหลักๆ ของรัฐมากกว่า และได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทยน้อยกว่า

สิ่งที่ทีมวิจัยพบคือ ที่มาของเสื้อแดงมิใช่แต่เพียงความเหลื่อมล้ำทางฐานะเศรษฐกิจที่เข้าใจกันอย่างทั่วไป แต่ยังต้องรวมไปถึงความอยุติธรรมทั้งทางสังคมและการเมืองอีกด้วย ประเด็นที่น่าสนใจคือพบว่าในชุดตัวอย่าง กลุ่มที่สุดขั้วทั้ง 2 สี คือ “ทักษิณกลับบ้าน” “ต่อสู้เพื่อปกป้องสถาบันฯ” มีจำนวนน้อยกว่าที่คาดคือมีฝ่ายละไม่ถึง 2% ของชุดตัวอย่าง และมีความเห็นร่วมกันระหว่างเหลืองกับแดงค่อนข้างมาก และทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็เห็นร่วมกันในเรื่องอุดมการณ์ประชาธิปไตย แม้ว่าน้ำหนักที่แต่ละกลุ่มให้จะต่างกัน เช่น เสื้อแดงจะให้น้ำหนักกับ 1) ประชาธิปไตยแบบตัวแทน 2) ปัญหาสองมาตรฐาน และความไม่ยุติธรรมในทางกฎหมาย 3) แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน 4) แก้ไขความได้เปรียบเหนือผู้อื่น (การมีเส้นสายไม่เท่ากันของคนในประเทศ) 5) แก้ปัญหาความยากจน และ

6) ทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งสีเหลืองก็เห็นด้วยกับประเด็นเหล่านี้เหมือนกันแต่เสื้อเหลืองจะให้ความสำคัญมากกว่ากับ 1) ประชาธิปไตยแบบตรวจสอบ 2) ต่อต้านเผด็จการรัฐสภา และการรวบอำนาจของนักการเมือง 3) ต่อต้านคอร์รัปชัน และการโกงกินของนักการเมือง และ 4) ปัญหาซื้อขายเสียง ซึ่งประเด็นเหล่านี้เสื้อแดงอุดมการณ์ก็เห็นด้วย

ที่เห็นขัดแย้งกันอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะทั้งรัฐบาลและพวกสุดขั้วต่างยึดประเด็นสุดขั้วเป็นตัวตั้ง ทำไมเราไม่เอาทัศนะที่เหมือนกันเป็นตัวตั้งแทนล่ะคะ

งานวิจัยชุดนี้เป็นงานวิจัยชิ้นแรกๆ ของไทย ซึ่งยังต้องการการสานต่อและการถกประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง ความหวังที่จะพัฒนาและยกระดับสังคมการเมืองไทยขึ้นอยู่กับการเปิดใจ และพื้นที่ทางปัญญา ยอมรับความเห็นที่แตกต่าง แต่ถ้าขืนยังสุดขั้วกันอยู่อย่างนี้ อีก 20 ปี ประเทศไทยก็คงติดกับดักทางการเมืองไม่สามารถยกระดับสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองเรื่องหลากสีได้ อนาคตประเทศไทยเห็นทีต้องมืดมนเป็นแน่!!

ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารงานวิจัยได้ฟรี และส่งความเห็นมาได้ที่ www.tuhpp.net