พิธีกรรม“รับน้อง”

พิธีกรรม“รับน้อง”

เป็นเช่นเดิมของทุกปีในทุกมหาวิทยาลัย เมื่อเปิดภาคการศึกษาใหม่ก็จะมีพิธีกรรม “รับน้อง” ด้วยระบบโซตัส และก็มักจะมีเสียงบ่น/ก่นด่าจากหลายฝ่าย

ที่สนใจเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง ครูอาจารย์ หรือ สื่อมวลชนหลายแขนง ขณะเดียวกันทางมหาวิทยาลัยก็จะสนองตอบกระแสการก่นด่านี้ด้วยการออกประกาศห้ามรับน้องด้วยความรุนแรง หรือห้ามออกนอกสถานที่ รวมทั้งประกาศว่าจะควบคุมไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิบุคคล แต่ทุกอย่างก็จะเดินไปตามปรกติ

กล่าวได้ว่า ต่อให้มีเสียงการก่นด่า/ต่อต้านจากกลุ่มบุคคลอย่างไร พิธีกรรม “รับน้อง” ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ก็เพราะการ “รับน้อง” เป็นพิธีกรรมที่ดึงเอาแก่นแกนของระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของสังคมไทยมาทำให้เป็นรหัสหมาย (กระบวนการใส่รหัสหมาย : Codification) เพื่อให้นักศึกษาทั้งหมดได้เข้าใจสังคมและจัดวางตัวเองได้ถูกต้องตามความสัมพันธ์ทางสังคมที่อยู่รอบตัวเขา

ดังนั้น หากระบบความสัมพันธ์ทางสังคมไม่เปลี่ยน พิธีกรรม “รับน้อง” ก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไปตราบจนชั่วฟ้าดินสลาย

ตัวอย่างของความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีผลต่อพิธีกรรม "รับน้อง" ได้แก่ ช่วงสั้นๆ ระหว่าง พ.ศ. 2516-2519 เท่านั้น ที่บางส่วนของระบบความสัมพันธ์ทางสังคมถูกกระแทกจนกระทบกระเทือนจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความเสมอภาคของขบวนการนักศึกษา ความเปลี่ยนแปลงในระบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ได้ทำให้พิธีกรรม “รับน้อง” ยุติหรือเสื่อมลงชั่วคราว นักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยเปลี่ยนการรับน้องมาสู่ "การรับเพื่อนใหม่" ที่เน้นความเสมอภาคกันเป็นหลัก

ภายหลังจากการฆาตกรรมหมู่กลางเมือง ตุลาคม พ.ศ. 2519 สังคมไทยได้สวิงกลับมาสู่ระบบความสัมพันธ์ทางสังคมแบบเดิม พร้อมกับเกิดกระบวนการเชิดชูความสัมพันธ์ทางสังคมที่มี “ความเป็นไทย” เป็นฐานเข้มข้นมาก พิธีกรรม “รับน้อง” ก็กลับมาทำหน้าที่อย่างเดิมและต่อมาจนปัจจุบัน

แกนหลักของพิธีกรรม “รับน้อง” ได้แก่ การเน้นความสัมพันธ์ที่เป็นลำดับชั้น และในระบบความสัมพันธ์ที่เป็นชั้นนั้นค้ำประกันด้วย “อำนาจ” เป็นการทำให้ความคิดเรื่อง “ผู้ใหญ่-ผู้น้อย” ในสังคมไทยถูกกลืนเข้าไปข้างใน (Internalization) จิตใจของนักศึกษา ในขณะเดียวกันเพื่อไม่ให้ “อำนาจ” ในลำดับชั้นทางสังคมบาดความรู้สึกของนักศึกษามากนัก ก็จะใช้ระบบอุปถัมภ์มาปลอบประโลมใจในช่วงท้ายๆ ของพิธีกรรม “รับน้อง” เช่น พาน้องไปกินข้าวหรือวันยุติห้องเชียร ก็จะมีพี่มาพูดหรือร้องเพลงที่ซึ้งๆ ว่าทำไปเพราะรักและปรารถนาดี น้องๆ ก็จะซาบซึ้งจนร่ำไห้ไปด้วย (ฮา)

ความคิดเรื่อง “ผู้ใหญ่-ผู้น้อย” ในสังคมไทยเป็นความคิดหลักในการจรรโลงระบบความสัมพันธ์ทางสังคมทุกมิติเอาไว้ ที่สำคัญ ความคิด "ผู้ใหญ่-ผู้น้อย" เป็นความคิดที่มีและใช้ “อำนาจ” เป็นหลักในการกำกับความสัมพันธ์เสมอไม่ว่าจะเป็นอำนาจที่เป็นทางการหรืออำนาจที่ไม่เป็นทางการ เพียงแต่ว่าจะเปิดช่องให้การใช้ “อำนาจ” นั้นดูละมุนหน่อยตรงที่ทำให้ “อำนาจ” นั้นสามารถถูกใช้ไปในด้านการอุปถัมภ์ส่วนบุคคลอยู่บ้าง

ความคิดเรื่อง “ผู้ใหญ่-ผู้น้อย” ที่มีหลักอยู่ที่การใช้อำนาจ แต่ลดทอนความแหลมคมลงบ้างด้วยระบบอุปถัมภ์เฉพาะส่วนเสี้ยว หรือเฉพาะบุคคลเป็นเสาหลักในการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมในสังคมไทย ในหลายกรณี คนกลับมองเห็นเฉพาะด้านของระบบอุปถัมภ์มากกว่าการใช้อำนาจเพราะด้านที่เป็นอุปถัมภ์เป็นส่วนที่ผู้คนชื่นชอบมากกว่าและชนชั้นสูงเองก็นิยมที่จะใช้เป็นการถักสานสายใจความสัมพันธ์ของตนให้กว้างขวางออกไป

ด้วยเหตุที่สังคมไทยเป็นเช่นนี้ ระบบการศึกษาไทยตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงมัธยมปลายจึงเป็นกระบวนการทำให้นักเรียนเป็น “เด็ก” ตลอดกาล ไม่ว่าจะเป็นการจัดหลักสูตรที่ไม่ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ความรู้ขึ้นในกลุ่มนักเรียน หรือแม้กระทั่งความพยายามจะทำตัวเป็นแม่/ป้า ของบรรดาครูผู้หญิงซ่อนการใช้อำนาจเหนือนักเรียนนอกเหนือเหตุผลทางการศึกษา นักเรียนจำนวนหนึ่งก็จะเล่นเกมนี้อย่างเหมาะสม เช่น เข้าสู่ระบบอุปถัมภ์ของครูหรือการประจบครูด้วยการทำงานนอกเหตุผลการเรียน

เมื่อนักเรียนจบการศึกษามัธยมปลายด้วยการยอมอยู่ภายใต้กรอบที่กำกับระบบความรู้สึกนึกคิดที่แบ่งแยกระหว่าง “ผู้ใหญ่-ผู้น้อย” เช่นนี้ ความรู้สึกว่าตนเป็น “ผู้ใหญ่-พี่ใหญ่” ในช่วงที่อยู่มัธยมปีที่ หก ก็จะหดหายไปและกลายมาเป็น “ผู้น้อย-น้องเล็ก-เด็กใหม่” ในสถานการณ์ใหม่อย่างไม่รู้สึกแปลกประหลาดอันใด

ดังนั้น การดำรงอยู่ของพิธีกรรม “รับน้อง” จึงขึ้นอยู่กับการยอมสยบของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มากกว่าพลังจากรุ่นพี่หรือเงื่อนไขทางสังคมอื่นๆ เพราะนักศึกษาปีที่ 1 ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่และไม่เคยคิดเลยว่านักศึกษารุ่นพี่ปีที่สอง สาม สี่ ก็มีศักยภาพเท่าๆ กับตนเอง จึงมอบตัวอยู่ภายใต้พิธีกรรมอย่างยินยอมพร้อมใจและสนุกสนานไปด้วย

ลองนึกถึงนักศึกษาหลังปี พ.ศ. 2516 ดูซิครับ จินตนาการที่มีต่อตนเองในฐานะนักศึกษาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และการเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่มีจินตนาการต่อตนเองว่าเป็นผู้ใหญ่ - คนหนุ่มสาวที่จะนำพาสังคมไปสู่สังคมอุดมคติ ก็ย่อมไม่มีทางที่จะสยบอยู่ภายใต้กรอบคิด “ผู้ใหญ่-ผู้น้อย” อย่างแน่นอน

เราจะหวังว่าเมื่อไรนักเรียนมัธยมปลายจะโตขึ้นเป็น “ผู้ใหญ่” เสียที ก็คงจะหวังเปล่า เพราะในสังคมวันนี้ แม้กลุ่มที่เรียกขานตนเองว่าผู้พิทักษ์รักษาประชาธิปไตย ผู้เรียกร้องหาความเสมอภาค ก็ไม่ได้ยอมรับประชาธิปไตยหรือความเสมอภาคกันจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสีใดก็ตาม

เพราะสังคมเป็นอย่างนี้ พิธีกรรม “รับน้อง” ก็จะยังคงดำรงอยู่ต่อไป