การยับยั้งกฎหมายที่เกี่ยวกับงบประมาณในฝรั่งเศสและเยอรมัน

การยับยั้งกฎหมายที่เกี่ยวกับงบประมาณในฝรั่งเศสและเยอรมัน

เมื่อระหว่างวันที่ 2-6 มิถุนายน 2556 วิทยาลัยรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้นำนักศึกษาหลักสูตร นิติธรรมเพื่อประชาธิปไตยรุ่นที่ 1

ไปศึกษาดูงาน ณ ที่ทำการคณะตุลาการรัฐธรรมนูญประเทศฝรั่งเศส (Conseil Constitutionnel) กรุงปารีส ณ ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (European Court of Human Right) เมืองสตารส์บูร์ก ประเทศฝรั่งเศส และ ณ ศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Federal Constitutional Court) เมืองคาร์ลสรูห์ ประเทศเยอรมัน

ในการไปดูงาน ณ ที่ทำการ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2556 ได้รับฟังการบรรยายถึงองค์ประกอบของคณะตุลาการและอำนาจหน้าที่ และเปิดให้มีการซักถาม สรุปได้คือ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1958 มิใช่ศาลที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุดของลำดับชั้นของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง ซึ่งก็คือมิใช่ศาลสูงสุด (Supreme Court) คณะตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส เป็นศาลถาวร แต่ไม่มีลักษณะเป็นองค์กรมีลักษณะเป็นคณะกรรมการ ประกอบด้วยตุลาการที่มาจากการแต่งตั้ง 9 คน โดยประธานาธิบดีแต่งตั้ง 3 คน ประธานสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้ง 3 คน และประธานวุฒิสภาแต่งตั้ง 3 คน และตุลาการโดยตำแหน่งคืออดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศสทุกคน

อำนาจหน้าที่ ที่สำคัญคือ การพิจารณาว่าร่างกฎหมาย ก่อนที่ประธานาธิบดีจะลงนามประกาศใช้บังคับชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยต้องเป็นกรณีที่มีคำร้องขอจากประธานาธิบดี หรือนายกรัฐมนตรี หรือประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 60 คน หรือสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 60 คน แต่ถ้าเป็นร่างกฎหมายที่เรียกว่า Institutional acts นายกรัฐมนตรี จะต้องเสนอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ พิจารณาว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ก่อนที่ประธานาธิบดีจะลงนามประกาศใช้บังคับ หลังจากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2553 คู่ความที่มีคดีอยู่ในศาลสามารถร้องขอให้ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่ากฎหมายที่ใช้บังคับแล้วและจะใช้กับคดีในศาลนั้น ละเมิดสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้หรือไม่ ทั้งนี้ ในการพิจารณาถึงสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนั้น ถือว่าคำปรารภของรัฐธรรมนูญรวมทั้งส่วนที่เป็นแนวปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่ดำเนินการมาในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้วย นอกจากนี้ อำนาจที่สำคัญอีกประการหนึ่งของคณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญคือการควบคุมการเลือกตั้งประธานาธิบดี ผู้แทนราษฎร การทำประชามติ ประกาศผลการเลือกตั้งและวินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

ในช่วงของการถามปัญหา มีคำถามที่น่าสนใจคำถามหนึ่ง อันสะท้อนถึงเหตุการณ์ที่กำลังเป็นที่สนใจในเมืองไทยคือ กฎหมายที่เกี่ยวกับงบประมาณก้อนโตในเมืองไทย โดยถามว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีอำนาจ ยับยั้งกฎหมายที่เกี่ยวกับงบประมาณของฝรั่งเศสหรือไม่ คำตอบคือมีอำนาจ ล่าสุดคือคดีที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อปลายปีที่แล้วว่าบทบัญญัติของร่างกฎหมายงบประมาณปี 2556 ของฝรั่งเศสที่ผ่านสภาแล้ว ส่วนที่จะเก็บภาษีในอัตรา 75 % สำหรับผู้มีรายได้เกินกว่าปีละ 1 ล้าน ยูโร ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะสร้างภาระให้แก่ประชาชนโดยไม่เสมอภาคกัน

ในการไปศึกษาดูงานที่ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน ในวันที่ 6 มิถุนายน 2556 ศาสตราจารย์ Dr. Andreas Paulus ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันเป็นผู้บรรยายถึงความเป็นมาและอำนาจหน้าที่ของศาล และให้มีการซักถาม โดย สรุป คือ

ประเทศเยอรมันมีกฎหมาย ที่เรียกว่า Basic Law ที่ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมันออกใช้บังคับในปี 2492 และตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ได้บัญญัติให้มีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเยอรมัน เริ่มเปิดดำเนินการในปี 2494 ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทั้งศาลและตุลาการไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหาร และไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง ทบวงกรมใด มีงบประมาณของตนเอง โดยเสนอผ่านรัฐสภาโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐบาล ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน มีตุลาการทั้งหมด 16 คน แยกเป็นสององค์คณะ องค์คณะละ 8 คน องค์คณะแรกมีหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยคดีที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เช่นกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ ถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ องค์คณะที่สองมีหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐ เช่นระหว่างรัฐบาลกลาง กับรัฐบาลรัฐ ถ้าเป็นคดีสำคัญ เช่น คดีที่มีปัญหาข้อกฎหมายที่สำคัญที่อีกองค์คณะหนึ่งไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของอีกองค์คณะหนึ่ง ก็จะนำเสนอให้พิจารณาเต็มคณะทั้ง 16 คน

การร้องขอให้ศาลพิจารณาว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ร้องได้เฉพาะกฎหมายที่มีผลบังคับใช้แล้วเท่านั้น ยกเว้นกรณีที่เป็นความตกลงระหว่างประเทศที่เยอรมันมีพันธกรณี ตามรัฐธรรมนูญเยอรมันถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายภายในของเยอรมันด้วย จะต้องร้องให้พิจารณาก่อนที่ความตกลงนั้นจะมีผลใช้บังคับ ชาวเยอรมันทุกคนมีสิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันพิจารณาวินิจฉัยว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

หลังจากนั้นเปิดโอกาสให้มีการซักถาม มีคำถามที่น่าสนใจโดยมีการนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยไปถามหลายคำถาม ที่น่าสนใจคือ หากมีการเสนอจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเยอรมันแต่ประชาชนเห็นว่าจะเป็นการกำจัดสิทธิของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญเยอรมันให้การรับรองไว้ จะร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน ยับยั้งการกระทำที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ได้รับคำชี้แจงว่า กฎหมายที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ถือว่าเป็นกฎหมายฉบับหนึ่ง ตราบใดที่ยังไม่มีผลใช้บังคับ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัย จะพิจารณาวินิจฉัยได้เฉพาะที่มีผลใช้บังคับแล้วเท่านั้น ที่ผ่านมามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายครั้ง แต่ยังไม่มีการแก้ไขที่เป็นการขัดหรือลบล้างหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญเดิม ที่มีการแก้ไขที่สำคัญแต่ไม่ได้มีการละเมิดหลักการที่สำคัญหรือละเมิดสิทธิของประชาชน เช่นกรณีที่เยอรมันจะเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป หรือที่มีการรวมชาติระหว่างเยอรมันตะวันตกและเยอรมันตะวันออก เป็นต้น

คำถามอีกคำถามหนึ่ง คือศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน มีอำนาจยับยั้งกฎหมายที่เกี่ยวกับงบประมาณหรือไม่ ได้รับคำชี้แจงว่า กฎหมายงบประมาณหรือที่เกี่ยวกับงบประมาณ มีศักดิ์เป็นกฎหมายเหมือนกฎหมายทั่วไป หากมีผู้ยื่นคำร้องให้วินิจฉัยว่า กฎหมายงบประมาณหรือที่เกี่ยวกับงบประมาณขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันก็มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัย แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีกรณีร้องให้วินิจฉัยว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับงบประมาณขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

บทสรุป สำหรับศาลรัฐธรรมนูญของไทยซึ่งมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ทำนองเดียวกับ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสและศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน ยังไม่เคยมีการพิจารณาวินิจฉัยว่ากฎหมายงบประมาณหรือกฎหมายทำนองเดียวกันขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ถ้าหากในโอกาสต่อไปมีผู้ยื่นคำร้องเข้ามาให้พิจารณาวินิจฉัย ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ และผลจะเป็นอย่างไร