จากกรุงไคโรถึงวอลสตรีท - เสียงจาก Global Spring “ทั่วโลกา”*

จากกรุงไคโรถึงวอลสตรีท  - เสียงจาก Global Spring “ทั่วโลกา”*

การชุมนุมเดินขบวนของประชาชนคนธรรมดาสามัญอย่างสันติ สื่อสารนัดหมายพบกันด้วยการใช้สื่อสังคม (social media)

เช่น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เว็บไซต์ต่างๆ ไร้ผู้นำทางการเมืองอย่างเป็นทางการ ประท้วงเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการบริหารการเงินเศรษฐกิจของประเทศ ที่ในเวลาต่อมาจนถึงทุกวันนี้รู้จักกันในนาม อาหรับ สปริง (Arab Spring) ที่เป็นคลื่นปฏิวัติทางสังคมครั้งใหญ่ ได้เริ่มขึ้นในตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ ที่เมืองตูนิส ประเทศตูนิเซีย

ถึงต้นปี ค.ศ. 2011 ติดตามมาด้วยกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ที่มีประชากร 81 ล้านคน ใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาหรับ ซึ่งส่งผลสั่นสะเทือนอย่างใหญ่หลวงด้วยว่าการประท้วงของคนธรรมดาสามัญ ไร้ผู้นำอย่างเป็นทางการ มาพบชุมนุมร่วมกันด้วยการใช้สื่อสังคมสื่อสารกัน สามารถล้มล้างผู้นำ คือประธานาธิบดี มูบารัค อยู่ในอำนาจมาแล้ว 30 ปี มีชื่อเสียงว่าสามารถชนะเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก 90 เปอร์เซ็นต์ มีกองกำลังตำรวจลับอำนาจล้นฟ้า

จากกรุงไคโร เกิดการประท้วงคล้ายๆ กันเป็นลูกโซ่ ในแอลจีเรีย บาห์เรน จิบูตี คูเวต เลบานอน โมร็อกโก ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย ไปจนถึง เมืองซานดิเอโก ประเทศชิลี รวมความว่าเป็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและทางการเงินการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ เรียกร้องต้องการสิ่งเดียวกัน คือ และ ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ และประชาธิปไตยที่ปกป้องผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

ซึ่งถ้านับการเดินขบวนประท้วงเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและทางสถาบันการเงินการบริหารของประเทศในทวีปยุโรป เช่น ใน กรีซ สเปน และ เหตุการณ์ยึดถนนวอลสตรีทในสหรัฐ (Occupy Wall Street) เรื่อง สถาบันการเงินการบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลว คนส่วนใหญ่เดือดร้อน แต่ผู้บริหารร่ำรวยได้โบนัสสูงๆ ท่ามกลางความล้มละลายของบริษัท ตลอดจน เหตุการณ์ยึดกรุงลอนดอน (Occupy London) เนื่องจากขึ้นค่าเล่าเรียนอุดมศึกษาสูงลิ่ว เข้าด้วยแล้ว

ก็กล่าวได้ว่า กระแสความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นคลื่นปฏิวัติทางสังคมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ด้วยว่าเป็นการลุกขึ้นมาของพลเมืองระดับพลเมืองเต็มขั้น มีทั้งเยาวชนไปจนถึงคนวัยทำงานและวัยเกษียณที่ประสบปัญหาต่างๆ กันในการดำรงชีวิตอยู่ จากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา อาชีพ การมีงานทำ การตกงาน ราคาค่าครองชีพเข้าของแพง การฉ้อฉลของสถาบันการเงินต่างๆ ตลอดจนหน่วยงานของรัฐและนักการเมือง ในที่สุด ก็ได้กลายเป็น “โกล-บอล สปริง” (Global Spring) คือ ทั่วโลกา ไปแล้ว จากจุดเริ่มแรงบันดาลใจอันเนื่องมาจาก “อาหรับ สปริง”

มีการรณรงค์หลายรูปแบบ เช่นแบบเดียวกับที่เคยมีมา เป็นต้นว่า เดินขบวน นัดหยุดงาน การเข้าไปนั่งประท้วงในบางสถานที่ เน้นการใช้สื่อสังคม (Social Media) ต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เว็บไซต์ ฯ เพื่อสื่อสารเร่งให้ประชาชนคนสามัญตื่นตัว ตระหนักถึงความพยายามของรัฐและรัฐบาลที่จะปราบปรามและควบคุมเซนเซอร์อินเทอร์เน็ต

ความเหลื่อมล้ำ ความล้มเหลวในการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะในระบบการศึกษา สถาบันการเงิน การสื่อสาร การพลังงาน ทรัพยากร การมีงานทำ การตกงาน ของแพง สาธารณูปโภค ฯ ไม่จำกัดว่าจะเป็นเรื่องใด ล้วนแล้วแต่สามารถเป็นประเด็นรณรงค์เรียกร้องและต่อต้านความไร้ประสิทธิภาพ ความฉ้อฉลต่างๆ ในสังคม สื่อสังคมสมัยใหม่ต่างๆ ทำให้ขบวนการรณรงค์เรียกร้องต่อต้านเกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวางในหมู่พลเมืองสามัญที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด ไม่เกี่ยวกับองค์กรใด หรือขบวนการไหน ไม่ปรากฏชัดว่าจะนิยามเป้าหมายทางการเมืองอย่างไร นอกจากว่าแสดงความรู้สึกอึดอัดคับแค้นใจที่เก็บสะสมมา รู้สึกว่าถึงเวลาที่ต้องแสดงออกให้รู้ว่ายังมีความหวังและเชื่อว่าพลังของคนธรรมดาสามัญนี่แหละที่จะควบคุมให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ คือ รัฐบาล ต้องแสดงรับผิดชอบ

ที่สำคัญยิ่งก็คือ การไร้หัวหน้าผู้นำอย่างเป็นตัวเป็นตน เป็นกิจจะลักษณะ ในการเคลื่อนไหว ผู้ที่มาร่วมต้องพึ่งพาระบบสื่อสังคม ตัดสินใจเอง ใช้ที่ชุมนุมเป็นที่ตัดสินใจร่วม ได้ความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของคลื่นความไม่พอใจและอย่างน้อยที่สุดเสียงเล็กของเขาด้วยตัวคนเดียวก็มีผู้ได้ยินเมื่อมารวมกัน

เห็นได้ชัดว่า การมาพบกันของผู้ชุมนุมจะเกิดความรู้สึกว่าอยู่ใน “ชุมชน” เดียวกัน รู้สึกมี ความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน (connectedness) ด้วยสารที่สื่อถึงกันในสื่อสังคม ที่ได้เชื่อมให้คนเข้าถึงกัน เข้าใจกันไม่ใช่เฉพาะข้ามจังหวัด ข้ามเมือง ข้ามประเทศ แต่เชื่อมได้แม้กระทั่งกับเพื่อนบ้าน ที่ยังไม่เคยคุยกัน ได้มารู้จักกัน เข้าใจกันเชื่อมโยงถึงกัน

กระแส ไทย สปริง และ ชุมชนคนหน้ากากขาว ในสังคมไทยที่เกิดขึ้นแล้วนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป จะไปสู่จุดไหน จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองได้หรือไม่อย่างไร ไม่มีใครรู้

โจเซฟ อี สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลผู้มีชื่อทางด้านส่งเสริมความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เขียนไว้ในตอนท้ายของบทนำให้แก่หนังสือเล่มนี้ว่า “...ไม่มีใครรู้ว่า อาหรับ สปริง หรือว่า การเคลื่อนไหวยึดวอลสตรีท จะนำพาไปที่ไหน แต่มีสิ่งหนึ่งที่แน่นอน นั่นคือ พลเมืองหนุ่มสาวคนวัยทำงานผู้มาร่วมความเคลื่อนไหวประท้วงเหล่านี้ ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีที่สาธารณชนพูดคุยสนทนาถกเถียงกันในชีวิตประจำวันทั่วๆ ไป (public discourse) และได้ทำให้จิตสำนึกในหมู่ประชาชนธรรมดาและนักการเมืองต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย”

*เก็บสาระสำคัญจากหนังสือ From CAIRO to WALL STREET -VOICES FROM THE GLOBAL SPRING ตีพิมพ์ ค.ศ. 2012 บรรณาธิการ คือ Anya Schiffrin และ EamonKircher- Allen คำนำโดย Jeffrey D.Sachs และบทนำโดย Joseph E. Stiglitz หนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามที่จะมองดูขบวนการประท้วงไปทั่วโลกาครั้งสำคัญนี้โดยผ่านสายตาและถ้อยคำของผู้ประท้วงโดยตรงจากประเทศ อียิปต์ ตูนิเซีย ซีเรีย บาห์เรน สเปน ชิลี กรีซ และจากกลุ่มผู้ประท้วงยึดวอลสตรีท กลุ่มผู้ประท้วงยึดลอนดอน ได้กล่าวถึงสาเหตุแรงจูงใจและสิ่งที่ผู้ประท้วงแต่ละกลุ่มเหล่านี้ใส่ใจห่วงใย วิธีการที่พวกเขาได้จัดการรวมตัวกัน ตลอดจนอุปสรรคต่างๆ ที่ประสบ รวมไปถึงความคาดหวังต่างๆ และความกลัว มีทั้งจุดที่เหมือนกันและแตกต่าง