“หุ้น..ทีวีดิจิทัล” นักลงทุน...ห้ามกะพริบตา !!

“หุ้น..ทีวีดิจิทัล” นักลงทุน...ห้ามกะพริบตา !!

“ทีวีดิจิทัล” คำคำนี้อาจทำให้คุณผู้อ่านที่เป็นนักลงทุนและชอบลงทุนในหุ้นกลุ่มบันเทิงเกิดความเครียดขึ้นได้

ถ้าหากรู้ว่า..บริษัทที่ตนลงทุนอยู่นั้นกำลังจะเข้าไปลงทุนทำ “ทีวีดิจิทัล” ซึ่งไม่รู้ว่าหุ้นของบริษัทที่ตนถืออยู่นั้นจะประสบกับความสำเร็จอย่างสูง หรือจะขาดทุนจำนวนมหาศาลกันแน่? ดังนั้น ผมจึงอยากจะขอพาคุณผู้อ่านไปดูกันว่า ทีวีดิจิทัลจะสร้างรายได้ที่จะดึงดูดผู้บริโภคและนักลงทุนอย่างพวกเราได้มากน้อยเพียงใด ดังนี้ครับ

หนึ่ง บอลโลก และกีฬาระดับโลก ตัวกระชากเรทติ้ง...ทีวีดิจิทัล

ในปี 2557 จะมีการแข่งขันฟุตบอลโลก ซึ่งมีแนวโน้มว่าเกมส์ฟุตบอลครั้งนี้จะเป็นตัวจุดกระแสความนิยมหรือเรทติ้งให้กับทีวีดิจิทัลอย่างยิ่งใหญ่ ทั้งนี้ กสทช.ได้กำหนดให้มีการถ่ายทอดสัญญาณฟรี และคงจะครอบคลุมถึง “ทีวีดิจิทัล” ด้วย เนื่องจากเป็นบริการถ่ายทอดสัญญาณทีวีให้แก่คนทั้งประเทศได้รับชม และที่สำคัญคือ กสทช. เป็นผู้ให้กำเนิดทีวีดิจิทัลด้วยมือของตนเอง ดังนั้น ทีวีดิจิทัลจึงต้องอยู่ในข่ายที่จะได้สิทธิในการแพร่ภาพการแข่งขันกีฬาระดับโลกต่างๆ เช่น ซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ โอลิมปิก รวมไปถึงฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย รวม 7 รายการ

ด้วยรายการกีฬาระดับโลกต่างๆ ที่จะถ่ายทอดผ่านทีวีดิจิทัล ผมจึงคิดว่า แค่ “ฟุตบอลโลก” ตัวเดียว ก็คงจะทำให้ผู้คนรีบไปไข่วคว้าหาซื้อทีวีดิจิทัล หรือกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลกันจ้าละหวั่นแล้ว แต่ปัญหาก็คือ ทีวีดิจิทัลจะมีพลังดึงดูดให้ผู้คนยังรับชมทีวีดิจิทัลต่อไปหรือไม่? หลังจากเกมส์กีฬาที่ยิ่งใหญ่ต่างๆ...ผ่านพ้นไปแล้ว

สอง กลุ่มทุนใดบ้าง?... ที่สนใจจะทำ “ทีวีดิจิทัล”

การออกอากาศด้วยระบบดิจิทัลนั้นมีค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับที่สูงมาก ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่อาจต้องใช้เงินลงทุนหลักพันล้านบาทสำหรับหนึ่งช่องสถานี ซึ่งต่างจากการลงทุนทำช่องทีวีดาวเทียมที่ใช้เงินลงทุนอาจไม่ถึงร้อยล้านบาทเอง

ดังนั้น ในสมรภูมินี้ก็จะมีกลุ่มเก่าคือ ผู้ประกอบการรายเดิมหรือ กลุ่มฟรีทีวีเดิม เช่น ช่อง 3 (BEC) ช่อง 5 (กองทัพบก) ช่อง 7 (BBTV) ช่อง 9 (MCOT) ช่อง 11 (กรมประชาสัมพันธ์) และไทยพีบีเอส ซึ่งจะเข้ามาในสมรภูมินี้อย่างแน่นอน และกลุ่มใหม่ก็คือ กลุ่มผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเนชั่น (NMG) ค่ายแกรมมี่ (GRAMMY) ค่ายอาร์เอส (RS) กลุ่มอินทัช (INTUCH) หรือค่ายเวิร์คพอยท์ (WORK) ต่างก็มุ่งหวังที่อยากจะเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ทีวีดิจิทัลด้วยเช่นกัน

ในสมรภูมิทีวีดิจิทัลนี้ จึงไม่ใช่สนามรบที่ผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่มีเงินลงทุนไม่สูงนัก จะสามารถเข้ามาแข่งขันได้เลย ผู้ประกอบรายเล็กจึงต้องหันไปลงทุนในช่องทีวีดาวเทียมหรือผลิตรายการให้กับทีวีช่องต่างๆ ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือก..ที่จะมีโอกาสอยู่รอดได้มากกว่า

สาม สมรภูมินี้ ใครได้เปรียบ?... ใครเสียเปรียบ?...

ผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินแบบอนาล็อกเดิมคือ ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และไทยพีบีเอส จะได้รับผลกระทบจากจำนวนคู่แข่งที่เพิ่มขึ้นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งจากเดิมที่มีฟรีทีวีเพียง 6 ช่องเท่านั้น ก็จะขยายเพิ่มไปเป็น 48 ช่อง เม็ดเงินโฆษณาทั้งระบบจำนวนมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท จึงต้องถูกกระจายออกไปอย่างแน่นอน

ก่อนหน้านี้ในวงการคาดกันว่า จะมีทีวีดิจิทัลเกิดขึ้นเต็มที่ไม่เกิน 36 ช่อง ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะในซีกของทีวีดาวเทียมเชื่อว่าไม่มีใครสนใจจะลงทุนทำทีวีดิจิทัล เนื่องจากขณะนี้เฉพาะทีวีดาวเทียมก็มีฐานลูกค้าทั่วประเทศอยู่แล้วกว่า 10 ล้านครัวเรือน โดยผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมจะเสียค่าเช่าความถี่จากไทยคมประมาณ 1.2-1.5 ล้านบาท/เดือนเท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องไปลงทุนทำทีวีดิจิทัลอีก

ทั้งนี้ ในช่องธุรกิจที่มี 24 ช่องนั้น กลุ่มที่ได้เปรียบที่สุดจะเป็นช่องฟรีทีวีเดิม เพราะมีโครงข่ายกับระบบออกอากาศหรือสถานีส่งเดิมอยู่แล้วทั่วประเทศ ที่จะสามารถปรับระบบเป็นทีวีดิจิทัลได้เกือบทั้งหมด ดังนั้น ต้นทุนรวมในการลงทุนทำทีวีดิจิทัลจะถูกกว่า

สี่ ทีวีดิจิทัล นวัตกรรมแห่งความได้เปรียบ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ประเมินว่า การเกิดของทีวีดิจิทัล 48 ช่อง จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและแข่งขันในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยลักษณะของการลงทุนจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายใหญ่มากกว่า จากฝั่งฟรีทีวีกลุ่มเดิมที่ต้องการรักษาตลาด และกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีที่ต้องการขยายฐานลูกค้า เพราะเห็นว่า จะมีครัวเรือนที่รับชมทีวีระบบดิจิทัลตามเมืองใหญ่มากถึง 80% และจะทำให้กล่องรับสัญญาณ หรือ Set-top box ที่รองรับระบบนี้เพิ่มขึ้นรวมกันกว่า 7 ล้านเครื่อง

นอกจากนั้น การวัดเรทติ้งโฆษณาจะมีความแม่นยำและเชื่อถือได้มากขึ้น ประกอบกับช่องรายการที่หลากหลายแต่แยกประเภทชัดเจน จะทำให้เจ้าของผลิตภัณฑ์สามารถทุ่มงบโฆษณาได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีเม็ดเงินหลั่งไหลเข้ามาในระบบทีวีดิจิทัลเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมหาศาล เพราะเม็ดเงินที่ใส่เข้าไปนั้นสามารถเข้าไปถึง... “กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย” ได้อย่างแท้จริง

ดังนั้น ทีวีในอนาคตก็จะยิ่งทำให้ผู้คน..ติดกันงอมแงม..จนยากที่จะปฏิเสธได้ ทำให้นึกถึงคำพูดของ จอร์จ ออร์สัน เวลส์ (George Orson Welles) นักแสดงและผู้กำกับการแสดงชาวอเมริกันที่พูดไว้ว่า “I hate television. I hate it as much as peanuts. But I can't stop eating peanuts.” แปลตามความได้ว่า “ผมเกลียดทีวี พอๆ กับที่ผมก็เกลียดถั่วลิสง แต่ผมก็ยังหยุดทาน..ถั่วลิสงไม่ได้อยู่ดี”