40 ปี 14 ตุลา เราจะไปทางไหนกัน

40 ปี 14 ตุลา เราจะไปทางไหนกัน

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เมื่อ 81 ปีที่แล้ว เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญ

ปีนี้ครบรอบ 40 ปี เป็นช่วงเวลานานพอที่เราน่าจะได้ศึกษาทบทวนบทเรียนจากประวัติศาสตร์กัน เพราะถ้าประชาชนไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ให้ดีพอ ก็ยากที่จะสร้างอนาคตให้ดีขึ้นกว่าปัจจุบันได้

แม้หลังจาก 40 ปีมาแล้ว ไทยยังคงเป็นได้แค่ประชาธิปไตยแบบนายทุน ที่มีความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนมาก และอดีตผู้นำนักศึกษาช่วง 14 ตุลาคม หลายคนจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง แต่เราควรมองแยกประเด็นกันว่าจิตใจ (สปิริต) ของการเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรม 14 ตุลาคม 2516 เป็นจิตใจของคนที่เข้าร่วมเหตุการณ์ครั้งนั้นจริง และมีคุณูปการต่อการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์สังคมจริง

เหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งผู้แทน ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ต่างจากยุคเผด็จการทหาร ในช่วง 15 ปีก่อนหน้ามาก ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองที่ชนชั้นสูงมีอำนาจมากกว่าประชาชนนั้นมีข้อจำกัด ในแง่ส่งเสริมให้เฉพาะนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของชนชั้นสูงและคนชั้นกลางขึ้นไปมีอำนาจในการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทุนนิยมอุตสาหกรรมผูกขาดที่เป็นบริวาร ทำให้คนรวย คนชั้นกลางยิ่งร่ำรวยและกุมอำนาจรัฐ/อำนาจเศรษฐกิจ ได้ประโยชน์สูงกว่าคนจนส่วนใหญ่ (ชาวนาชาวไร่ คนงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย) เพิ่มขึ้น การกระจายทรัพย์สินและรายได้ รวมทั้งการศึกษา ที่ไม่เป็นธรรมอยู่แล้วยิ่งเหลื่อมล้ำต่ำสูงเพิ่มขึ้นอีก

ที่ไทยเป็นได้แค่ประชาธิปไตยแบบนายทุน เพราะภาคประชาชนไม่ได้รับการพัฒนาให้ฉลาดและเข้มแข็งพอ ไม่มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมหรือประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคม การพัฒนาเศรษฐกิจแบบเน้นการเติบโตของระบบทุนได้แต่เพิ่มความร่ำรวยให้คนรวยและคนชั้นกลาง ประชาชนส่วนใหญ่ต้องเผชิญปัญหาทางด้านเศรษฐกิจสังคมที่รุนแรงและแผ่ขยายเพิ่มขึ้น เช่น มีคนจนโดยเปรียบเทียบ คนติดยาเสพติด โสเภณี คนเป็นเอดส์ และเด็กเยาวชน ผู้หญิง คนด้อยโอกาสที่มีปัญหาด้านต่างๆ รวมทั้งอาชญากรรม ความรุนแรง การทุจริตฉ้อฉล เอารัดเอาเปรียบ เพิ่มขึ้น ธรรมชาติสภาพแวดล้อมและสังคมวัฒนธรรมก็ถูกทำลายให้เสื่อมโทรมเพิ่มขึ้นอย่างมากด้วยเช่นกัน

รัฐบาลทุกรัฐบาลอ้างว่าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตเพื่อแก้ปัญหาคนจน แต่เมื่อไม่ได้มีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง เช่นปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูประบบการคลังและภาษีอากร (ที่ควรเก็บจากคนรวยเพื่อมาใช้พัฒนาคนจนเพิ่มขึ้น) ฯลฯ การกระจายทรัพย์สินและรายได้ก็ยิ่งไม่เป็นธรรมเพิ่มขึ้น รัฐบาลกระจายงบประมาณและปล่อยเงินกู้ออกไปสู่ชนบทและคนจนในเมืองตามโครงการประชานิยมแบบฉาบฉวย คือส่งเสริมให้ประชาชนบริโภค/เป็นหนี้เพิ่มขึ้น รัฐบาลขายรัฐวิสาหกิจที่ทำกำไรดี เช่น ปตท. ให้กลุ่มนายทุนเอกชนกู้เงินมาก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจที่และกระตุ้นการลงทุนและบริโภคเป็นประโยชน์ต่อนายทุนเพิ่มขึ้น ประชาชนพอใจที่ได้มีเงินใช้จ่ายหมุนเวียนเพิ่มขึ้น รู้สึกเอาเองว่าเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ไม่ได้ตระหนักว่าจริงๆ แล้วพวกเขาทำงานหนักขึ้น เป็นหนี้เพิ่มขึ้น เสียเปรียบธนาคารและทุนขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น และต้องพึ่งพานักธุรกิจการเมืองเพิ่มขึ้น

การพัฒนาเศรษฐกิจแบบเน้นการเติบโตฉาบฉวย ระบบการศึกษา และสื่อต่างๆ ที่มีลักษณะหัวเก่าและมุ่งแต่การหาเงิน ทำให้ประชาชนที่ได้รับการศึกษาแบบที่เน้นการท่องจำและความรู้ทักษะทางเทคนิค และใช้ชีวิตแข่งขันทางเศรษฐกิจแบบตัวใครตัวมัน ไม่ได้สนใจและมองปัญหาบ้านเมืองแบบวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์เจาะลึก แม้แต่คนที่มีจบมหาวิทยาลัยก็ตาม คนที่สนใจการเมืองหลายคนยังใช้ความเชื่อ อุดมการณ์ ความรู้สึก เลือกเข้าข้างชนชั้นนำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแบบ 2 ขั้วสุดโต่ง แทนที่จะวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ในสังคมไทยตามข้อเท็จจริงอย่างจำแนกประเด็น และยึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นด้านหลัก

คนจนส่วนใหญ่ผู้ถูกครอบงำและอยู่อย่างกระจัดกระจาย ยังไม่สามารถสร้างปัญญาชนของตนเองและจัดตั้งพรรคที่มีแนวคิดก้าวหน้าไปในทางปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้คนส่วนใหญ่ได้ ต่างจากประเทศอเมริกาใต้บางประเทศที่ประชาชนเลือกพรรคก้าวหน้า เช่น พรรคแรงงาน พรรคสังคมนิยมเป็นรัฐบาล ที่ปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคมที่คนจนได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น

ไทยในยุคปัจจุบัน มีการเอารัดเอาเปรียบประชาชนโดยชนชั้นนำมากขึ้น แต่ซับซ้อนซ่อนเร้น ประชาชนมองไม่เห็น ไม่เข้าใจ ได้เก่งขึ้น ประชาชนถูกทำให้แตกแยกเป็น 2-3 กลุ่ม เพราะส่วนใหญ่ยังขาดการคิดวิเคราะห์เป็น ขาดวุฒิภาวะและยังมีในกรอบวิธีคิดที่มองแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวระยะสั้น มองบุคคลด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ชอบ ไม่ชอบ แบบ 2 ขั้วสุดโต่งอยู่ แทนที่จะคิดอย่างจำแนกว่าเรื่องใดเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษต่อประชาชนมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ประชาชนควรสร้างความเข้มแข็งด้วยการจัดตั้งองค์กรของตนเองเพื่อต่อรองกับนักการเมืองหรือชนชั้นนำเพิ่มขึ้นอย่างได้ประโยชน์ที่ยั่งยืนกว่าโครงการประชานิยมแบบหาเสียงได้อย่างไร

จิตใจ 14 ตุลา คือ จิตใจของนักอุดมคติหนุ่มสาวที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรมเพื่อประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อชนชั้นนำกลุ่มใด ในพ.ศ.นี้ประชาธิปไตยแบบรัฐสภานายทุนที่ให้ประชาชนมีสิทธิแค่เลือกตั้ง ส.ส. อย่างเดียวยังไม่พอ ต้องมีประชาธิปไตย สิทธิความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย ฝ่ายที่เอาเปรียบประชาชนในทุกวันนี้ไม่ใช่แค่เผด็จการทหารแบบเมื่อ 40 ปีก่อน แต่เป็นเผด็จการของระบบทุนนิยมผูกขาดที่เป็นบริวารทุนข้ามชาติ

ระบบทุนนิยมแบบบริวารและนโยบายหาเสียงประชานิยมที่ทำให้ขาดทุนและเป็นหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก กำลังจะนำประเทศไทยไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่นี้ คนที่มีจิตใจที่รักประชาธิปไตย รักความเป็นธรรม แบบ 14 ตุลาคม ค้นคว้าปัญหานี้อย่างวิเคราะห์ และยึดประโยชน์ประชาชนมากกว่าเข้าข้างชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด เผยแพร่ ผลักดันแนวทางปฏิรูประบบเศรษฐกิจ การเมืองให้เป็นแบบผสม ระหว่างทุนนิยมที่มีการแข่งขันที่เป็นธรรม และระบบสหกรณ์ผู้ผลิตผู้บริโภค สังคมนิยมประชาธิปไตยแนวระบบนิเวศ รัฐสวัสดิการและชุมชนสวัสดิการ เศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง (คือพึ่งคนและตลาดในประเทศ) เป็นสัดส่วนสูงขึ้น ระบบเศรษฐกิจการเมืองแนวใหม่นี้เท่านั้นที่จะสร้างความเป็นธรรม คุณภาพชีวิต การพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ในระยะยาว