อีกไม่นานเกินรอ... โลกนี้จะมีแต่ “สังคมเมือง”

อีกไม่นานเกินรอ...  โลกนี้จะมีแต่ “สังคมเมือง”

หากย้อนกลับไปมองโลกใบนี้ในอดีต คุณผู้อ่านก็จะพบว่า ในช่วงระหว่างปี 2483-2568 เป็นระยะเวลาประมาณ 75 ปี มีการเปลี่ยนแปลง

ในเรื่องการอพยพเข้าไปใช้ชีวิตในเขตเมืองอย่างมหาศาล โดยมีข้อมูลดังนี้

๐ ปี 2483 (ค.ศ.1950) โลกทั้งใบมีประชากรอาศัยอยู่ในเขตเมืองทั้งสิ้นเพียง 30%

๐ ปี 2543 (ค.ศ.2000) มีประชากรอาศัยอยู่ในเขตเมืองสูงถึง 47%

๐ ปี 2568 (ค.ศ.2025) ประชากรจะอาศัยอยู่ในเขตเมืองสูงถึง 60% ส่วนประชากรของโลกที่เหลือน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง จะอาศัยอยู่ในชนบทอันกว้างใหญ่ไพศาล

ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่จะมีโอกาสที่จะมีสังคมเมืองเติบโตเช่นกัน ดังนั้น เพื่อจะให้เห็นภาพโดยรวมของโลกใบนี้ ก่อนที่เราจะไปคุยกันเกี่ยวกับประเทศไทย ผมจึงอยากให้ข้อมูลแก่คุณผู้อ่านเกี่ยวกับสังคมเมืองของโลกของเราโดยพอสังเขป ดังนี้ครับ

หนึ่ง นิยามของคำว่า “Urbanization”

คำนิยามของคำว่า Urbanization บางพจนานุกรมให้คำนิยามว่า “การมีลักษณะเป็นเมืองมากกว่าชนบท” หรือ “การที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือเขตปกครองใดปกครองหนึ่ง มีการอพยพของผู้คนเข้ามาในเขตเมืองมากขึ้นและมากขึ้น จนทำให้สังคมเมืองมีขนาดใหญ่ขึ้นและใหญ่ขึ้น”

สหประชาชาติ ก็ให้ความสำคัญกับการเกิดสังคมเมืองในหลายๆ ประเทศ โดยให้คำนิยามง่ายๆ ว่า เมืองที่มีประชากรมากกว่า 5 ล้านคนให้ถือเป็น “เมืองขนาดใหญ่” (Megacities) ซึ่งในปี 2543 (ค.ศ.2000) พบว่ามีเมืองที่ประชากรมากกว่า 5 ล้านคนอยู่ 41 เมือง นอกจากนั้นยังคาดการณ์ด้วยว่าในปี 2558 (ค.ศ.2015) จะมีเมืองที่มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคนสูงถึง 23 เมือง

สอง อะไร? เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด “สังคมเมือง”

การขยายตัวของสังคมเมืองในเมืองต่างๆ นั้น มาจากสาเหตุใหญ่ๆ ด้วยกัน 2 สาเหตุคือ ข้อที่หนึ่ง การเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติของประชากร หรือการที่มีคนเกิดมากกว่าคนตายนั่นเอง และข้อที่สอง การเพิ่มขึ้นจากการที่มีผู้คนอพยพเข้ามาอาศัยในเมืองมากขึ้น..มากขึ้น ในที่นี้เราจึงขอให้ความสำคัญกับการอพยพเท่านั้น

ความเป็นเมืองของ..ประเทศที่กำลังพัฒนา มักจะพบว่าผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศจะอยู่กันในภาคเกษตรกรรม ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของประเทศเหล่านี้จะมีโอกาสเติบโตได้ดีกว่า และให้โอกาสที่ดีกว่าและมากกว่าแก่ผู้คนที่เข้ามาหางานทำ จึงทำให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ของผู้คนจากภาคเกษตรกรรมเข้าไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสถานที่ตั้งอยู่ในเขตเมือง ส่งผลให้ “ความเป็นเมือง” เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังไม่เห็นแนวโน้มที่จะลดลงเลย เป็นระยะเวลายาวนานไปจนถึงอีกหลายสิบปีข้างหน้า

สาม ปี 2552 ปีแรกที่..ประชากรที่อยู่ในเขตเมือง มากกว่า..ประชากรที่อยู่ในชนบท

จากบทความเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงของประชากรชนบท เมือง มหานคร และอภิมหานครของโลกในช่วงปี 1950-2050” โดยพัลลภ กฤตยานวัช ผอ.ฝ่ายวิชาการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พบว่า ปี 2552 จะเป็นปีแรกที่ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของประชากรทั้งโลก และถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก ทั้งนี้ ในกลางปี 2552 ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองทั่วโลกมีจำนวน 3.42 พันล้านคน ขณะที่ประชากรที่อาศัยในชนบทมีจำนวน 3.41 พันล้านคน

นอกจากนั้น ยังพบว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองมีสัดส่วนสูงถึง 53% มาตั้งแต่ปี 2493 แล้ว ซึ่งแสดงว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมีผู้คนที่อยู่ในเขตเมืองจำนวนมากมาเป็นเวลานานแล้ว ส่วนประชากรที่อยู่ในเขตเมืองในประเทศที่กำลังพัฒนานั้น ในปัจจุบันยังมีอัตราส่วนน้อยกว่า 50% อยู่ แต่คาดว่าภายในปี 2562 ประเทศเหล่านั้นก็จะมีผู้คนอพยพเข้ามาในเขตเมืองมากขึ้น..จนทำให้มากกว่า 50%

สี่ ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง จะเพิ่มขึ้น...และเพิ่มขึ้น

ปี 2593 สหประชาชาติคาดการณ์ไว้ว่า จะมีผู้คนอพยพเข้าเมืองอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ประชากรที่อยู่ในเขตเมืองในเวลานั้นจะมีประมาณ 68.7% ของประชากรทั้งโลก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วความเป็นเมืองจะยิ่งเพิ่มทวีขึ้นไปอีก โดยคาดว่าประชากรที่อยู่ในเขตเมืองของประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเพิ่มจาก 74.9% ในปี 2552 ไปเป็น 86.2% ในปี 2593

ห้า ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองในทวีปเอเชีย...มีมากที่สุดในโลก

ในรายงานของสหประชาชาติพบว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองจะยิ่งเพิ่มขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ โดยประชากรในเขตเมืองทวีปแอฟริกา จะมีอัตราการขยายตัวที่มากที่สุดสูงถึง 3 เท่าตัว กล่าวคือ จาก 399 ล้านคนในปี 2552 จะกลายไปเป็น 1,231 ล้านคนในปี 2593 ส่วนทวีปเอเชียนั้น ประชากรในเขตเมืองคาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวคือ จาก 1,719 ล้านคนในปี 2552 ไปเป็น 3,381 ล้านคนในปี 2593

ทั้งนี้ ประเทศที่มีการขยายตัวของความเป็นเมืองสูงที่สุดในโลกได้แก่ จีน และอินเดีย โดยในปี 2593 จีนจะมีจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองสูงถึง 1,000 ล้านคน ขณะที่อินเดียจะมีจำนวนประชากรที่อยู่ในเขตเมืองสูงถึง 900 ล้านคน

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ยังคงจะยิ่งใหญ่ทั้งทางด้านจำนวนประชากรและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป ทำให้นึกถึงคำพูดของอดีตนายกรัฐมนตรีชื่อดังของจีนที่ชื่อ จู หรงจี (Zhu Rongji) ที่พูดถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ว่า “I take great pride in having been able to overcome the Asian financial crisis and seeking the opportunities available to bring about an unprecedented growth in the economy.” แปลตามความได้ว่า “ผมภาคภูมิใจมากที่..เราสามารถเอาชนะวิกฤตเศรษฐกิจของเอเชียมาได้ และเราก็ยังคงที่จะแสวงหาโอกาสในอนาคตเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป”