แรงงานเกษตรในประเทศไทย

แรงงานเกษตรในประเทศไทย

นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2500 ประเทศไทยได้มีการพัฒนาภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมุ่งการพัฒนาให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม

ที่ส่งผลให้ภาคการผลิตของไทยเปลี่ยนแปลงไป จากประเทศเกษตรกรรมพัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ทำให้มีความเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างแรงงานอย่างสำคัญ จากแรงงานที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมกว่าร้อยละ 60 ในช่วงก่อนทศวรรษที่ 2530 ปัจจุบันมีแรงงานภาคเกษตรกรรมเพียงร้อยละ 36 (ทศวรรษ 2550) โดยประมาณ ซึ่งสัมพันธ์กับการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องกว่าร้อยละ 10 ต่อปี (ในช่วงปี 2531-2533) ทำให้การจ้างงานในภาคนอกการเกษตรขยายตัวอย่างสูง

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม และภาคการผลิตอื่นๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราแรงงานที่ทำงานในภาคเกษตรกรรมลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี พ.ศ. 2516 - 2520 มีแรงงานในภาคเกษตรร้อยละ 67 ช่วงปี 2531 - 2535 มีแรงงานภาคเกษตรร้อยละ 60 และช่วงปี 2546 - 2549 มีแรงงานภาคเกษตรเหลือเพียงร้อยละ 42.2 ของแรงงานทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2553 แรงงานเกษตรมีสัดส่วนเหลือเพียงร้อยละ 37 (สมพร อิศวิลานนท์ : 2553)

สัดส่วนแรงงานในภาคเกษตรของไทยลดลงอย่างเห็นชัดเจนจากปี 2516 - 2520 ที่มีแรงงานภาคเกษตรสูงเกือบ 2 ใน 3 ของผู้มีงานทำทั้งหมด (ร้อยละ 67) เหลือเพียงร้อยละ 41.1 ในปี 2554 ในทางกลับกันแรงงานได้เข้าไปทำงานในภาคบริการ และภาคการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคบริการ (การขายส่ง การขายปลีก โรงแรมและภัตตาคาร การขนส่ง เป็นต้น) ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับผู้ทำงานภาคการเกษตรในปัจจุบัน โดยเพิ่มจากร้อยละ 23.0 ในปี 2533 เป็นร้อยละ 39.6 ในปี 2554 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2555)

เมื่อจำแนกตามอายุจะพบว่า ประชากรกลุ่มอายุ 15-24 ปี มีแนวโน้มที่จะทำงานภาคการเกษตรลดน้อยลงเหลือเพียง 1 ใน 3 ในช่วง 20 ปี คือ จากร้อยละ 35.3 ในปี 2530 เหลือเพียงร้อยละ 12.1 ในปี 2554 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2555)

ส่วนในกลุ่มอายุ 25-39 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงปี 2530-2540 และปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจนในปี 2554 เหลือผู้ทำงานในภาคการเกษตรร้อยละ 28.7 ขณะที่ในกลุ่มอายุ 40-59 ปี มีสัดส่วนคนทำงานในภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากร้อยละ 25.7 เป็นร้อยละ 46.3 ในปี 2530 และ 2554 ตามลำดับสำหรับผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว คือ จากร้อยละ 4.4 ในปี 2530 เป็นร้อยละ 12.8 ในปี 2554 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2555)

จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันแรงงานไทยได้ออกจากภาคเกษตรหันไปประกอบอาชีพด้านการผลิต โดยเพาะการบริการเป็นจำนวนมาก และทำงานด้านการเกษตรลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มหนุ่มสาว (อายุ 15-24 ปี) (สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2555)

นอกจากปัจจัยการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของโรงงาน หรือภาคการผลิตอื่นๆ แล้วปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้แรงงานในภาคเกษตรกรรมลดลง คือ ที่ทำกินตกอยู่ในมือของคนนอกภาคเกษตรกรรมมากขึ้น กล่าวคือ ประเทศไทยมีปัญหาการกระจายการถือครองที่ดิน ที่ดินทั้งประเทศมีจำนวนมากที่ถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ ที่ดินเหล่านี้เป็นของนายทุนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นผลมาจากการเก็งกำไรที่ดินตั้งแต่ทศวรรษที่ 2530 ช่วงที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นอย่างมาก เกษตรกรจำนวนมากเป็นเกษตรกรไร้ที่ดิน หรือไม่ก็ขาดทุนจนไม่สามารถอยู่ในภาคการผลิตทางการเกษตรได้ ทำให้ผันตนเองไปเป็นแรงงานในภาคการผลิตอื่น


รวมถึงการจ้างงานในภาคการเกษตรมีระยะเวลาสั้นเพียง 6 เดือน/ปี แต่การทำงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ มีการจ้างงานตลอดปี ทำให้มีรายได้อย่างต่อเนื่องทำให้เกษตรกรจำนวนมากหันไปเป็นแรงงานในภาคบริการ (นิพนธ์ พัวพงศกร และ ปัทมาวดี ซูซูกิ 2535) ทำให้สัดส่วนแรงงานไทยในภาคเกษตรกรรมลดลงอย่างมากตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 2530 (นิพนธ์ พัวพงศกร และ ปัทมาวดี ซูซูกิ 2535) และส่งผลให้การขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรกรรม และแรงงานต่างด้าวได้เข้ามาทดแทนแรงงานเหล่านี้ รวมถึงเป็นแรงงานราคาถูกในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง (พิมพ์ชนก บุลยเลิศ 2551) อุตสาหกรรมห้องเย็น และประมง (พวงเพชร์ ธนสิน 2554) ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ถือว่าเป็นแรงงานที่สร้างความเติบโตให้อุตสาหกรรมกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม แรงงานในภาคเกษตรกรรมนอกจากเป็นแรงงานที่ทำเกษตรกรรมแล้ว ยังพบว่าแรงงานเหล่านี้เป็นแรงงานรับจ้างในช่วงนอกฤดูกาล ไม่ได้เป็นแต่เกษตรกรในไร่นาอย่างเดียว พบว่าตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 2510 แล้วที่ครอบครัวของคนอีสานมีรายได้จากภาคนอกภาคเกษตรกรรมถึงร้อยละ 48 แต่พอมาถึงปลายทศวรรษที่ 2520 รายได้นอกภาคเกษตรเพิ่มเป็นร้อยละ 69 การพึ่งพารายได้จากภาคการผลิตอื่นๆ ไปพร้อมกันด้วย ทำให้แรงงานในภาคเกษตรกรรมคุ้นเคยกับอาชีพภาคนอกเกษตรกรรมอื่นๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ และพบว่าภาคบริการและอุตสาหกรรม สามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งแตกต่างจากอาชีพเกษตรกรรมที่มีระยะเวลาทำงานเพียง 6 เดือน รวมถึงรายได้ที่ไม่ต่อเนื่องขึ้นอยู่กับกลไกตลาด และสภาพภูมิอากาศ ทำให้แรงงานในภาคเกษตรกรรมผันตัวเองไปเป็นแรงงานในภาคนอกเกษตรกรรมจำนวนมาก (นิพนธ์ พัวพงศกร และ ปัทมาวดี ซูซูกิ 2535)

น่าตกใจว่าหากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ต่อไปในอนาคต แรงงานในภาคเกษตรของเราจะอยู่ในขั้นวิกฤติ และแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พึ่งพาแรงงานต่างชาติ หรือไม่ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคน ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับเกษตรกรรายย่อย ซึ่งต้องผันตัวเองมาเป็นแรงงานรับจ้างในภาคต่างๆ หรือไม่ถ้าจะทำเกษตรกรรม ก็ต้องเป็นเกษตรทางเลือก เช่น เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร ฯลฯ

หากสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไปคาดว่าในอนาคตประเทศไทยซึ่ง (นับตัวเอง) เป็นประเทศเกษตรกรรมจะคงความเป็น “ครัวโลก” อาจจะต้องหันไปพึ่งพาเครื่องจักรและแรงงานข้ามชาติเพิ่มมากขึ้น เพื่อทดแทนแรงงานไทยในภาคเกษตรที่ขาดหายไปแล้วเรายังจะ (อยาก) เป็นครัวโลกอีกไหมครับ

-------------------------------
โครงการ “ชีวิตพลัดถิ่นกับการเป็นแรงงานข้ามรัฐ : กรณีศึกษาการเคลื่อนย้ายแรงงาน “สัญชาติพม่า” และ “สัญชาติลาว” ในประเทศไทย” สนับสนุนโดย แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่