เงินปัจจุบัน เงินอนาคต คิดก่อนใช้ ใช้ก่อนคิด

เงินปัจจุบัน เงินอนาคต คิดก่อนใช้ ใช้ก่อนคิด

เมื่อไม่นานมานี้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง

และมีเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนมากกว่าเดิม ทั้งเงินบาท เงินเยน เงินอินโดนีเซียรูเปี๊ยะห์ ซึ่งความผันผวนนี้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งแข็งค่าอย่างรวดเร็ว และอ่อนค่าอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนที่เร็วนี้ สะท้อนถึงภาวะทางจิตวิทยาของตลาด ซึ่งมีคนที่เกี่ยวข้องหลายๆ คนว่าเปราะบางและอ่อนไหวต่อข่าว และผลของการดำเนินการเรื่องต่างๆ อยู่มาก
ค่าเงินจากนี้ไปถึงสิ้นปีนั้น โอกาสที่จะอยู่นิ่งๆ ไม่เปลี่ยนแปลงค่าไป ไม่ว่าจะเป็นเงินบาทต่อดอลลาร์ เงินเยนต่อดอลลาร์ หรือเงินสกุลต่างๆ โดยเฉพาะในตลาดอาเซียนต่อดอลลาร์นั้นคงไม่นิ่ง และคงมีการเปลี่ยนแปลงที่ผันผวน (คือ แข็งค่า หรืออ่อนค่า เป็นปริมาณที่มากขึ้นๆ ลงๆ เพราะหลายปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนในตัวเอง) ขอให้ลองมองเข้ามาใกล้ตัวอีกนิด จากการเปลี่ยนแปลงของภาวะทางเศรษฐกิจหลายด้านช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ภาวะทางเศรษฐกิจของไทยนั้น มีภาวะดูเหมือนจะดีขึ้น คนไทยกล้าใช้จ่ายมากขึ้น มีการซื้อสินค้ามากขึ้น โดยปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการบริโภคที่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นในทุกภาคส่วน น่าจะเกิดจากปัจจัย อาทิ ราคาสินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น (ทั้งเป็นราคาที่ตลาดโลกต้องการบริโภคสูงขึ้น เพราะภาวะโลกร้อนในบางประเทศซึ่งทำให้ผลผลิตทางการเกษตรนั้นไม่ได้ผลในประเทศนั้นๆ และการเพิ่มขึ้นของราคาที่ได้รับการสนับสนุนจากทางการ อาทิ ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง ข้าว ยาง เป็นต้น)
การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นทุกภาคส่วน ทั้งการผลิต และการบริการ การลงทุนของคนไทยไปประเทศเพื่อนบ้าน และการท่องเที่ยวที่มีคนจากต่างแดนมาเที่ยวประเทศไทยในแต่ละภาคมากขึ้น (ได้มีโอกาสดูหนังจีนเรื่อง Lost in Thailand ซึ่งดูแล้วทำให้คนจีนและรวมถึงผมเองว่าประเทศไทยมีหลายที่น่าเที่ยว)
การเพิ่มขึ้นของการบริโภคนั้นเป็นความท้าทายในปีนี้ และในอนาคต คือ การเพิ่มขึ้นของความสามารถในการซื้อและบริโภคนั้นจะยังเหมือนเดิมหรือเปล่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เริ่มมีการปรับราคาลดลงในปีที่ผ่านมา รวมถึงปีนี้ จะเป็นผลให้เกิดปัญหาเรื่องการชำระหนี้ หรือ ปัญหาในการบริโภคที่ลดลงหรือไม่ ซึ่งในปีนี้อัตราการเพิ่มขึ้นของยอดส่งออกคาดการณ์ ณ สิ้นปีนี้ ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก อาจจะเพิ่มขึ้นน้อยมาก หรือไม่เพิ่มขึ้นเลยก็ได้ ซึ่งธุรกิจก็จะอยู่ในสภาพพยุงตัวให้อยู่รอด และพยายามทำธุรกิจให้ยังมีกำไรอยู่ แต่อาจไม่มากเท่ากับสองปีที่ผ่านมา
สิ่งหนึ่งที่เราอาจจะต้องระมัดระวังมากขึ้น ในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่ง ซึ่งหากเริ่มสังเกตจากการไปซื้อสินค้าตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า หรืองานแสดงสินค้าต่างๆ มีการชักจูงให้ซื้อสินค้าในรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดราคา (ดีครับ ทุกคนชอบซื้อสินค้าที่ลดราคา ซึ่งบางครั้งในปัจจุบันไม่ใช่แต่ในไทย หากไม่มีการลดราคาสินค้า ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อสินค้าก็จะซื้อสินค้าลดน้อยลง และรอให้ถึงระยะเวลาที่มีเทศกาลลดราคาสินค้า ซึ่งอาจจะเป็นทุกเดือน ทุกไตรมาส หรือทุกครึ่งปีก็ได้ ซึ่งเราสังเกตเห็นได้ในหลายประเทศรวมถึง ไทย และจีนด้วย)
นอกจากนี้ก็มีการกระตุ้นการซื้อสินค้าโดยเป็นการผ่อนสินค้าเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก ชิ้นใหญ่ ตู้เย็น ไมโครเวฟ โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ 0% เป็นระยะเวลา 3-12 เดือน ซึ่งคนซื้อก็จะเอาจำนวนเดือนหารกับราคาสินค้า และคิดว่าตนเองสามารถชำระค่าผ่อนในแต่ละเดือนได้หรือไม่ ถ้าได้ก็จะซื้อ ซึ่งหากในอดีตที่ไม่ได้มีการกระตุ้นผ่านการซื้อสินค้าโดยวิธีดังกล่าว ผู้ซื้อก็จะต้องเก็บเงินเอาไว้ก่อน และเมื่อเก็บครบเมื่อไหร่จึงค่อยซื้อสินค้า
การนำเงินในอนาคตที่ยังไม่ได้รับ แต่คาดการณ์ว่าตนเองจะสามารถหารายได้มา เพื่อใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น ในอดีตจะมีการใช้เงินในอนาคตเพื่อซื้อของหลักๆ 2 อย่าง คือ บ้านหรือที่อยู่อาศัยและรถซึ่งเป็นพาหนะในการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งการชำระคืนก็จะเป็นระยะเวลาที่นานสำหรับบ้าน และระยะสั้น 1-3 ปี สำหรับรถ (แต่ด้วยอาจแต่ละบุคคลมีภาระที่มีระยะเวลายาว และปริมาณมากขึ้นเรื่อย ระยะเวลาการชำระคืนของหนี้ที่เกิดจากสินทรัพย์อื่น ๆ ก็จะมีระยะเวลาที่ยาวขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ในปัจจุบัน รถยนต์มีระยะเวลาชำระคืนถึง 72 เดือน หรือ 6 ปี ซึ่งมากกว่าสมัยก่อนมาก) การเพิ่มขึ้นของการเอาเงินในอนาคตมาใช้มากขึ้น สำหรับผู้ใช้เงินในอนาคตคงต้องคำนึงถึงเรื่องต่างๆ หลายด้าน ลองมาคิดด้วยกันดูนะครับ
เงินในอนาคตที่เราเอาไปใช้นี้นั้นเอาไปเพื่อทำอะไร คือ สินค้าที่เราเอาไปซื้อหามานี้คงจำแนกเป็นเรื่องหลักๆ ได้ 2 เรื่อง คือ เอามาบริโภคเอง และอีกเรื่องคือเอามาเพื่อก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม หรือ รายได้ใหม่ ซึ่งหากเอามาบริโภคเอง และบริโภคไปเรื่อย ๆ ต้องมั่นใจว่าสามารถหารายได้พอเพียงต่อภาระที่จะต้องชำระคืนในอนาคตให้ได้ และคงต้องคำนึงถึงราคาสินค้าที่จะแพงขึ้นไปเรื่อยๆ ในอนาคตที่เกิดจากเงินเฟ้อ
พอเราเอาเงินได้หักภาระหนี้ที่มี หักค่าใช้จ่ายในอนาคตที่เพิ่มขึ้นรวมเงินเฟ้อแล้วนั้น เงินที่เหลืออยู่นั้นจะพอหรือเปล่า หากสินค้าที่เราเอามานั้นเป็นเรื่องที่ 2 คือ เอามาเพื่อสร้างมูลค่า หรือ เพิ่มรายได้ อันนี้ก็จะอยู่ที่คุณภาพในการดำเนินการให้เกิดมูลค่าหรือรายได้ที่คาดหวังในอนาคต และความน่าเป็นห่วงในด้านความสามารถในการชำระคืนหนี้ก็จะน้อยลง
การใช้เงินในอนาคตนั้นไม่ได้เป็นเพียงปัญหาระดับบุคคล หรือครอบครัว แต่การใช้เงินในอนาคตด้วยวัตถุประสงค์ของการใช้เงินทำให้ประเทศหลาย ๆ ประเทศมีปัญหา อาทิ การกู้เงินของประเทศกรีซมีการกู้เงินมา เพื่อสนับสนุนการบริโภคในประเทศ และสนับสนุนนโยบายประชานิยม ซึ่งท้ายที่สุดไม่ได้กู้มาเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทั้งในด้านการผลิตและมูลค่าเพิ่ม
ดังนั้นเราคงต้องถามตนเองว่า หากการนำเงินที่หาได้ในปัจจุบันมาใช้ เพื่อให้เกิดกับการบริโภค และนำเงินในอนาคตมาก็เพื่อใช้ในการบริโภค สัดส่วนของการนำเงินอนาคตมาใช้ สมควรใช้มากหรือน้อยแค่ไหน และหากเราไม่สามารถหารายได้ในอนาคตได้ ไม่ว่าจะเกิดจากสินค้าที่ผลิตและขายมีราคาลดลง (เช่นสินค้าเกษตร ที่เริ่มมีการปรับราคาลงเมื่อกว่า 1 ปีที่ผ่านมา) หรือเราไม่สามารถทำงานได้ หรือ มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและกายภาพของอุตสาหกรรม เราจะอยู่ได้หรือไม่
ปัจจุบันปัจจัยเสี่ยงนั้น ดูเหมือนว่าจะรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกวัน การเตรียมตัวรับมือความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญ และที่สำคัญไปไม่น้อยกว่าการเตรียมการรับมือดังกล่าว คือการมีวินัยทางการเงิน ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว และองค์กร หากนำเอาเงินอนาคตมาใช้เยอะๆ ความเสี่ยงก็จะสูง และโอกาสในการขยับขยายหายใจก็จะน้อยลง เราคงต้องเริ่มวางแผนและเลือกตั้งแต่วันที่เราเลือกได้ว่า เราจะบริหารและเลือกการใช้เงินปัจจุบันหรืออนาคตอย่างไร เราจะคิดก่อนใช้ หรือใช้ก่อนคิดกัน