จะจัดการกับโลกร้อนให้ลูกหลานอย่างไร…

จะจัดการกับโลกร้อนให้ลูกหลานอย่างไร…

เมื่อคิดถึงว่าคนไทยรุ่นลูกรุ่นหลานจะดำเนินชีวิตอย่างไรท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) ที่อุบัติถี่ขึ้น

และรุนแรงขึ้นทั่วโลกในวันนี้ คงคาดการณ์ได้ว่าคนของเราในอนาคตจะต้องเผชิญกับอุบัติการณ์และอุบัติภัยเหล่านี้มากกว่าปัจจุบันหลายเท่าตัวนัก สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือต้นเหตุมาจากมนุษย์เราเอง จากความต้องการของทุกประเทศในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จากความต้องการใช้พลังงานโดยเฉพาะไฟฟ้าและน้ำมันที่เคยชินจนขาดไม่ได้ เป็นบ่อเกิดสำคัญของมลพิษ เช่น คาร์บอน ซัลเฟอร์ ฝุ่นผง ที่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศ ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) ในเมื่อฝนฟ้าอากาศไม่สามารถระบายถ่ายเทไปมาจากผิวดินและผิวฟ้าได้โดยสะดวกเหมือนเมื่อก่อน

คำถามที่พึงตั้งคือ เราจะส่งมอบโลกในอนาคตแบบไหนให้กับลูกหลานโดยไม่ต้องสูญเสียชีวิต ทรัพย์สินและคุณภาพชีวิต ในเมื่อการแก้ปัญหาใหญ่ระดับโลกแบบนี้แน่นอนว่าจะต้องใช้เวลายาวนาน มีความต่อเนื่อง และต้องร่วมมือกันทั้งประเทศ แม้กระทั่งทั้งโลก เฉพาะประเทศไทยของเรา จะทำอย่างไรกับมลพิษจากโรงไฟฟ้า มีทางใดจะพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สังคมพร้อมจะลดการใช้พลังงานที่เกินความจำเป็นและใช้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ หรือเราจะลงทุนสร้างคนสร้างความรู้ใหม่ๆ ที่จะช่วยแก้ปัญหาระยะยาวนี้ได้อย่างเป็นระบบ คำตอบเหล่านี้ต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ เพราะหลายเรื่องที่พันกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงาน สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี การพัฒนาชุมชน ไปจนถึงการเจรจาโลกร้อนระหว่างประเทศ ซึ่งแม้จะเป็นความเป็นความตายของมนุษยชาติ แต่ก็ยังมีกลิ่นอายของการช่วงชิงผลประโยชน์ควบคู่ไปกับการลดภาวะโลกร้อน

สัญญาณของความตระหนกต่อความถี่และความรุนแรงผิดปกติของภัยธรรมชาติเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับโลกและในระดับประเทศ หลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหภาพยุโรปมีการประกาศนโยบายรัฐบาลระยะยาวอย่างชัดเจนที่จะลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและหันมาสร้างสังคมที่ใช้พลังงานธรรมชาตินำโดยพลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมแทน รวมทั้งการยอมรับสภาพและหันมาเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวัน ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เราจะเห็นฟาร์มกังหันลมทั้งบนบกและชายฝั่งที่ผลิตไฟฟ้าจำนวนมาก ในเมืองใหญ่ประชาชนขี่จักรยานแทนการขับรถยนต์ เพราะหลายประเทศตระหนักแล้วว่าการป้องกันภัยธรรมชาติต้องใช้งบประมาณมหาศาลและป้องกันได้เป็นจุดๆ เท่านั้น ลองศึกษาดูสิครับโครงการระดับโลกอย่างประตูน้ำขนาดยักษ์ที่เรียกว่า Maeslantkering กั้นเมืองรอตเตอร์ดัมและทะเลเหนือเมื่อใดก็ตามที่เกิดพายุคลื่นยักษ์ (Storm Surge) โถมเข้ามา หรือโครงการ MOSE ในอิตาลีที่วางแผ่นคอนกรีตขนาดยักษ์จำนวนมากไว้ใต้ทะเล ยามใดน้ำทะเลขึ้นสูง ก็สามารถกดปุ่มขยับแท่งคอนกรีตยักษ์กั้นเมืองเวนิซกับทะเลอะเดรียติกขึ้นมาพร้อมๆ กัน นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางวิศวกรรมของมนุษย์ที่เหลือเชื่อก็ว่าได้

ล่าสุด เมื่อสองสามวันที่ผ่านมานี่เอง ประธานาธิบดีโอบามาก็ใช้เวทีปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยยอร์จทาวน์ในเมืองหลวง ประกาศนโยบาย Climate Change ที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบและอาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ให้กับอนุชนรุ่นต่อๆ ไป โดยดูเหมือนจะใช้โอกาส 3 ปีเศษในตำแหน่งประธานาธิบดีที่เหลืออยู่ โดยไม่ต้องกังวลกับการรักษาฐานเสียงเพราะต่ออีกสมัยหนึ่งไม่ได้แล้ว

สี่มาตรการสำคัญของโอบามาผูกไว้กับการสร้างโอกาสให้กับภาคธุรกิจ นวัตกรรม และการจ้างงานที่จะเกิดขึ้น นอกเหนือจากการรักษาสมดุลของสภาพแวดล้อม เป็นการคิดนโยบายบนพื้นฐานของประเทศกับความต้องการของประชาชน พร้อมกับการร้องขอให้ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้าน กลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มต่อต้านในรูปแบบต่างๆ วิธีคิดคือการพัฒนาทางเศรษฐกิจจะต้องเดินไปด้วยกันกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งแน่นอนว่าไทยเราก็สามารถคิดได้เหมือนกันแต่ต้องปฏิบัติให้ได้ แถมเรายังมีแต้มต่อที่ก้าวหน้ากว่าตรงที่มีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักสำคัญที่ประเทศอื่นไม่มีอีกด้วย

โอบามายอมรับว่าร้อยละ 40 ของมลพิษปล่อยมาจากโรงไฟฟ้า ที่น่าแปลกคืออเมริกาเองก็ไม่มีกฎหมายจำกัดการปล่อยคาร์บอนจากโรงไฟฟ้า ที่สำคัญคือนโยบายพลังงานของโอบามาจะเน้นใช้ก๊าซธรรมชาติแทนเชื้อเพลิงอื่นที่มีมลพิษมากกว่า เหตุผลสำคัญเพราะมีการค้นพบแหล่งหินดินดาน (Shale) ขนาดใหญ่กระจายอยู่ในหลายมลรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งตะวันออก ภาคกลางและใต้ หินดินดานเหล่านี้มีส่วนประกอบของก๊าซจำนวนมาก

การได้มาซึ่งก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน (Shale Gas) ใต้พิภพไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ แต่อาศัยศักยภาพทางเทคโนโลยีของสหรัฐที่เรียกว่า Hydraulic Fracturing และ Horizontal Drilling จึงสามารถนำก๊าซขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ คร่าวๆ คือเทคโนโลยี Hydraulic Fracturing เป็นการฉีดน้ำพร้อมทรายและสารประกอบอื่นด้วยแรงดันสูงหลังจากใช้เครื่องเจาะลงไปในชั้นดินเริ่มจากแนวลึกและเลี้ยวไปในแนวนอนพร้อมทั้งอัดคอนกรีตล้อมรูเจาะไว้เพื่อป้องกันการรั่วซึม ในระดับแนวนอนนี่เองที่ฉีดสเปรย์ของเหลวออกมา ทำให้ดินหินบริเวณนั้นแตกตัวเหมือนกิ่งไม้เล็กๆ เต็มไปหมด ก่อนที่จะคายก๊าซออกมา

แม้รัฐบาลยังจะต้องดูแลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากเทคนิคนี้ แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐบอกกับผมว่า เชื่อว่าผลจากการค้นพบก๊าซธรรมชาติจากหินดินดานนี้ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐกระเตื้องขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และนับวันภูมิศาสตร์การเมืองเรื่องพลังงานของโลกจะเปลี่ยนโฉมไปจากการแย่งชิงน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียที่ดำเนินมาหลายทศวรรษ ในนามของความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security)

บทความหน้าผมจะเล่าต่ออีกสามมาตรการที่เหลือ ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกันครับ