เป้าหมายและวิธีการบริหารจัดการ

เป้าหมายและวิธีการบริหารจัดการ

ระบบธรรมชาตินั้นทั้งยิ่งใหญ่ ทั้งฉลาดมาก (ที่ทำให้สิ่งมีชีวิตรวมทั้งคนเราหายใจ และดำรงชีพอยู่ได้) คนถึงจะฉลาดแค่ไหนก็ยังรู้เพียงแค่ส่วนหนึ่ง

ของระบบธรรมชาติ ระบบเศรษฐกิจสังคมที่คนสร้างขึ้นมาก็เป็นเพียงส่วนย่อยส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ (หรือระบบธรรมชาติ) การจะพัฒนาเศรษฐกิจสังคมเพื่อคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ได้อย่างยั่งยืน ควรยึดแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศให้เข้มแข็ง นั่นก็คือ ควรสร้างระบบเศรษฐกิจสังคมแบบใหม่ที่สามารถบริหารจัดการองค์กร กิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคมของมนุษย์ให้สนองความต้องการที่จำเป็นของมนุษย์ได้อย่างพอเพียง เป็นธรรม และสอดคล้องกับกฎหรือระบบการทำงานของธรรมชาติ

ระบบเศรษฐกิจสังคมแบบใหม่ควรมีเป้าหมายในการให้บริการต่อประชาชนทั้งหมดในเรื่องดังต่อไปนี้ คือ

1. ให้ประชาชนทุกคนที่เกิดมา (อย่างมีการวางแผนครอบครัวที่เหมาะสม) มีสิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ มีอาหาร น้ำสะอาด การได้รับบริการทางแพทย์ การสาธารณสุขที่ดี ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม การศึกษา การได้ชื่นชมกับศิลปวัฒนธรรมและการพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อสนองความต้องการที่จำเป็นของประชาชนทุกคนได้อย่างพอเพียงแบบมีคุณภาพชีวิต

2. ประชาชนอยู่ในสังคมร่วมกันอย่างมีสิทธิ เสมอภาค เสรีภาพ ประชาธิปไตยเท่าเทียมกัน ไม่ถูกครอบงำหรือควบคุมโดยกลุ่มคนที่มีอำนาจหรือมีอภิสิทธิมากกว่า

3. มีการจัดระบบเศรษฐกิจที่ให้คนงานและชุมชนเป็นเจ้าของและเป็นผู้ควบคุมการผลิตพลังงาน โรงงาน เพื่อปัจจัยการผลิตและการดำรงชีพ สวนไร่นา กิจการที่สำคัญต่างๆ ร่วมกัน เพื่อดำเนินการผลิตสินค้าและบริการที่เน้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยที่จำเป็นของมนุษย์อย่างคำนึงถึงระบบนิเวศ และกระจายผลผลิตและบริการให้ประชาชนอย่างทั่วถึงเป็นธรรม

4. มีระบบเลือกตั้งและถอดถอนผู้แทน (ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น) ที่ไปทำหน้าที่บริหารจัดการและควบคุมดูแลฝ่ายบริหารจัดการอย่างเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มีระบบทางการเมืองแบบเปิดที่ประชาชนสามารถลงชื่อ ลงมติในการถอดถอนผู้แทนที่ไม่ได้ทำงานเพื่อส่วนรวมอย่างซื่อสัตย์มีประสิทธิภาพได้ง่าย

5. สร้างความเป็นเอกภาพระหว่างระบบการทำงาน การใช้ชีวิตของมนุษย์กับระบบธรรมชาติขึ้นมาใหม่ในทุกด้าน รวมทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม การขนส่ง และการใช้ชีวิตด้านต่างๆ ที่ไม่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงปริมาณ แต่เน้นเฉพาะสินค้าและบริการที่จำเป็นและเป็นประโยชน์และการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิต คนและสังคม ซึ่งหมายถึง ว่ากิจกรรมการผลิตการบริโภค ต้องคำนึงถึงการประหยัด เรียบง่าย และอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศให้เข้มแข็งเป็นหลักใหญ่ที่สุด

การจะบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจสังคมให้สอดคล้องกับระบบธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพและอยู่ได้อย่างยั่งยืน จะต้องใช้วิธีที่แตกต่างจากวิธีบริหารจัดการของระบบทุนนิยมโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ

1. การพัฒนาเศรษฐกิจ ควรทำเพื่อสนองความต้องการที่จำเป็นของประชาชนได้อย่างทั่วถึงในระดับพอเพียง ประเทศรายได้สูง ปานกลางระดับสูง ต้องหยุดยั้งหรือจำกัดขนาดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของตนลงมา เพราะการเจริญเติบโตของการผลิตสินค้าและบริการในระดับที่เกินพอเพียง ทั้งทำลายระบบนิเวศ ทั้งทำลายสังคมวัฒนธรรมคุณภาพชีวิต ทำให้คนต้องแข่งขันทำงานหนัก เห็นแก่ตัว เครียดเป็นทุกข์มากขึ้น แทนที่คนเราจะมีเวลาทำสิ่งที่ตนชอบ ภูมิใจและมีชีวิตที่มีคุณภาพและมีความสุขเพิ่มขึ้น

2. ห้ามการโฆษณาที่กระตุ้นส่งเสริมให้คนบริโภคมากขึ้นและมากขึ้นอย่างฟุ่มเฟือย ซึ่งสร้างปัญหาต่อทั้งระบบนิเวศและคุณภาพชีวิตของคน

3. ปกป้องชีวิตทางธรรมชาติ สนับสนุนระบบธรรมชาติ และเคารพต่อความมีจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ เก็บทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสสนองความต้องการที่จำเป็นของพวกเขาด้วย

4. การตัดสินใจใช้ทรัพยากรต่างๆ ควรมีพื้นฐานอยู่บนความต้องการทางสังคมและระบบนิเวศในระยะยาว ขณะเดียวกันก็ไม่ละเลยที่จะดูแลความต้องการที่จำเป็นในระยะสั้นของคนรุ่นปัจจุบัน โดยเฉพาะคนจนที่มีมาตรฐานความเป็นอยู่ในระดับต่ำ โดยคำนึงถึงหลักการประหยัด เรียบง่าย เป็นธรรม พอเพียง

5. ประหยัดและลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล (น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ) และหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนที่ผลิตทดแทนขึ้นมาได้ เช่น พลังน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ความร้อนใต้พื้นโลก คลื่นในทะเล มวลชีวภาพ ฯลฯ

6. ส่งเสริมพัฒนาอุปนิสัยใจคอและวัฒนธรรมของมนุษย์ไปในทางร่วมมือกัน แบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ตอบแทนกัน รับผิดชอบต่อเพื่อนบ้านและชุมชน แทนการมุ่งแข่งขันแบบตัวใครตัวมัน

7. ปฏิรูปการเลี้ยงดูเด็ก การกล่อมเกลาทางสังคม และการศึกษา เพื่อให้มนุษย์ทุกคนมีโอกาสพัฒนาศักยภาพในทางบวกได้อย่างเต็มที่

8. ส่งเสริมกระบวนการตัดสินใจทางเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ตามเสียงส่วนใหญ่เพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ในทุกระดับอย่างแท้จริง เพื่อสนองความต้องการของชุมชน ประเทศ ภูมิภาค และโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ธรรมชาตินั้นเป็นระบบทำงานโดยอัตโนมัติที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม สมดุลและยั่งยืนมากที่สุด Fred Magdoff อาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์เรื่องพืชและดินได้เสนอให้เราเรียนรู้และนำหลักการธรรมชาติที่สำคัญ 4 ข้อ มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจสังคมของมนุษย์ให้สอดคล้องกับระบบการทำงานของธรรมชาติดังต่อไปนี้คือ 1. หลักการควบคุมดูแลตนเอง 2. หลักความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม 3. หลักปฏิสัมพันธ์ทางสังคมแบบพึ่งพาร่วมมือกัน 4. หลักการพึ่งตนเองมากกว่าพึ่งปัจจัยภายนอก

(อ่านวิทยากร เชียงกูล. เศรษฐศาสตร์แนวใหม่ เพื่อชีวิตและระบบนิเวศที่สันติสุข. กรุงเทพธุรกิจ : 2556)