ชี้แจงข้อเท็จจริงโครงการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ

ชี้แจงข้อเท็จจริงโครงการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ

อ้างถึง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับที่ 9041 วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน 2556

ตามที่อ้างถึง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ได้ลงบทความเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำ และอุทกภัยแห่งชาติ โดยใช้ชื่อบทความว่า “ทำไมโครงการสามแสนห้าหมื่นล้านไม่โปร่งใส” โดยนายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ ให้ความเห็นว่า โครงการสามแสนห้าหมื่นล้าน สร้างโอกาสให้การทุจริตอาจเกิดขึ้นได้และอาจสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติด้วยเหตุผลต่างๆ ความโดยละเอียดแจ้งแล้ว นั้น

สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) ขอเรียนว่า บทความ ลงในหนังสือพิมพ์ฉบับที่อ้างถึง เป็นการเสนอบทความที่หลายเรื่องไม่เป็นความจริงและอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงการที่รัฐบาลได้ดำเนินการ สบอช. ในฐานะเจ้าของโครงการ จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบ ดังนี้

1. โครงการนี้เป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและความปลอดภัยของประชาชน และเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว จึงได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) โดยมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารในระบบ Single Command (การสั่งการอยู่ที่ศูนย์กลางที่เดียว)

2. ขั้นตอนการดำเนินการโครงการในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา มีการประกาศเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าแข่งขันด้านการเสนอกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) และเพื่อให้มีการแข่งขันคัดเลือกผู้ที่เสนอกรอบแนวคิดที่ดีที่สุด และนำมากำหนดรายละเอียดแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในประเทศ ดังนั้นเพื่อให้มีการเสนอกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) อย่างโปร่งใส เป็นธรรม และให้ได้แนวคิดที่ดีที่สุด จึงต้องกำหนดคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าแข่งขันเสนอกรอบแนวคิดต้องเป็นบริษัท หรือกลุ่มของบริษัทในลักษณะ Consortium หรือ Joint Venture ภายใต้เงื่อนไขว่า

๐ หากนิติบุคคลที่ยื่นหรือร่วมยื่นข้อเสนอเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ต้องมีหนังสือรับรองสถานะความเป็นนิติบุคคลของสถานทูตที่นิติบุคคลนั้นจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นมาแสดงเพื่อประกอบการพิจารณา

๐ ในกรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอเป็นการรวมกลุ่มกันของนิติบุคคลในลักษณะ Consortium หรือ Joint Venture นิติบุคคลที่เข้ามารวมกลุ่มยืนข้อเสนอด้วยอย่างน้อยหนึ่งนิติบุคคลต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย

3. บริษัทที่เข้าแข่งขันเสนอกรอบแนวคิดต้องเคยมีผลงานด้านการออกแบบระบบการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ หรืองานออกแบบหรือก่อสร้างเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ หรืองานออกแบบหรือก่อสร้างระบบป้องกันหรือแก้ไขปัญหาหรือภัยแล้วในช่วงระหว่างปี 2545-2555 ในประเทศไทย หรือ ในต่างประเทศ มูลค่าการก่อสร้างไม่น้อยกว่าสามหมื่นล้านบาท คือเท่ากับ 10% ของมูลค่าโครงการบริหารจัดการน้ำฯ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี และการที่รัฐได้ตั้งไว้ 10% จึงอยู่ในเกณฑ์ขั้นต่ำ ในกรณีผู้ยื่นข้อเสนอเป็นกลุ่มบริษัทในลักษณะ Consortium หรือ Joint Venture มูลค่าผลงานดังกล่าวให้นับรวมผลงานของ แต่ละนิติบุคคลเข้าด้วยกัน แต่ผลงานที่จะนำมานับรวมเข้าด้วยกันนั้นอย่างน้อยต้องมีมูลค่าการก่อสร้างไม่ต่ำกว่าผลงานละสองพันล้านบาท ดังนั้นการมากล่างหาว่าใช้วงเงินสูงถึง 30,000 ล้านจึงไม่เป็นความจริง

4. ผลงานที่เสนอมาประกอบการพิจารณา ต้องรับรองโดยสถานทูตที่นิติบุคคลผู้เสนอผลงานได้นั้นจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นมาแสดงประกอบการพิจารณาด้วย หากเป็นนิติบุคคลไทย ต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานเจ้าของโครงการอันเป็นผลงานนั้นมาแสดงประกอบการพิจารณา ดังนั้นการที่บทความได้ลงไว้ว่าผลงานดังกล่าวจะต้องได้รับการรับรองจากรัฐบาลของนิติบุคคลก่อนแล้วจึงให้สถานทูตของรัฐบาลนั้นในประเทศไทยรับรองอีกครั้ง จึงเป็นการลงบทความที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

5. การแข่งขันเสนอกรอบแนวคิดมีนิติบุคคลให้ความสนใจจำนวน 34 กลุ่มบริษัท จำนวน 114 บริษัท และได้ผ่านการพิจารณาเบื้องต้น 8 กลุ่มบริษัท และเมื่อมีการตรวจสอบคุณสมบัติอีกครั้ง จึงพบว่ามีที่มีคุณสมบัติครบถ้วน 6 กลุ่มบริษัท

6. การพิจารณาขั้นตอนการเสนอแบบเบื้องต้น (Definitive Design) ปรากฏว่ามีอยู่ 2 กลุ่มบริษัท ได้ทำหนังสือแสดงความจำนงขอถอนตัวจากการเข้าร่วมประมูลโครงการ เนื่องจากเห็นว่าไม่สามารถแข่งขันในเรื่องราคาได้ จึงคงเหลือกลุ่มบริษัทเข้าร่วมโครงการจริงเพียง 4 กลุ่มบริษัท สำหรับบริษัทล็อกซเล่ย์นั้น ได้เสนอตัวที่จะเข้าแข่งขันเพียง Module คลังข้อมูลเท่านั้น จึงไม่ใช่การตัดโอกาสแข่งขันใน Module อื่นตามที่เขียนข่าว

7. กระบวนการคัดเลือกกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ใน TOR โดยชัดเจนโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา และยังเปิดเผยหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและการให้คะแนนมาโดยตลอดมาแต่เริ่มต้น

8. กลุ่มบริษัทที่ชนะการประมูล เกิดจากการจัดให้มีกระบวนการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม และขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีกลุ่มบริษัทใดร้องเรียนว่าขอความเป็นธรรมแต่อย่างใด

9. โครงการบริหารจัดการน้ำ เป็นโครงการ Design Build คือ ให้ออกแบบและก่อสร้าง การพิจารณาด้านเทคนิคและต่อรองราคาจึงต้องพิจารณาทั้ง 2 ด้านควบคู่กัน คือ เทคนิคและราคา กระบวนการต่อรองราคา คณะกรรมการฯ จะเริ่มต่อรองราคาเมื่อทราบว่ากลุ่มบริษัทใดชนะด้านเทคนิคสูงสุด ซึ่งกระบวนการต่อรองราคา เป็นการพิจารณาด้านเทคนิค และต่อรองราคาประกอบกันไป

10. กระบวนการต่อรองราคา เป็นการพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของรายละเอียดด้านเทคนิค ที่ได้พิจารณาแล้วว่าดีที่สุดภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนการต่อรองราคาคณะกรรมการจึงมุ่งเน้นให้ได้การก่อสร้างที่ดีที่สุด และในราคาที่ถูกที่สุด และภายใต้กรอบราคาที่กำหนดล่วงหน้า (Guarantee Maximum Price) อยู่ในกระบวนการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้จากทุกภาคส่วน มิได้มุ่งหาของแพงคุณภาพต่ำอย่างที่ได้ลงบทความ

11. โครงการบริหารจัดการน้ำ การจ่ายเงินจะจ่ายตามผลงานที่เกิดขึ้นจริง (Unit Cost) และไม่เกินยอดงบประมาณที่บริษัทเคยเสนอไว้ (guarantee maximum price) ดังนั้นรัฐบาลไม่มีการเสียเปรียบใดๆ เลยทั้งสิ้น

12. โครงการบริหารจัดการน้ำ เป็นโครงการที่รัฐให้ความสำคัญ และมิได้ละเลยต่อการปฏิบัติตาม มติ ครม. ระเบียบ กฎ กฎหมายและรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด การศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อยู่ในกระบวนการที่ต้องปฏิบัติ

13. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการแถลงข่าว เมื่อวันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม 2556 และมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำกับโครงการและตรวจรับงานที่มีประสิทธิภาพสูง คือ ดำเนินการจ้างบริษัทที่ปรึกษา ที่มีความรู้ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาการบริหารจัดการซึ่งก็ตรงกับแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) มาแต่เริ่มแรก จึงได้พิจารณาจะใช้งบประมาณจำนวน 8,700 ล้านบาท เป็นค่าบริหารโครงการ ส่วนระยะเวลาการจ้าง 5 ปีนั้น เป็นการจ้างที่ปรึกษาให้สอดคล้องกับระยะเวลาการก่อสร้างและจะเริ่มนับเมื่อวันที่ลงนามในสัญญา

การดำเนินการของ กบอ. โดย สบอช. เป็นการดำเนินการที่อยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย กฎ มติ หลักเกณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกำหนด เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน มิได้มีเจตนาแสวงหาประโยชน์ จากการดำเนินการตามบทความแต่อย่างไร