ผู้นำ/คนสำคัญของไทยในบริบทของโลก

ผู้นำ/คนสำคัญของไทยในบริบทของโลก

หนังสือ “สารานุกรมผู้นำและคนสำคัญของโลก” ที่ผมเขียนให้สำนักพิมพ์แสงดาวพิมพ์ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้

เป็นหนังสือรวมประวัติย่อและคำคมของผู้นำด้านต่างๆ ของโลก 500 กว่าคน จากทุกยุคและทุกทวีป ในจำนวนนี้ผมคัดเลือกคนไทยมา 5 คน จากยุคศตวรรษที่ 19-20 ซึ่งประเทศไทย เริ่มมีบทบาทสำคัญเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจการเมืองของโลกเพิ่มขึ้น

หนังสือเล่มนี้เรียงลำดับชื่อและประวัติคนสำคัญตามปีเกิด ทำให้ผู้อ่านเห็นว่าใครร่วมสมัยกับใครในโลกนี้อย่างน่าสนใจ ในสมัยก่อนนั้น ประเทศต่างๆ มีลำดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน และแม้แต่คนระดับผู้นำก็ต่างคนต่างอยู่มากกว่าจะติดต่อสื่อสารถึงกันและกันได้สะดวกรวดเร็วเหมือนยุคปัจจุบัน

เทียนวรรณ (ค.ศ. 1822-1915) คือนักเขียนนักหนังสือพิมพ์และทนายความ ผู้เขียนบทความเรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่ในยุคราชาธิปไตย (รัชกาลที่ 4-5) เขาเรียนรู้จากการอ่าน และประสบการณ์การทำงานในเรือสินค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งศึกษากฎหมายด้วยตนเอง เป็นทนายความช่วยคนจน และถูกจับกุมหลังจากเขียนฎีกาให้ราษฎรคนหนึ่ง ติดคุกถึง 17 ปี เขียนหนังสือวิจารณ์ลัทธิล่าเมืองขึ้นของฝรั่งและเสนอให้เปลี่ยนขนบธรรมเนียมบ้านเมืองและอื่นๆ เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมให้ทันสมัย เป็นปัญญาชนไทยหัวก้าวหน้าคนแรกๆ ที่มีส่วนทำให้คนไทยยุคนั้นและต่อมาได้ตื่นตัว ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อมาในปี พ.ศ. 2475

บุคคลสำคัญร่วมสมัยกับเทียนวรรณ คือ ฟรีดริช เองเกลส์ (1820-1895) นักปรัชญาสังคมการเมืองแนวสังคมนิยมชาวเยอรมัน กัลยาณมิตรของคาร์ล มาร์กซ์ (1818-1883) นักปรัชญาและเศรษฐศาสตร์การเมืองผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อโลกในรอบ 200 ปีที่แล้วสูงมาก หลุยส์ ปาสเตอร์ (1822-1895) นักเคมีและนักจุลชีววิทยา ชาวฝรั่งเศส ผู้ค้นพบบทบาทของจุลินทรีย์ และแนะนำวิธีฆ่าเชื้อโรคในอาหารและเครื่องมือทางการแพทย์ การใช้ความร้อน ซึ่งช่วยชีวิตคนไข้ได้มาก เฮนรี่ ดูนังท์ (1828-1910) ผู้เริ่มกิจกรรมช่วยเหลือคนเจ็บในสงคราม ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการกาชาดสากล ลีโอ ตอลสตอย (1828-1910) นักคิดนักเขียนนวนิยายแนวสมจริงชาวรัสเซีย

บุคคลรุ่นหลังมาหน่อย คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ค.ศ.1853-1910) พระมหากษัตริย์นักปฏิรูปกฎหมายและการปกครองประเทศสยามให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก เป็นบุคคลร่วมสมัยกับจักรพรรดิมัตซูฮิโต หรือจักรพรรดิเมจิ (ค.ศ.1852-1912) ของญี่ปุ่น ผู้โค่นล้มขุนนางโชกุนและปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมให้ทันสมัยแบบตะวันตกอย่างขนานใหญ่ คนสำคัญร่วมสมัยคนอื่นมีเช่น แวงซองต์ ฟานก๊อก (หรือแวนโกะ) (1853-1890) จิตรกรชาวดัชท์ แนวโพสต์อิมเพรสชั่นนิสม์ ที่เขียนภาพคนทำงานและธรรมชาติได้อย่างงดงามมีพลังมาก โจฮาน คาร์ล เคาท์สกี้ (1854-1938) นักทฤษฎีสังคมนิยมชาวเยอรมัน อัลฟอง เดสจาร์แดง (1854-1920) ชาวแคนนาดาผู้ก่อตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เป็นต้นกำเนิดของเครดิตยูเนียนและธนาคารชุมชนในแคนาดาและสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันยังต้านทานวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยได้ดีกว่าธนาคารพาณิชย์ในระบบทุนนิยมโลก

ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (1856-1939) จิตแพทย์และนักประสาทวิทยาชาวออสเตรียผู้พัฒนาวิชาจิตวิเคราะห์ วูดโรว์ วิลสัน (1856-1924) ประธานาธิบดีสหรัฐช่วงปี 1913-1921 เป็นนักปฏิรูปหัวก้าวหน้า ผู้สนับสนุนการก่อตั้งองค์การสันนิบาตนานาชาติ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นองค์กรสหประชาชาติ คลาร่า เซตคิน (1857-1933) นักสังคมนิยมสตรีชาวเยอรมัน เอ็มมาลีน แพงค์เฮริสท์ (1858-1928) นักสิทธิสตรีชาวอังกฤษ ผู้รณรงค์เรียกร้องให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งเท่าผู้ชาย ซึ่งในยุคนั้นต้องต่อสู้กันมากทีเดียว

ในศตวรรษที่ 20 ปรีดี พนมยงค์ (ค.ศ.1900-1983) คือรัฐบุรุษของไทยผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ในปี พ.ศ.2475 (ค.ศ.1932)

คนสำคัญที่ร่วมสมัยกับปรีดี พนมยงค์ เช่น อิริค ฟรอมม์ (1900-1980) นักจิตวิเคราะห์ชาวเยอรมัน ผู้พยายามเสนอทางเลือกใหม่จากวิถีชีวิตแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม อยาตุลเลาะห์ รูฮุลเลาะห์ โคไมนี (1900-1989) ผู้นำทางการเมืองและศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ของอิหร่าน ผู้มีบทบาททางความคิด จนประชาชนก่อการปฏิวัติโค่นล้มพระเจ้าชาห์ ในปี ค.ศ. 1979 อิกนาซิโอ ซิโลเน่ (1900-1978) นักเขียนนวนิยายและนักเคลื่อนไหวการเมืองแนวสังคมนิยมชาวอิตาลี ผู้เขียนเรื่องฟอนตามาร่า น้ำพุแห่งความขมขื่น เรื่องของชาวนาที่ถูกหลอกถูกเอาเปรียบโดยนายทุนในยุคฟาสซิสม์ที่ผมเคยแปลและพิมพ์ไปเมื่อหลายปีมาแล้ว

ซูการ์โน (1901-1970) นักต่อสู้เพื่อเอกราชและประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย (1949-1969) พาโบล เนรูด้า (1904-1973) กวีหัวก้าวหน้าชาวชิลี ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม โรเบิร์ต ออพเปนไฮเมอร์ (1904-1967) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาระเบิดปรมาณูให้สหรัฐ ภายหลังสงครามออกมาคัดค้านการพัฒนาระเบิดไฮโดรเจน

คนสำคัญร่วมสมัยของไทย 2 คน คือ ศรีบูรพา หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ (1905-1974) นักเขียนนักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้า ผู้มีบทบาทเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคมไทยอย่างมาก และพุทธทาสภิกขุ (1906-1993) พระสงฆ์และปัญญาชนผู้เผยแพร่พุทธศาสนาในฐานะเป็นศาสนาแห่งความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน การแสวงหาความจริงสูงสุด งานเขียนทั้ง 2 ท่าน รวมทั้งของปรีดี พนมยงค์ ยังเป็นงานที่ให้ความคิดแก่คนรุ่นปัจจุบันอยู่

คนสำคัญร่วมสมัยในประเทศอื่นมีเช่น ยัง ปอล ซาร์ตร์ (1905-1980) นักเขียนและนักปรัชญาแนวเสรีนิยมก้าวหน้าชาวฝรั่งเศส เลโอโปลด์ เซดาร์ เซงงอร์ (1906-2001) กวีและนักการเมืองแนวสังคมนิยมสายกลางชาวเซเนกาล ทวีปแอฟริกา ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเซเนกาลคนแรก หลังจากเซเนกาลได้รับเอกราช 1960-1980 ราเชล คาร์สัน (1907-1964) นักวิทยาศาสตร์สตรีชาวอเมริกัน ผู้บุกเบิกให้ประชาชนเห็นอันตรายของการใช้ยาปราบศัตรูพืชดีดีทีและสารเคมีอื่นๆ ผู้นำทางความคิดในเรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศ

ซัลวาดอร์ อัลเลนเด้ (1908-1973) ประธานาธิบดีชิลีจากพรรคสังคมนิยมช่วงปี 1970-1973 ถูกหน่วยราชการลับซีไอเอของสหรัฐแอบหนุนนายพวกทหารทำรัฐประหารยึดอำนาจและเขาเสียชีวิตในการต่อสู้ในปี 1973 ปีเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในไทย (1908-1980), ซิโมน เดอ เบอวัวร์ อาจารย์สอนปรัชญา นักเขียนและนักเรียกร้องสิทธิสตรีชาวฝรั่งเศส ผู้เขียนคำคมว่า “ผู้หญิงไม่ได้เกิดมาเป็นผู้หญิง แต่ถูกสังคมทำให้เป็นผู้หญิง”

ผู้นำเหล่านี้ถึงจะเป็นคนที่โดดเด่นกว่าคนอื่นๆ แต่พวกเขาและเธอแต่ละคนต่างก็เป็นผลผลิตของสังคมและแสดงบทบาทได้ด้วยการหนุนช่วยของประชาชนคนอื่นๆ ในบริบทของประเทศของเขา นอกจากการศึกษาผู้นำแต่ละคนแล้ว เราน่าศึกษาประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศด้วย เช่น น่าสนใจว่าทำไมญี่ปุ่นซึ่งเริ่มยุคพัฒนาประเทศให้ทันสมัยแบบตะวันตกโดยพระมหากษัตริย์ในยุคเดียวกับไทย ปฏิรูปประเทศของเขาอย่างไร จึงพัฒนาไปได้ไกลกว่าไทยมาก ทำไมบทบาทของปรีดี พนมยงค์ ศรีบูรพา จึงถูกจำกัด เมื่อเทียบกับปัญญาชนหัวก้าวหน้าในประเทศอื่นๆ