ยากที่จะยุติความขัดแย้งในเร็ววัน

ยากที่จะยุติความขัดแย้งในเร็ววัน

หนึ่งปีพอดิบพอดีที่ผมได้เขียนเรื่อง ใครคือผู้นำที่แท้จริงของมวลชนคนเสื้อแดง ? ที่ตีพิมพ์ในคอลัมน์เดียวกันนี้เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนปีก่อน

โดยในข้อเขียนดังกล่าว ได้ตั้งคำถามสำคัญว่า “ใครจะได้อะไร ใครจะเสียอะไร หากคุณทักษิณกลับมาเมืองไทยอย่างเท่ๆ ได้จริงๆ นั่นคือ ไม่มีคดีความและโทษใดๆ ติดตัว ? ในฝั่งเดียวกันเองนั้น ย่อมต้องมีคนต้องไตร่ตรองว่า เมื่อคุณทักษิณกลับมาแล้ว มวลชนคนเสื้อแดงจะยังฟังแกนนำ นปช. อย่างคุณธิดาหรือฟังคุณทักษิณ คนที่ฟังคุณทักษิณจะมีจำนวนมากหรือน้อยกว่าคนที่ฟังแกนนำ ? คนที่จะต้องคิดคำนวณคาดคะเนไตร่ตรองให้ดีว่ามวลชนจำนวนเท่าไรจะฟังใครมากกว่านั้น ย่อมได้แก่ บรรดาแกนนำและรวมถึงตัวคุณทักษิณเองด้วย เพราะว่า หากเมื่อคุณทักษิณกลับมาอย่างเท่ๆ ได้แล้ว ก็ถือว่าเป็นชัยชนะครั้งสำคัญยกแรกเหนืออำมาตย์ เป็นชัยชนะที่เกิดจากการเอาคุณทักษิณเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ หากมวลชนคนเสื้อแดงมีจิตสำนึกทางการเมืองที่ก้าวข้ามคุณทักษิณไปจริงๆ คุณทักษิณก็จะไม่มีความหมายใดๆ สำหรับพวกเขาทันที เพราะศึกสงครามต่อไปคือการถอนรากถอนโคนอำมาตย์ โดยแกนนำก็จะขับเคลื่อนมวลชนในสงครามไพร่-อำมาตย์ครั้งใหญ่ต่อไป หากคุณทักษิณไม่ขอร่วมขบวนการต่อสู้ คุณทักษิณก็อาจจะถูกผลักให้ไปอยู่ข้างอำมาตย์ไปเลยด้วยซ้ำ ดังนั้น ในเงื่อนไขที่พี่น้องมวลชนคนเสื้อแดงมีจิตสำนึกทางการเมืองที่เข้มข้น หลังคุณทักษิณกลับมาอย่างเท่ๆ แล้ว มวลชนจะกลายเป็นเผือกร้อนสำหรับคุณทักษิณไปทันที ! คุณทักษิณจะต้องฉวยโอกาสครองอำนาจนำในการทำสงครามชนชั้นต่อไป หากคุณทักษิณยังต้องการมีอำนาจทางการเมืองและคุมมวลชนเหล่านี้ไว้ต่อไป” และผมได้ทิ้งท้ายข้อเขียนนั้นไว้ว่า “แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า ใครประเมินมวลชนคนเสื้อแดงได้ถูกต้องที่สุด !”

มาถึงวันนี้ ได้มีการยื่น ร่าง พ.ร.บ. ปรองดอง ขึ้นมาแล้ว และพร้อมที่จะปลดล็อกให้ทุกฝ่าย และสมมุติว่า ประชาธิปัตย์ พันธมิตรฯรวมทั้งกลุ่มหลากสีเกิดเห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ. ปรองดอง ผู้ได้ประโยชน์ที่เป็นคนแถวหน้าของแต่ละฝ่าย คือ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำทุกฝ่าย และแน่นอนคือทหารด้วย แต่คนสูญเสียคือ ญาติพี่น้องผู้เสียชีวิต ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม (บ้างได้เงิน แต่ไม่ได้คำพิพากษา)

คำถามก็คือ มวลชนคนเสื้อแดงส่วนใหญ่จะอยู่ข้างไหน ? ข้างประธาน นปช. ที่ยืนหยัดหาคนฆ่าประชาชนในเหตุการณ์ปี '53 หรือ ข้างคุณขวัญชัย ไพรพนาที่ยืนยันนำคุณทักษิณกลับบ้าน ? อีกทั้งแกนนำเสื้อแดงที่มีตำแหน่งแห่งที่ในทางการเมืองจะกลืนน้ำลายตัวเองหรือยืนหยัดอยู่ข้างประธาน นปช. ? หากมวลชนคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่เอา ร่าง ปรองดอง แต่ ส.ส. เพื่อไทยในสภาเอา ก็แปลว่า ส.ส. กับฐานมวลชนในแต่ละพื้นที่เลือกตั้งก็ต้องแยกทางกันเดิน มันเป็นไปได้แค่ไหน ?

สมมุติอีกว่า มวลชนคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่เอา ร่าง ปรองดอง คำถามก็คือ เขาจะสามารถมีพลังโค่นล้มการปรองดอง (หรือการเกี้ยเซี้ยระหว่างนักการเมืองและชนชั้นนำสองฝ่าย) ได้แค่ไหน ? จะมิลงเอยด้วยการที่ฝ่ายกุมอำนาจรัฐ (ที่เมื่อปรองดองกันแล้ว ย่อมมีเอกภาพอย่างเหนียวแน่นในประเด็นนี้) ใช้กำลังเจ้าหน้าที่รัฐเข้ารักษาความสงบเรียบร้อยหรือไม่ ? หากจำนวนคนเสื้อแดงนี้มีไม่มากนัก ?

ถ้าจะให้มีมากพอ ต้องมีปริมาณแค่ไหน ? และยิ่งถ้าสังคมโดยรวม หมายถึง พลังเงียบเกิดเห็นด้วยหรือไม่แข็งขันที่จะต้านการปรองดองด้วยแล้ว ความชอบธรรมของพี่น้องเสื้อแดงที่ออกมาต่อต้านการปรองดองย่อมจะถดถอยน้อยลง

จากข้างต้น เห็นได้ว่า ปัญหาการปรองดอง มิได้ขึ้นอยู่กับประชาธิปัตย์ และพันธมิตรฯเท่านั้น แต่ขึ้นกับคนเสื้อแดงของฝ่ายเพื่อไทยและคุณทักษิณเองด้วย และน่าจะเป็นปัญหามากกว่าฝ่ายตรงข้ามเสียด้วยซ้ำ เหตุเกิดจากการสร้างกระแสต่อสู้ทางการเมืองหลังเหตุการณ์ปี '53 ที่ปั่นกันขึ้นมาจนยากที่จะหาทางลงง่ายๆ สำหรับการปรองดอง ดังนั้น ร่าง กม. ปรองดองจึงไม่น่าใช่คำตอบสำหรับคุณทักษิณและเพื่อไทยและมวลชนคนเสื้อแดง ดังนั้น ทำอย่างไรที่จะทำให้ได้ทุกอย่างโดยไม่ต้องเสี่ยงกับปัญหาที่กล่าวไปข้างต้น ? ได้ทุกอย่างในที่นี้คือ หนึ่ง คุณทักษิณกลับบ้านพ้นผิด สอง คุณอภิสิทธิ์-คุณสุเทพ-แกนนำพันธมิตรฯ ฯลฯ ยังต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สาม คนเสื้อแดงพ้นผิดออกจากคุกและคดีต่างๆ

การแก้รัฐธรรมนูญบางมาตราคือ คำตอบ ซึ่งดีกว่าการพยามผลักดัน ร่างปรองดอง ขณะเดียวกัน การผลักดันร่างนิรโทษนั้นก็ง่ายกว่าเช่นกัน เพราะคนส่วนใหญ่ของทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันพลังเงียบในสังคมก็ยังไม่แสดงออกชัดเจนว่าจะเอาหรือไม่เอาอย่างไร อีกทั้งกระแสการต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญของฝ่ายพันธมิตรฯก็ไม่เข้มแข็งเหมือนปี '51

คำถามคือ ส.ส. ข้างมากในสภาจะสามารถแก้รัฐธรรมนูญบางมาตรานั้นได้หรือไม่ ? ถ้ามองที่เสียงข้างมาก คำตอบคือ ได้แน่นอน ! แต่จะติดปัญหาจากการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเท่านั้น นั่นก็คือต้องเกี่ยวข้องกับ ม. 68 ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังถูกแช่อยู่ขณะนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า แก้ไข ม. 68 อย่างที่ฝ่ายสภาเสนอนั้นไม่ได้ ก็หมายความว่า ยามเมื่อมีการพยายามแก้บางมาตราที่จะปลดล็อกคุณทักษิณก็จะต้องถูกส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าทำได้หรือไม่ ?

สิ่งที่ไม่ต้องสมมุติในขณะนี้ก็คือ ฝ่ายประชาธิปัตย์ไม่เอาร่างปรองดอง แต่ก็ไม่จำเป็นต้องไปออกแรงกับการเมืองบนท้องถนนแต่อย่างใด เพียงคัดค้านในสภาก็พอ ที่เหลือให้เป็นไปตามครรลองรัฐสภา นั่นก็คือ ปล่อยให้มวลชนคนเสื้อแดงเขาเป็นคนตัดสินพฤติกรรมของ ส.ส. เพื่อไทยและแกนนำที่มีตำแหน่งแห่งที่แล้ว ประชาธิปัตย์คัดค้านพอเป็นพิธี เพราะถึงเสียงแพ้ในสภา ก็ได้ประโยชน์นั่นคือ ปลดล็อกคุณอภิสิทธิ์ คุณสุเทพ และที่สำคัญคือ “ทหาร” ด้วย อีกทั้งมวลชนฝ่ายประชาธิปัตย์ก็คงไม่ว่าอะไร ยกเว้นเสียแต่ว่า แกนนำประชาธิปัตย์จะรับการกลับมาอย่างพ้นผิดของคุณทักษิณไม่ได้ ซึ่งนั่นก็คือ การสมมุติว่าประชาธิปัตย์ยอมรับการปรองดองในตอนต้นจึงเป็นเรื่องสมมุติอยู่ต่อไปเสมอ

แต่หากปลดล็อกแล้ว คุณทักษิณพ้นผิดกลับมา แกนนำประชาธิปัตย์และพันธมิตรฯ (ที่ถูกปลดล็อกแล้ว) ก็สามารถฟื้นการเมืองบนท้องถนนต้อนรับการกลับมาของคุณทักษิณอีกได้ และสามารถได้พลังเงียบเสริมอีก เพราะที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์ก็กล่าวอ้างได้ว่าได้พยายามต่อสู้ในวิถีทางรัฐสภาแล้ว แต่สู้ไม่ไหว และตัวคุณอภิสิทธิ์-สุเทพก็ไม่ได้ต้องการจะหนีกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด ดังนั้น คำถามจึงมาลงที่แกนนำพันธมิตรฯว่า ในช่วงที่รัฐสภาพิจารณาร่างปรองดอง ทำไมไม่ออกมาคัดค้านในวิธีการที่เคยทำ ? หากจะกล่าวอ้างว่า กลัวจะถูกถอนประกัน นั่นก็ดูจะพอรับฟังได้ เพราะพลังเงียบไม่ชอบความวุ่นวายในสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยแบบนี้

แต่เมื่อคุณทักษิณพ้นผิดกลับมา พลังเงียบจะว่าอย่างไร ? ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทีท่าของคุณทักษิณว่าจะกลับมาเล่นการเมืองอีก ? หรือยังจะกร่างชักใยการเมืองอยู่ต่อไป ? และก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายที่จะปลุกกระแสต่อต้านว่าจะมีกลเม็ดอะไร เพราะหลังคุณทักษิณถูกปลดล็อกกลับมาได้แล้ว กระแสสงสารจะลดน้อยถอยลงอย่างน่าอัศจรรย์ แต่ถ้าคุณทักษิณเลิกเล่นการเมือง คำถามก็คือ ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีให้คุณทักษิณได้อีก ?

ความขัดแย้งนี้จึงยังไม่มีทีท่าจะเป็นตำนานไปได้ และคำถามเดิมเมื่อปีที่แล้ว ที่ยังจะต้องตอบในปีนี้ก็คือ “ใครคือผู้นำที่แท้จริงของมวลชนคนเสื้อแดง ?”


(จากส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ของสํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา [HS1068A] ปีที่สาม)