American Dreams in China

American Dreams in China

ณ เวลานี้ภาพยนตร์ที่ขึ้นแท่นทำรายได้เป็นอันดับ 1 ในโรงภาพยนตร์ของประเทศจีนซึ่งมีมากกว่า 13,000 โรงคือภาพยนตร์เรื่อง American Dreams in China

ของผู้กำกับมือทองชาวฮ่องกง ปีเตอร์ชาน (Peter Chan) ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยความฝันพลังของคนรุ่นใหม่และพลังของการแข่งขันในสังคม "เศรษฐกิจตลาดสังคมนิยม" (Socialist Market Economy) ของจีน

ภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของคุณครูที่รวยที่สุดในโลก - หยูหมิ่นหง (Yu MinHong) สะท้อนการต่อสู้และปัญหาชีวิตที่ซับซ้อนของเขาในช่วงวัยรุ่น ฉากหลังเป็นประเทศจีนที่เพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นาน (ราวยี่สิบกว่าปีก่อน) เงื่อนปมที่ผลักดันให้อาจารย์หนุ่มคนหนึ่งก่อตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ ที่ต่อมามีสาขามากที่สุดในจีน และกลายเป็นมหาเศรษฐีระดับโลก

หยูหมิ่นหง เป็นลูกชาวนาที่อยากเรียนหนังสือและเห็นโอกาสเมื่อเติ้งเสี่ยวผิงเปิดให้มีระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย พร้อมๆ กับการเปิดและปฏิรูปเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 80 แต่เขากลับพลาดหวังจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยติดต่อกันสองปี เพราะเลือกอันดับและสาขาผิดพลาด เขากัดฟันสู้ครั้งที่ 3 ท่องพจนานุกรมภาษาอังกฤษเล่มเดียวที่มีอยู่ตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้ายและสอบติดภาควิชาภาษาอังกฤษที่ ม.ปักกิ่ง

ความฝันของหนุ่มสาวจีนในยุคที่เพิ่งเปิดประเทศก็คือไปเรียนต่อและตั้งตัวที่อเมริกาด้วยการต่อสู้ฝ่าฟันหลังเรียนจบปริญญาตรี เขาก็ได้รับการตอบรับให้เรียนต่อโทจากมหาวิทยาลัยในอเมริกาเช่นเดียวกับวัยรุ่นในยุคนั้นอีกหลายพันคน แต่สถานทูตกลับไม่ยอมอนุมัติวีซ่าให้ (เช่นเดียวกับวัยรุ่นโชคร้ายอีกจำนวนมากเพราะโควตาวีซ่าที่ให้นักเรียนจีนมีจำกัด) สุดท้ายเขาจึงต้องผันตัวเองมาเป็นติวเตอร์ช่วยอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่ ม.ปักกิ่ง

ทำได้ไม่นานถูกจับได้ว่าสอนพิเศษนอกมหาวิทยาลัยซึ่งขัดกับกฎระเบียบ จึงถูกไล่ออกจนต้องหันมาสอนพิเศษเต็มตัว เมื่อความฝันอเมริกันของตนแตกสลายเขาจึงอุทิศทั้งตัวและหัวใจเพื่อสร้างความฝันให้วัยรุ่นคนอื่นๆ ที่มีความพร้อมทุกอย่างที่จะไปเรียนต่อที่อเมริกาขาดแต่ความพร้อมเรื่องภาษาอังกฤษ เขารับติวข้อสอบโทเฟลให้นักเรียนจีน... นักเรียนจากสิบคนเป็นร้อยคนจากร้อยคนเป็นพันคนเป็นหมื่นคนเป็นแสนคนในที่สุด

ความฝันอเมริกันของเขา - ความฝันที่เป็นจริงได้จากการผสมผสานระหว่างหยาดเหงื่อและโชคไม่ได้เกิดขึ้นที่ดินแดนแห่งโอกาสที่ชื่ออเมริกาแต่เกิดขึ้น ณ ยุคสมัยหนึ่ง ในดินแดนแห่งโอกาสที่มีชื่อว่าประเทศจีนเช่นเดียวกับเรื่องราวของมหาเศรษฐีจีนจำนวนมาก เขาเลือกทำธุรกิจ และเลือกทำถูกธุรกิจ ถูกเวลาและถูกสถานที่ ธุรกิจที่ยังไม่มีใครทำและที่ตลาดต้องการ - เรื่องราวของเขาน่าอัศจรรย์กว่าคนอื่นตรงที่ธุรกิจของเขาเป็นการสร้างความฝันให้กับวัยรุ่นเรือนแสนความฝันที่เขาเองเคยคว้าน้ำเหลวมาก่อนเช่นกัน

ภาพยนตร์ฉายภาพต่อไปถึงตอนที่เขาประสบความสำเร็จแล้วแต่กลับเสี่ยงที่จะสูญเสียทุกอย่างไปเมื่อถูกบริษัทตำราฝรั่งฟ้องว่าละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือและเรียกค่าเสียหายเป็นหลักพันล้านนับเป็นฉากที่เต็มไปด้วยสีสัน ทั้งในภาพยนตร์และในชีวิตจริงเขาอาศัยการเจรจาอย่างมีชั้นเชิงพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสกลับกลายมาเป็นบริษัทที่ได้รับสิทธิขาดในการเป็นตัวแทนจำหน่ายตำราเหล่านั้นแต่เพียงผู้เดียวในประเทศจีน

ปัจจุบันโรงเรียน New Oriental ของเขาเป็นบริษัทจีนไม่กี่บริษัทที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กมีนักเรียน 10.5 ล้านคนสาขา 465 แห่งเด็กจีนมากกว่า 70 % ที่ไปเรียนต่อเมืองนอกเคย "ติว" ภาษาอังกฤษที่นี่

ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องราวของมิตรภาพระหว่างเขากับเพื่อนร่วมรุ่นที่ ม.ปักกิ่ง อีก 2 คนทั้งกลุ่มสุดท้ายมีเพียงคนเดียวที่ได้ไปเรียนต่อ และแต่ละคนพบอุปสรรคขวากหนามคนละแบบ แต่เส้นทางของทั้งสามคนก็มาบรรจบกันในที่สุดและกลายมาเป็นหุ้นส่วนในช่วงแรกๆ ที่หยูหมิ่นหงสร้างโรงเรียน

“American Dreams in China” สะท้อนชะตาชีวิตของคนคนหนึ่ง สอนเราว่าชีวิตอาจพบกับความล้มเหลวได้เสมอแต่ก็พร้อมจะพลิกผันเสมอ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเขาสอบเข้ามหาวิทยาลัยติดตั้งแต่สองครั้งแรก ถ้าเขาได้ไปเรียนต่อ ถ้าเขายังได้สอนในมหาวิทยาลัย ถ้าเขาสู้คดีความเต็มที่แบบหัวชนฝา ??? สำหรับหยูหมิ่นหงความล้มเหลวและอุปสรรคแต่ละครั้ง กลับกลายมาเป็นต้นเหตุของความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในภายหลัง

ที่สำคัญกว่านั้น “American Dreams in China” ยังสะท้อนชะตาของประเทศล้าหลังประเทศหนึ่งที่เพิ่งเปิดตัวเองเชื่อมกับโลกภายนอกจนเกิดเป็นยุคทองแห่งความฝัน เรื่องราวของหยูหมิ่นหงอีกนัยหนึ่งจึงเป็นตัวแทนของเรื่องราวของประเทศจีน ซึ่งพลังของคนรุ่นใหม่และพลังของการแข่งขันของคนเรือนล้าน ก่อร่างเป็น “ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ” ที่ต่อเนื่องยาวนานตราบจนทุกวันนี้

พลังของคนรุ่นใหม่ที่มีความฝันและพร้อมดิ้นรนเพื่อสร้างความฝันของตัวเองให้เป็นจริงในสภาพแวดล้อมที่โอกาสต่างๆ เปิดให้กับเขาอย่างไม่เคยมีมาก่อน

พลังของการแข่งขันด้วยปริมาณประชากรมหาศาลการแข่งขันจึงเข้มข้นและรุนแรง สำหรับเด็กจีนการเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำต้องอาศัยความทุ่มเททั้งชีวิตวัยเด็ก การไปเรียนเมืองนอกต้องอาศัยความทุ่มเททั้งชีวิตวัยเรียน การทำธุรกิจต้องอาศัยความทุ่มเททั้งชีวิตวัยทำงาน แรงกดดันอันมหาศาลทำให้เราเห็นภาพของคำว่า "ปากกัดตีนถีบ" ของจริง

ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องตั้งแต่เปิดประเทศ มีเรื่องราวของคนรุ่นใหม่ชาวจีนหลายล้านคนที่ต่อสู้แข่งขันเพื่อไปสู่ความฝันที่จะยกระดับเป็นชนชั้นกลางแบบอเมริกัน - ไม่ว่าจะในอเมริกาหรือในจีน - เป็นเรื่องราวที่มีความขัดแย้งหลายอย่างพวกเขารู้ทั้งรู้ว่าโลกไม่ยุติธรรม ชีวิตไม่ยุติธรรม แต่ก็มีศรัทธาว่าวันพรุ่งนี้จะดีกว่าวันนี้ ดังข้อความหนึ่งในสมุดโน๊ตของโรงเรียน New Oriental ที่ว่า

"เราจะกัดฟันเรียนโทเฟลเพราะการสอบโทเฟลเป็นเส้นทางเดียวที่จะพาเราไปสู่ความฝันของเราแน่นอนมันโคตรไม่ยุติธรรมแต่เราจะเรียนและเราจะสู้และเราจะร่วมกันสร้างความฝันของพวกเราให้เป็นจริงเพื่อวันหนึ่งลูกหลานของเราจะไม่ต้องเรียนโทเฟลอีกแล้วเหมือนรุ่นพ่อมัน"

สปิริตเช่นนี้เองคือ "American Dreamsin China" ขัดแย้งแต่งดงามเป็นฝันที่พลิกชะตาชีวิตของหยูหมิ่นหงและเพื่อน - และคลื่นหนุ่มสาวอีกหลายล้านคนของประเทศจีน