จาก Arab Spring สู่นิยาม ‘ประชาธิปไตยส่วนร่วม’

จาก Arab Spring สู่นิยาม ‘ประชาธิปไตยส่วนร่วม’

ผมถามท่านเอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำประเทศไทย Shanel Nasser เมื่อสัปดาห์ก่อน

ระหว่างการสัมภาษณ์ออกวิทยุ FM 90.5 ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นล่าสุดในประเทศของท่านจะเรียกว่า “coup” (รัฐประหาร) หรือไม่ ท่านตอบอย่างไม่ลังเลว่า
“Absolutely not.” (ไม่ใช่แน่ๆ)

เป็นการค้านกับสิ่งที่คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่ม Muslim Brotherhood ที่สนับสนุนอดีตประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด มอร์ซี ที่ถูกโค่นไป ซึ่งประณามการกระทำของกองทัพอียิปต์ครั้งนี้ว่าเป็น “coup” พันเปอร์เซ็นต์ เพราะจะตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากว่านี่คือการที่ทหารใช้อำนาจของตนเองเข้าล้มล้างรัฐบาล ที่ได้ผ่านการเลือกมาจากประชาชนและฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งต่อหน้าต่อตา

ท่านทูตอียิปต์ บอกว่า ที่ไม่เรียกการล้มล้างครั้งนี้ว่าเป็นรัฐประหาร เพราะท่านอ้างว่าทหารเพียงแค่ทำตามคำเรียกร้องของประชาชน ที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง

“ทหารไม่ได้ต้องการปกครองประเทศ แต่ต้องการจะจัดระเบียบใหม่ เพื่อให้กลับไปสู่การเลือกตั้ง ที่จะสะท้อนถึงความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง” ท่านทูตบอก

เป็นคำอธิบายที่ผู้คนจำนวนมากคงยอมรับไม่ได้ แต่เป็นเหตุผลทางการของทหาร และประชาชนผู้ไม่พอใจการบริหารแบบ มอร์ซี หนึ่งปีเต็มที่ไม่สามารถแก้ปัญหาพื้นฐานเช่น ความยากจน ข้าวยากหมากแพง และความขาดแคลนในสิ่งอำนวยความสะดวกประจำวันของชาวบ้านได้

ที่เป็นบทเรียนสำคัญที่สุด เห็นจะเป็นว่าการเลือกตั้งอย่างเดียว คงไม่ได้นิยามความเป็น “ประชาธิปไตย” ได้ทั้งหมด เพราะว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว หากได้รับเลือกตั้งมา แต่ปกครองประเทศด้วยวิธีการที่กระจุกอำนาจอยู่ในคนกลุ่มเดียว ไม่ฟังเสียงคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม ก็จะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งที่จบลงด้วยการเผชิญหน้าและความรุนแรง

นิตยสารไทม์ เล่มล่าสุดขึ้นปกฝูงชนคนอียิปต์ และแบ่งเป็นสองข้าง ด้านหนึ่งเรียก World’s Best Protestors และอีกข้างหนึ่งคือ World’s Worst Democrats

ความหมาย คือ “ผู้ประท้วง” ที่ดีก็มี และ “นักประชาธิปไตย” ที่แย่ก็ไม่น้อย

อีกนัยหนึ่ง การติดป้ายชื่อเป็นอย่างนั้นอย่างนี้นั้น ไม่ได้มีความหมายเดียวเหมือนอย่างที่เคยเข้าใจกันอย่างแต่ก่อน
ภาพลักษณ์ของคำว่า “นักประชาธิปไตย” แต่เดิม คือ คนดีอันน่าพึงปรารถนา เพราะอ้างว่าทำเพื่อประชาชน

ขณะที่ใครถูกเรียกว่า “นักประท้วง” ก็มักจะถูกเข้าใจว่าเป็นผู้ก่อความวุ่นวายและสร้างปัญหาให้กับสังคม

แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ยิ่งนับวันการเมืองของโลกก็ยิ่งมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งความหมายเดิมก็ถูกเปลี่ยนไปไม่น้อย เพราะไม่มีใครสามารถอ้าง “สูตรตายตัว” ของตนเพื่อ “ติดป้าย” ให้กับตัวเอง และยัดเยียดชื่อเสียงเรียงนามอีกอย่างหนึ่งให้กับคนอื่น เพื่อให้เห็นว่าตัวเองดีกว่าอีกคนหนึ่ง

วันนี้ คำว่า “ประชาธิปไตย” อาจจะถูกอ้างไปใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อจะนำไปสู่การได้อำนาจมา เพื่อจะแปรเปลี่ยนเป็น “เผด็จการอีกรูปแบบหนึ่ง” เท่านั้น

โดยเฉพาะ หากผู้ที่ได้รับอาณัติจากประชาชนผ่านบัตรหย่อนคะแนน เข้าใจผิด คิดเหมาเอาเองว่าเมื่อได้อำนาจมาแล้วจะทำอะไรก็ได้ จะฟังใครหรือไม่ฟังใครก็ได้ และจะกำหนดทิศทางของประเทศไปตามแนวทางที่พวกตนต้องการเท่านั้น ก็เท่ากับเป็นการใช้คำว่า “กระบวนการประชาธิปไตย” เพื่อผลประโยชน์แห่งตนเท่านั้น โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ได้รับผลพวงแห่งความเป็นประชาธิปไตย อย่างแท้จริง

คำว่า inclusive democracy หรือ participatory democracy จึงกลายเป็นคำนิยามขยายผลที่มีความสำคัญ

เพราะว่าหมายถึงการที่ผู้มีอำนาจเปิดทางให้คนทุกหมู่เหล่า “มีส่วนร่วม” อย่างจริงจังในการบริหารประเทศในรูปแบบต่างๆ ที่สะท้อนถึงการเปิดกว้างสำหรับความเห็นที่แตกต่างและการรับฟังข้อเสนอที่เป็นทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับแนวทางของกลุ่มนักการเมืองที่มีอำนาจในขณะนั้น

บทเรียนจาก Arab Spring ไม่ได้จบลงเพียงการโค่นเผด็จการในอดีตเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการดำเนินงานต่อเนื่อง ด้วยการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เพื่อนิยามคำว่า democracy ให้เข้ากับมิติใหม่ของความหลากหลายในสังคมยุค social media ที่ไม่มีอำนาจทางการเมืองกลุ่มใดจะสามารถควบคุมสั่งการได้ทุกอย่าง...เหมือนในอดีตอีกด้วย