ก๊าซธรรมชาติกับโครงสร้างตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลง (3)

ก๊าซธรรมชาติกับโครงสร้างตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลง (3)

ในตอนนี้ผมก็จะมาพูดถึงเรื่องก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG กันต่อนะครับ ซึ่งก็เป็นตอนที่สามแล้ว

โดยที่ในทั้งสองตอนที่ผ่านมาผมก็ได้มีการพูดถึงเรื่องของสูตรราคาก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยที่มีการนำราคาก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง 3 แหล่งคือราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ราคาก๊าซธรรมชาตินำเข้าจากพม่า และราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก และแนวโน้มของการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวที่ดูแล้วว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งราคาของ LNG นี้ก็จะมากระทบต่อราคาเฉลี่ยก๊าซธรรมชาติโดยตรง

นอกจากนี้ ผมยังได้เกริ่นให้เห็นถึงแนวโน้มของตลาด LNG ของโลกที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก อันเป็นผลมาจากการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน (Shale Gas) เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งนักวิเคราะห์ในหลายสำนักต่างก็มองว่าการค้นพบดังกล่าวนั้นจะส่งผลต่อโครงสร้างตลาด LNG รวมไปถึงราคาของ LNG ในอนาคตด้วย

ในตอนนี้ ผมก็จะมาพูดถึงในส่วนที่มีการถกกันว่าแล้วการค้นพบ Shale Gas ที่มากมายนี้จะไปกระทบราคา LNG อย่างไร มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อราคา LNG ในตลาดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งเป็นราคาอิงกับราคาน้ำมันหรือ Oil-Indexation เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งปัจจุบัน ราคา LNG ที่ซื้อขายนั้นมีทั้งการซื้อแบบทันที (Spot) หรือเป็น การซื้อแบบมีสัญญาระยะสั้น (Short-term) และการซื้อแบบมีสัญญาระยะยาว (Long-term) และถึงแม้ว่าจะมีการซื้อขายแบบ Spot เพิ่มมากขึ้นในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาแต่ส่วนใหญ่นั้นก็ยังเป็นการซื้อขายแบบมีสัญญาระยะยาว


เมื่อมาดูที่ตลาดเอเชียแปซิฟิกซึ่งมีสัดส่วนการซื้อขาย LNG มากถึงร้อยละ 70 ของการซื้อขาย LNG ทั่วโลกและมีสูตรราคาซื้อขาย LNG ทั้งในระยะยาวและระยะสั้นที่ส่วนใหญ่มีการอ้างอิงสูตรราคา LNG ของประเทศญี่ปุ่นเป็นหลักนั้น การเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิต LNG ในทวีปอเมริกาเหนือนั้นก็ได้ถูกคาดการณ์ว่าจะส่งผลต่อการทำสัญญาซื้อขาย LNG ของภูมิภาคนี้ในอนาคตด้วย โดยมีการคาดการณ์กันว่าประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีการนำเข้า LNG สูงที่สุดในโลกนั้นจะมีการขอทบทวนสูตรราคา LNG ใหม่ โดยขอให้มีการเพิ่มสัดส่วนของราคา LNG จากสหรัฐฯที่อ้างอิงราคาก๊าซธรรมชาติ ณ จุดส่งมอบหรือ Henry Hub เข้ามาในสูตรราคาด้วย ซึ่งจะเป็นการลดสัดส่วนการอิงราคาน้ำมัน เนื่องทางญี่ปุ่นมองว่าตลาดก๊าซธรรมชาติและ LNG นั้นเป็นคนละตลาดกับราคาน้ำมันและไม่ควรที่จะไปผูกกับตลาดน้ำมัน

หากจะมองกันว่า แล้วราคา LNG จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นราคาที่คาดว่าจะคิดจากราคาก๊าซธรรมชาติ ณ จุดส่งมอบ เช่น ที่ Henry Hub นั้นจะลดลงไปมากแค่ไหน ก็จะต้องมาดูกันว่าแล้วเรามีต้นทุนอะไรอีกที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่เราเห็นว่าราคาก๊าซธรรมชาติที่ Henry Hub อยู่ที่ 3-4 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูแล้วจะทำให้ราคา LNG นั้นอยู่ที่ราคานี้ด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วราคาก๊าซ Henry Hub เองนั้นก็เคยขึ้นสูงสุดถึงระดับ 13.42 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูมาแล้วเมื่อเดือนตุลาคมปี 2548 ในความเป็นจริง ราคา LNG นั้นจะประกอบด้วยต้นทุนจากส่วนอื่นๆ อีก คือ ต้นทุนในการปรับสภาพก๊าซให้เป็นของเหลว (Liquefaction) ต้นทุนค่าขนส่ง (Shipping) และต้นทุนการปรับสภาพก๊าซจากของเหลวให้กลับมาเป็นไอ (Regasification) ซึ่งต้นทุนเหล่านี้จะต้องถูกนำมารวมด้วย โดยได้มีการประมาณกันว่าต้นทุน Liquefaction นั้นอยู่ที่ประมาณ 3 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู (BTU หรือ British Thermal Unit เป็นหน่วยวัดค่าพลังงานของอังกฤษ โดยคิดจากพลังงานความร้อนที่ทำให้น้ำ 1 ปอนด์ มีอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง 1 องศาฟาเรนไฮต์)

สำหรับค่าขนส่งก็ขึ้นอยู่กับระยะทางที่ใช้ในการขนส่ง LNG ซึ่งในเบื้องต้นก็มีการประเมินกันว่าการขนส่ง LNG จากสหรัฐฯมายังภูมิภาคเอเชียนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 3-4 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และก็สุดท้ายยังมีต้นทุน Regasification ซึ่งก็อยู่ที่ประมาณ 2-3 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งหากนำไปรวมกับราคาก๊าซที่ Henry Hub อีกรวมแล้วก็จะประมาณ 11-14 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งหากไปเปรียบเทียบกับราคา LNG ในตลาดซื้อขายทันที หรือ Spot Market ในปัจจุบันที่ประกาศโดย Platts ซึ่งก็อยู่ที่ประมาณ 15-16 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ก็จะเห็นว่าต่ำกว่าเล็กน้อยแต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับภาวะตลาด LNG ในช่วงนั้นๆ ด้วย ซึ่งราคา Spot ของ LNG เองก็เคยขึ้นสูงไปถึง 19.85 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ต้นทุน LNG ที่มาจาก Henry Hub ที่ผมกล่าวมานี้ยังไม่รวมค่าจองก๊าซธรรมชาติสำหรับนำมาผลิต LNG ค่าขนส่งทางท่อมายังโรงปรับสภาพก๊าซมาเป็นของเหลว ส่วนต่างกำไรที่คาดว่าจะต้องถูกบวกเข้าไปอีกซึ่งรวมแล้วน่าจะเพิ่มไปอีก 1-2 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู

จะเห็นได้ว่าราคา LNG ซึ่งถึงแม้เราจะนำเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งมีราคาก๊าซธรรมชาติ ณ จุดส่งมอบที่ค่อนข้างต่ำนั้น กว่าจะมาถึงประเทศไทยก็ยังมีราคาที่ค่อนข้างสูง ซึ่งทางกูรูพลังงานระดับโลกอย่าง Dr. Fereidun Fesharaki นั้นก็มองว่าราคา LNG นั้นจะไม่มีทางที่จะถูกได้ไม่ว่า LNG นั้นจะมาจากแหล่งไหนในโลกก็ตาม นอกจากนี้ Dr. Fesharaki ยังได้ชี้ว่าราคา LNG นั้นจะต้องอยู่ที่อย่างต่ำประมาณ 10-11 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูถึงจะทำให้โครงการ LNG เหล่านั้นคุ้มทุน ไม่ว่า LNG นั้นจะมาจากสหรัฐอเมริกาเอง แอฟริกา หรือออสเตรเลีย และไม่ว่า LNG นั้นจะผลิตมาจากแหล่งก๊าซตามรูปแบบ (Conventional) หรือแหล่งก๊าซนอกรูปแบบ (Unconventional) ด้วย

ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดก็ต้องการที่จะให้มองเห็นว่าการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยนั้นยังคงมีปริมาณที่สูงและจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต ซึ่งการเพิ่มขึ้นของปริมาณการใช้ส่วนใหญ่ก็มาจากภาคการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือแม้กระทั่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ไม่สามารถสร้างได้ตามแผนเนื่องจากโดนคัดค้านจากประเด็นผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นั้นก็เป็นการเร่งให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นด้วย ขณะที่ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศที่มีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็ว การนำเข้า LNG เพื่อมารองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การคำนึงถึงราคา LNG เพื่อประกอบการพิจารณาด้านนโยบายด้านพลังงานจึงเป็นสิ่งที่ต้องดูกันอย่างรอบคอบ เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนต่อไปได้