Immersive entertainment

Immersive entertainment

ยุคปัจจุบัน เราได้เห็นสื่อต่างๆ มากมายที่พยายามทำให้ผู้บริโภค มีส่วนร่วม และ engage กับไอเดีย ยิ่งในปัจจุบัน เทคโนโลยีต่างๆ

ทำให้เรามีโอกาสได้เพิ่มการรับรู้และการเสพสื่อดังกล่าวในหลากหลายมิติมากขึ้น แต่มีสื่อบันเทิงบางอย่างที่เราไม่ค่อยได้เห็นวิวัฒนาการในเรื่องนี้มากนักนั่นก็คือ ละครเวที และภาพยนตร์จอใหญ่

ถ้าพูดถึงละครเวทีท่านผู้อ่านก็คงนึกถึง Broadway ละครเพลง กับการนั่งชมแบบเงียบๆ อย่างมีมารยาท พอช่วงพักครึ่งก็จะออกไปทานของว่างหรือเข้าห้องน้ำ โดยเฉพาะถ้าเป็นละครของ Broadway หรือย่าน West Ends ยิ่งทำให้นึกถึงบรรยากาศที่บางคนเรียกกันว่า entertainment sleeping pills กันเลยทีเดียว

โดยละครเหล่านี้มักจะเป็นละครที่มีค่า production ค่อนข้างสูง สวนทางกับระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาที่อุตสาหกรรมนี้ ทำกำไรจากการแสดงได้น้อยนิด เพราะส่วนมากผู้ชมเป็นนักท่องเที่ยว ต้องทำดีลดึงคนเข้าชม ประกอบกับค่าจ้างนักแสดงและค่าทำฉากแบบเลิศหรูก็แพงขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีผู้ผลิตละครบางเรื่องที่มีหัวสมัยใหม่ ริเริ่มที่จะลองหาแนวทางใหม่ๆ มาใส่ให้กับการแสดงนี้และทำได้อย่างน่าสนใจทีเดียวครับ

นั่นคือการจัด setting ของการชมละครเสียใหม่ด้วยการจัดที่นั่งให้ผู้ชมได้มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดนักแสดงและ action ที่เกิดขึ้น ผมไม่ได้พูดถึงที่นั่งหน้าเวทีนะครับ แต่บริเวณที่นั่งคนดูคือเวทีไปในตัว

นอกจากนี้ ตัวแสดงในเรื่องยังสามารถเชื่อมต่อกับคนดูได้ เช่น นางยั่วตัวร้ายสามารถบรรจงจุมพิตลงบนกระดาษและยื่นให้คนดู ในขณะที่อีกฉากหนึ่งคนดูถูกชักชวนให้ลุกขึ้นมาร่วมเต้นเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงด้วย โดยผู้จัดการแสดงในรูปแบบนี้ไม่จำเป็นต้องเสียค่าเช่าโรงละครชั้นนำในระยะยาว แต่อาจไปหาโลเคชันที่ถูกๆ และเก๋ๆ แปลกๆ เพื่อให้เข้ากับเนื้อเรื่อง และเชื่อไหมครับว่าค่าตั๋วเข้าชมบางเรื่องแพงกว่าตั๋วชมละคร Broadway เสียอีก

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผู้ร่วมเข้าชมจะเปลี่ยนมุมมองของการมีส่วนร่วมกับอุตสาหกรรมละครเวทีใหม่ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจประสบการณ์เช่นนี้มองว่าการออกไปดูละครดังกล่าวกับเพื่อนๆ ไม่ใช่สิ่งที่น่าเบื่อแต่คือการออกไปเที่ยว สังสรรค์ ไม่ต่างอะไรไปกับการเที่ยวคลับ ซึ่งก็ถือว่าเปิดโอกาสในการดึงดูดกลุ่มคนใหม่ๆ ให้สนใจศิลปะการแสดงมากขึ้นด้วย

หรืออย่างผู้จัดการฉายภาพยนตร์ (ที่ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่าเป็นโรงภาพยนตร์ได้หรือไม่) ที่มีชื่อว่า Secret Cinema ก็นำเอาแนวคิดเช่นนี้มาประยุกต์กับการจัดรอบฉายภาพยนตร์เช่นกัน โดยเขาบอกว่าประสบการณ์ที่จะได้จากการดูภาพยนตร์ของเขา ไม่ใช่แค่ตัวเนื้อหาของหนังแค่ชั่วโมงกว่าๆ แต่คือแรกเริ่มตั้งแต่การลงทะเบียนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของผู้ชมในรอบนั้นๆ โดยที่ทำได้น่าสนใจและสุดโต่งกับแฟนๆ ของ Secret Cinema ก็คือเขาจะไม่บอกว่าจะฉายหนังเรื่องอะไร แต่ให้มาสัมผัสประสบการณ์ด้วยตัวเอง

อย่างเมื่อครั้งที่เขาจัดฉายภาพยนตร์คนคุกเรื่อง The Shawshank Redemption เขาก็เริ่มด้วยการให้ลงทะเบียนผ่านออนไลน์ นัดเจอที่จุดนัดพบ โดยจัดรถมารับเป็นรถนักโทษเหมือนในภาพยนตร์ และจัดการกับผู้ชมเสมือนกับเป็นนักโทษที่กำลังเดินทางไปเข้าเรือนจำ ไล่ตั้งแต่ยึดของมีค่าทั้งหมด เข้าแถวเรียงชาย หญิง จับเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นนักโทษ และเดินทางไปยังสถานที่ที่เค้าจำลองให้เป็นเรือนจำ

โดยมีนักแสดงอีกหลายร้อยคนเล่นบทบาทนักโทษที่ประจำอยู่ในเรือนจำนี้คอยต้อนรับแบบน่ากลัวนิดๆ จากนั้นทุกคนก็จะถูกแยกกลุ่มและผ่านสถานีต่างๆ ที่ทำให้ผู้ชมได้รู้สึกถึงความน่ากลัวและสภาพจริงๆ ของเรือนจำให้มากที่สุด ก่อนที่ทุกคนมาจบที่ห้องใหญ่ที่ฉายภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว

ผลตอบรับคือผู้ชมส่วนมากติดใจและคอยติดตาม Secret Cinema ว่าจะมีการจัดฉายภาพยนตร์เรื่องใดในสถานที่ไหนต่อไป ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากเพราะเขาสามารถทำให้คนหลายพันหลายหมื่นคนยอมเสียเงินกว่า 50 ปอนด์ในการมีส่วนร่วมกับภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง ในขณะที่ยอดผู้เข้าชมภาพยนตร์ในโรง Cineplex ก็ลดลงเรื่อยๆ

หรืออีกตัวอย่างยืนยันความสำเร็จก็คือการได้รับการรับรองจากค่ายภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ให้จัดรอบฉายภาพยนตร์ระดับ blockbuster อย่าง Prometheus เมื่อปีที่แล้วพร้อมๆ กับการ release แบบ mainstream ในประเทศอังกฤษ โดยมีคนเข้าชมกว่า 25,000 คนจาก 38 สถานที่จัดฉายทั่วประเทศภายในวันเดียว พร้อมทั้งได้วงดังอย่าง Radiohead มาช่วยทำเพลง theme ให้กับการฉายในครั้งนี้ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น โมเดลของทั้งสองตัวอย่างที่ผมยกมาก็สามารถแตกยอดในการเพิ่มรายได้ของแต่ละรอบการแสดงได้ไม่ยากเลย ด้วยการหาสปอนเซอร์ หรือการขาย F&B โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ ที่สามารถคิดราคาได้เช่นเดียวกับตามบาร์และผับต่างๆ ทีเดียว ซึ่งเทียบแล้วรายได้ในส่วนนี้นับว่าแซงหน้าการจัดแสดงแบบธรรมดาที่บางครั้งไม่สามารถทำอะไรฉีกๆ แบบนี้ได้เสียด้วยซ้ำ

นี่คือสองตัวอย่างที่ผมคิดว่าเป็นการเชื่อมโยงพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่ต้องการการมีส่วนร่วม และ สัมผัสประสบการณ์จริง เข้ากับอุตสาหกรรมบันเทิงที่มีมานานรับร้อยปีได้อย่างน่าสนใจมากทีเดียวครับ