สร้างระบบเศรษฐกิจใหม่โดยใช้ภูมิปัญญาธรรมชาติ

สร้างระบบเศรษฐกิจใหม่โดยใช้ภูมิปัญญาธรรมชาติ

ธรรมชาตินั้นมีระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวมมาก มนุษย์เราน่าจะนำหลักการทำงานของระบบธรรมชาติมาประยุกต์สร้างระบบเศรษฐกิจใหม่

ที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและยั่งยืน ได้มากกว่าระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เราใช้กันอยู่

1. การควบคุมตนเอง (Self-Regulation)

สิ่งมีชีวิตและตัวระบบนิเวศทั้งหมด มีระบบการควบคุมดูแลตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความสมดุลอยู่เสมอ ถ้าเราจะเลียนแบบธรรมชาติ มนุษย์เราควรสร้างระบบบริหารตนเองได้อย่างเป็นประชาธิปไตย (Democratic Self Governing) ทั้งในระดับที่ทำงาน ชุมชน ประเทศ ภูมิภาคและโลก เพื่อที่การตัดสินใจที่สำคัญทางเศรษฐกิจการเมืองของสังคมจะอยู่ในมือผู้ที่ได้รับมอบหมายอำนาจอย่างฉลาด เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

เกษตรกร คนงาน พนักงาน ประชาชนทั่วไป ควรได้รับการศึกษาและข้อมูลข่าวสารที่ดีและได้เป็นผู้ควบคุมการทำงานของพวกเขาเอง ในรูปสหกรณ์ สภาคนงาน บริษัทมหาชนที่พนักงานเป็นผู้ถือหุ้นและผู้บริหาร สภาชุมชน ฯลฯ มีการจัดระบบคัดเลือกคนที่เหมาะสมขึ้นไปทำหน้าที่บริหารในทุกระดับของสังคม และมีระบบตรวจสอบการทำงานรวมทั้งระบบถอดถอนฝ่ายบริหารที่ทำงานอย่างสม่ำเสมอ การตัดสินใจในเรื่องการทำกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน เป็นไปเพื่อสนองความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นของมนุษย์ และการพัฒนาศักยภาพของพวกเขาแต่ละคนอย่างทั่วถึงเป็นธรรม ในขณะเดียวกันก็เพื่อสร้างสรรค์ใหม่ระบบนิเวศที่เข้มแข็ง มีสุขภาพที่ดี สำหรับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตร่วมโลกอื่นๆ

2. ความหลากหลาย (Diversity)

ความหลากหลายทางชีวภาพของธรรมชาติช่วยสร้างความมั่งคั่ง ความเข้มแข็ง การฟื้นตัวกลับสู่สภาพเดิม หลังจากการผ่านการแทรกแซงรบกวน ให้กับระบบนิเวศ ได้อย่างดีมาก ความหลากหลายทางด้านการบริหารจัดการสังคมมนุษย์ก็จะให้ประโยชน์ในทำนองเดียวกัน ดังนั้นเราควรส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมทั้งความรู้และความเชื่อของชนกลุ่มต่างๆ โดยต่างกลุ่มต่างเคารพกันและกัน ความหลากหลายของโอกาสทางการศึกษา การรับรู้ข้อมูลข่าว การพัฒนาทางด้านศิลปวัฒนธรรม การพักผ่อนหย่อนใจ กิจกรรมการเรียนรู้ และการสร้างสรรค์ต่างๆ เพื่อให้สังคมมั่งคั่งเข้มแข็ง เวลาเกิดปัญหาสังคมก็สามารถฟื้นกลับสู่สภาพที่ดีได้ง่าย

เราควรส่งเสริมการกระจายบริหารจัดการทรัพยากร งบประมาณ กิจกรรมสาธารณะต่างๆ สู่ชุมชนต่างๆ อย่างเป็นอิสระและยืดหยุ่น มีความแตกต่างหลากหลายได้ ตราบเท่าที่ไม่ขัดแย้งกับเป้าหมายใหญ่ร่วมกันของประเทศ เช่น การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธี มีเหตุผล เสมอภาคเป็นธรรม ฯลฯ ส่งเสริมการอภิปราย การเสนอความคิดเห็น โครงงาน สิ่งประดิษฐ์ ฯลฯ จากความคิด สติปัญญา ของคนในสังคมอย่างหลากหลาย

รื้อฟื้นการเกษตรที่สอดคล้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การทำการเกษตรโดยเกษตรกรขนาดเล็กที่ใช้วัวควายแทนเครื่องจักร เกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หลายอย่างร่วมกัน แบบพึ่งพาอาศัยกัน รวมทั้งพืชตระกูลถั่วที่ใช้ซากหรือฟางรวมทั้งมูลสัตว์ ขยะอินทรีย์เป็นปุ๋ยธรรมชาติ เกษตรแบบธรรมชาติโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์และสารกำจัดศัตรูพืชแบบธรรมชาติแทนปุ๋ยและสารเคมี ลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรและพลังงานในการผลิตและทำลายธรรมชาติลงได้มาก ช่วยให้ดินดีดูดซับอุ้มน้ำได้ง่าย ทำให้การเกษตรได้ประโยชน์จากน้ำและทุนทางธรรมชาติอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ความหลากหลายทั้งทางชีวภาพและทางสังคมวัฒนธรรมจะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งและความมั่นคงให้กับชุมชน และทำให้สมาชิกชุมชนได้พัฒนาในเชิงคุณภาพ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและระบบนิเวศ

3. การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social Metabolism) เพื่อระบบนิเวศที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน

สิ่งมีชีวิตนั้นพึ่งพากระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเคมี (Metabolism) เช่น การหายใจ การกินและขับถ่าย ฯลฯ ทั้งโดยตัวเอง และโดยความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่ช่วยให้ชีวิตทั้งหมดในระบบนิเวศดำรงอยู่ได้อย่างเป็นวงจรที่ยั่งยืน (ของเสียจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งถูกสิ่งมีชีวิตอื่นใช้ประโยชน์ได้หมด)

เราควรใช้หลักการของธรรมชาตินี้มาประยุกต์ใช้สร้างกระบวนการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social Metabolism) ของสังคมมนุษย์ที่จะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนมากกว่ากระบวนการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ที่เน้นการควบคุมต้นทุนแรงงานและทรัพยากรพลังงาน เพื่อผลิตสินค้าและบริการไปขายให้ได้กำไรสูงสุด สำหรับเอกชนผู้ผลิตและผู้ขาย ซึ่งเป็นเรื่องตรงกันข้ามกับประสิทธิภาพและประโยชน์เพื่อส่วนรวม

การจะสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ที่จะช่วยพัฒนาให้อารยธรรมมนุษย์อยู่ได้อย่างยั่งยืน คือ มนุษย์จะต้องพัฒนาวิถีชีวิตในการทำงานและกิจกรรมแบบร่วมมือกับมนุษย์คนอื่น แทนการแข่งขันแบบมุ่งประโยชน์ส่วนตัวของปัจเจกชน มนุษย์ต้องร่วมมือกันในการหาทางอยู่ร่วมกับธรรมชาติ แทนความพยายามที่จะเอาชนะและครอบงำธรรมชาติ หากมนุษย์ร่วมมือกันทำงานเพื่อผลิตผลผลิตและบริการที่จำเป็นและแข่งขันกันอย่างทั่วถึงยุติธรรม มนุษย์จะประหยัดทรัพยากรและพลังงานซึ่งช่วยลดการทำลายสิ่งแวดล้อมได้ จะประหยัดเวลาในการทำงานที่จำเป็นในการผลิตปัจจัยยังชีพลงมาได้ และมีเวลาที่จะทำสิ่งที่ตนเองชอบและใช้ชีวิตกับครอบครัว ชุมชนซึ่งทำให้ชีวิตมีคุณภาพมากขึ้น

การสร้างวัฒนธรรมแบบร่วมมือกันทำงานเพื่อประโยชน์ของชุมชน/ส่วนรวม การออกแบบใหม่ที่คำนึงถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ ทั้งในการเกษตร การก่อสร้าง อุตสาหกรรมการขนส่ง การใช้พลังงาน และกิจกรรมอื่นๆ แทนการเน้นเรื่องปัจเจกชนนิยม,ลัทธิบริโภคนิยมและการแข่งขันผลิตสินค้าหากำไรแบบตัวใครตัวมัน จะสร้างชุมชนที่สามัคคีอบอุ่น ลดความขัดแย้งระแวง และการเอาเปรียบ และทำให้ชุมชน/สังคม สามารถสนองตอบความต้องการที่จำเป็นทั้งในด้านกายภาพ วัฒนธรรมและการพักผ่อนหย่อนใจของทุกคนได้ดีขึ้น

4. การพึ่งตนเองได้อย่างพอเพียง (Self Sufficiency)

สิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศพึ่งตนเองตามธรรมชาติได้อย่างพอเพียงเป็นส่วนใหญ่ ชุมชนมนุษย์ในยุคก่อนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมก็พึ่งตนเองในเรื่อง อาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย พลังงานและอื่นๆ ได้เป็นส่วนใหญ่ การปฏิรูปชุมชนสมัยใหม่ ให้หันกลับมาพึ่งตนเอง (ในระดับชุมชน) ได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งการจัดตั้งหน่วยผลิตพลังงานทางเลือก เช่นพลังแสงอาทิตย์ พลังลม พลังน้ำ ความร้อนใต้โลก ฯลฯ ขนาดเล็กภายในชุมชน แทนการพึ่งพลังงานที่ส่งมาทางไกลจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ การทำเกษตรแบบธรรมชาติที่ผลิตและขายกันในชุมชนหรือชุมชนใกล้เคียง การพึ่งบริการสหกรณ์ออมทรัพย์, เครดิตยูเนียนชุมชน แทนการพึ่งพาระบบธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งหมดนี้ จะช่วยให้มนุษย์สนองความต้องการทางเศรษฐกิจสังคมและทางสิ่งแวดล้อม ได้ดีกว่าระบบเศรษฐกิจแบบที่ชุมชนต้องพึ่งพาทุนและสินค้าบริการจากนายทุนภายนอกมากเกินไปอย่างในปัจจุบัน

(อ่าน วิทยากร เชียงกูล. เศรษฐศาสตร์แนวใหม่ เพื่อชีวิตและระบบนิเวศที่สันติสุข. กรุงเทพธุรกิจ, 2556)