จับตามวยล้มคดีโกงแวต

จับตามวยล้มคดีโกงแวต

กรณีทุจริตการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออก หรือ โกงแวต มูลค่านับ 4 พันล้านบาท กำลังเป็นที่จับตา

ว่า จะเป็นกรณีตัวอย่างของการเอาผิด ต่อผู้กระทำการโกงชาติอย่างจริงจัง หรือ จะเป็นกรณี “มวยล้ม ต้มคนดู” เพราะกระบวนการโกงแวตที่ว่านี้ คาดว่ามีข้าราชการระดับสูงในกระทรวงการคลังให้ความร่วมมือ ซึ่งอดีตหลายคดีทุจริตคอร์รัปชันไม่เคยมีใครติดคุก แม้จะมีหลักฐานมัดตัว แต่ที่แน่ๆ เรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นโดยข้าราชการคลังไม่เคยหมดไป

คดีนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ซึ่งกระทรวงการคลัง โดย กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรัฐมนตรีคลัง เป็นผู้อนุมัติให้ส่งเรื่องตรวจสอบ ขณะที่ เบญจา หลุยเจริญ รัฐมนตรีช่วยคลังหญิงคนล่าสุด ได้เข้ามาสานต่อในฐานะที่รู้ลึกรู้จริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ทั้งสองท่านฟันธงว่า “หากไม่มีคนในร่วมขบวนการ กรณีเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน”

เบญจาเล่าว่า เมื่อกลางปีที่แล้ว สมัยดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมศุลกากร ได้พบขบวนการโกงแวต และได้ส่งเรื่องให้กรมสรรพากรตรวจสอบ แต่เรื่องกลับเงียบไป และเมื่อกระทรวงการคลังตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องคอร์รัปชัน กรณีโกงแวตก็เป็นเรื่องที่ได้ตรวจพบอีกครั้ง พร้อมๆ กับการนำเข้ารถยนต์หรูหนีภาษี

ทั้งนี้ กรณีโกงแวต 4 พันล้านบาทนี้ ได้มีการตรวจพบผู้กระทำความผิดจำนวน 57 ราย ในเขตพื้นที่สรรพากร 22 ย่านบางรัก ขณะที่ มีคำยืนยันจากอธิบดีสรรพากรว่า จะไม่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้กระทำความผิดอย่างแน่นอน ในทางกลับกัน ก็มีคำถามถึงความรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าว ในฐานะที่เป็นผู้บริหารระดับสูงสุดของกรมฯเช่นกัน

ขบวนการโกงแวตที่ว่า จะต้องมีข้าราชการรู้เห็นเป็นใจนี้ ก็เพราะว่า ขั้นตอนการตรวจสอบการคืนเงินภาษีนี้ จะมีการดำเนินการอย่างเข้มงวด กล่าวคือ หากมีจำนวนเงินคืนมาก กรมสรรพากรจะใช้เวลาราว 6 เดือน ในการตรวจสอบ แต่กรณีนี้ ใช้เวลาเพียง 3 วัน เพื่ออนุมัติคืนเงินหลักร้อยล้านบาท โดยผู้กระทำความผิด จะจัดตั้งบริษัทหลายแห่ง เพื่อกำหนดให้เป็นบริษัทซื้อและขายสินค้าเพื่อส่งออกอย่างครบวงจร แต่ไม่ได้มีการซื้อขายจริง เพื่อใช้อ้างอิงกรณีถูกตรวจสอบ กรณีการตั้งบริษัทซื้อขายสินค้าอย่างครบวงจรนี้ ถือเป็นการกระทำที่ต้องมีการวางแผนโดยผู้ที่เชี่ยวชาญในกระบวนการตรวจสอบภาษี

ทั้งนี้ เมื่อคำนวณเป็นมูลค่าสินค้าที่ส่งออกไปจะมีจำนวนราว 6 หมื่นล้านบาท แน่นอนว่า มูลค่าส่งออกดังกล่าว จะต้องถูกนำมาคำนวณรวมในจีดีพีของประเทศในช่วงที่ผ่านมาด้วย นั่นหมายความว่า มูลค่าที่ว่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจริง และ ไม่ได้มีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจแต่อย่างใด คำถามคือ จะมีกรณีใดอีกหรือไม่ ที่ทำให้จีดีพีของประเทศถูกบันทึกโดยไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ซึ่งประเด็นที่ท้าทายการทำงานของหน่วยงานราชการในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว

อีกไม่นานผลการสอบสวนคดีนี้คงจะเสร็จสิ้น คาดหวังว่า จะสามารถเรียกคืนเงินภาษีที่โกงไปจากประชาชนได้ทั้งจำนวน และสามารถจับตัวผู้กระทำความผิดได้ทั้งหมด ส่วนจะสามารถจับตัวผู้บงการเข้าคุกได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลักฐานที่จะสาวไปถึง เพราะหากสามารถวางแผนโกงเป็นขบวนการถึงขนาดนี้ได้ คงไม่เข้าข่ายสุภาษิต “ปลาตายน้ำตื้น” เพราะย่อมไม่ทิ้งหลักฐานให้สาวถึงอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดกรณีดังกล่าว ก็หวังว่า ควรจะเป็นกรณีสุดท้ายที่ปล่อยให้ขบวนการโกงเกิดขึ้น โดยผู้บริหารระดับสูงไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือข้าราชการที่รับผิดชอบ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการล้อมคอก เพื่อปิดช่องโหว่ทุจริตภาษี